กสิณ คือ วงกลมทำด้วยวัตถุต่างๆ ขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว สำหรับเป็นเครื่องเพ่งทำจิตใจให้สงบ มี ๑๐ ประการ คือ
๑. ปฐวีกสิณ วงกลมทำด้วยดินบริสุทธิ์สีอรุณ คือ สีเหลืองปนแดง เช่น สีหม้อใหม่
วิธีทำ : เอาดินบริสุทธิ์สีอรุณมาขยำให้เหนียวดีแล้ว ลาดลงบนแผ่นกระดานวงกลม ขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว ขัดให้เกลี้ยงงาม ปราศจากมลทิน เช่น เส้นหญ้า เป็นต้น ทำให้เกลี้ยงเกลา เป็นเงาได้ยิ่งดี
๒. อาโปกสิณ วงกลมทำด้วยน้ำใสบริสุทธิ์ ปราศจากสีและตะกอน
วิธีทำ : เอาน้ำบริสุทธิ์ใส่ภาชนะที่มีขอบปากกว้างกลมมน วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ ๔ นิ้ว ใส่น้ำเต็มขอบปาก
๓. เตโชกสิณ วงกลมทำด้วยไฟ
วิธีทำ : ก่อไฟด้วยฟืนไม้แก่น ให้ลุกโชนเป็นเปลวสีเหลืองเหลืองแก่ และเอาแผ่นหนังหรือเสื่อลำแพนมาเจาะรูเป็นวงกลม กว้างขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔นิ้ว ตั้งบังกองไฟให้มองเห็นได้โดยช่องวงกลมเท่านั้น
๔. วาโยกสิณ เพ่งลมที่พัดสัมผัสอวัยวะ หรือพัดยอดไม้ยอดหญ้าให้หวั่นไหว กสิณนี้ทำเป็นวงกลมหรือดวงกลมไม่ได้ ท่านจึงแนะให้เพ่งลมที่พัดอยู่โดยธรรมชาติของมันนั้นเป็นอารมณ์จนมองเห็นกลุ่มลมหรือสายลมที่พัดไปมานั้นติดตา หลับตามองเห็น ท่านห้ามเพ่งลมที่พัดปั่นป่วน เช่น ลมหัวด้วน เป็นต้น
๕. นีลกสิณ วงกลมทำด้วยสีเขียว
วิธีทำ : เอาสิ่งที่มีสีเขียวบริสุทธิ์ เช่น ดอกบัวเขียว หรือผ้าเขียว ฯลฯ มาทำ ถ้าเป็นดอกไม้พึงบรรจุลงในภาชนะที่มีขอบปากกลม วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ ๔ นิ้ว ให้เต็มขอบปาก อย่าให้ก้านหรือเกสรปรากฏ ให้แลเห็นแต่กลีบสีเขียว ถ้าเป็นผ้าพึงขึงกับไม้วงกลมขนาดนั้นให้ตึงดี อย่าให้ยู่ยี่ ถ้าได้ผ้าเนื้อละเอียดเป็นเหมาะดี สีเขียวนี้หมายเขียวคราม ที่เรียกว่านิลนั่นเอง
๖. ปีตกสิณ วงกลมทำด้วยสีเหลือง
วิธีทำ : เอาสิ่งที่มีสีเหลืองบริสุทธิ์ เช่น ดอกกรรณิการ์เหลือง หรือผ้าสีเหลือง เป็นต้น มาทำโดยทำนองเดียวกับนีลกสิณ สีเหลืองนี้หมายถึง สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองนวลสีเขียวใบไม้หรือมรกต เป็นสีที่ใกล้กับสีเหลืองอ่อน ท่านว่าอนุโลมเข้ากับกสิณนี้ได้
๗. โลหิตกสิณ วงกลมทำด้วยสีแดง
วิธีทำ : เอาสิ่งที่มีสีแดง เช่น ดอกบัวแดง ผ้าแดง ฯลฯ มาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ
๘. โอทาตกสิณ วงกลมทำด้วยสีขาว
วิธีทำ : เอาสิ่งที่ขาวสะอาด เช่น ดอกบัวขาว ผ้าขาวฯลฯ มาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ
๙. อากาสกสิณ วงกลมอากาศ
วิธีทำ : เจาะฝาเป็นรูปกลม วัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว หรือเจาะเสื่อลำแพนขนาดเดียวกันนั้นก็ได้ เพ่งดูอากาศภายในช่องวงกลมนั้น หรือจะขดไม้เป็นวงกลมขนาดนั้น ตั้งไว้บนปลายหลักในที่แจ้ง แล้วเพ่งดูอากาศภายในวงกลมนั้นก็ได้
๑๐. อาโลกกสิณ วงกลมแสงสว่าง
วิธีทำ : เจาะก้นหม้อเป็นรูกลม วัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว ตามตะเกียงหรือเทียนไขไว้ภายในหม้อ ให้แสงสว่างส่องออกมาตามรูที่เจาะไว้ และหันทางแสงสว่างนั้นให้ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพง แล้วเพ่งดูแสงสว่างที่ส่องเป็นลำออกไปจากรูที่ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพงนั้น
อาโลกกสิณนี้ ปรากฏในสมถกรรมฐาน ตามที่พระโบราณาจารย์ประมวลไว้ แต่ที่ปรากฏในพระบาลี ในพระไตรปิฎกหลายแห่งแทนที่ ข้อนี้เป็น วิญญาณกสิณ คือ เพ่งวิญญาณ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะกสิณ ๑-๘ เป็นรูปกสิณ ส่วนกสิณ ๙-๑๐ เป็นอรูปกสิณ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์ของอรูปฌานคือ อากาสานัญจายตนะ และ วิญญาณัญจายตนะ ตามลำดับกัน แสงสว่างน่าจะใกล้ต่อเตโช หรือมิฉะนั้นก็ใกล้ต่อวิญญาณ ซึ่งมีลักษณะสว่างเช่นเดียวกัน
เมื่อเพ่งลักษณะสว่างแล้วน่าจะใกล้ต่อวิญญาณมากกว่า ถ้าเป็นวิญญาณกสิณจะทำวงกลมด้วยวัตถุไม่ได้ ต้องกำหนดดวงขึ้นในใจที่เดียว ให้เป็นดวงกลมขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว
อาโลกะและวิญญาณมีลักษณะใกล้กันมาก และอำนวยผลแก่ผู้เพ่งทำนองเดียวกัน คือ นำทางแห่งทิพยจักษุอย่างดีวิเศษ ผิดกันแต่ลักษณะการเพ่งเท่านั้น คือ วิญญาณกสิณต้องเพ่งข้างในไม่ใช่เพ่งข้างนอกเหมือนอาโลกกสิณ และอำนวยตาทิพย์ดีกว่า วิเศษกว่าอาโลกกสิณ
• วิธีปฏิบัติ
พึงชำระตนให้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ไปสู่ที่เงียบสงัด ปัดกวาดบริเวณให้สะอาด ตั้งตั่งสูงคืบ ๔ นิ้ว สำหรับนั่งอันหนึ่ง สำหรับวางวงกสิณอันหนึ่ง นั่งห่างจากวงกสิณประมาณ ๕ ศอก นั่งในท่าที่สบาย วางหน้าให้ตรง ทอดตาลงแลดูดวงกสิณพอสมควรแล้วหลับตานึกดู ถ้ายังจำไม่ได้พึงลืมตาขึ้นดูใหม่ แล้วหลับตานึกดู โดยทำนองนี้ จนกว่าจะเห็นวงกสิณในเวลาหลับตาได้
เมื่อได้แล้วพึงไปนั่งเพ่งดวงกสิณในที่อยู่ให้ชำนาญ จนสามารถทำการขยายดวงกสิณให้ใหญ่ และย่นให้เล็กได้ตามต้องการ เพียงเท่านี้ชื่อว่าสำเร็จกสิณแล้ว จิตใจจะสงบเป็นสมาธิตามลำดับ คือ ชั่วขณะ เฉียดฌาน และเป็นฌาน ๑-๒-๓-๔ ตามลำดับไป
ในการเลื่อนชั้นของฌานนั้นต้องค่อยๆเลื่อนไป อย่าด่วนก้าวหน้าในเมื่อฌานที่ได้แล้วตนยังไม่ชำนาญในการเข้าออก การยั้งอยู่ การนึกอารมณ์ของฌาน และการพิจารณาองค์ของฌาน จะพลาดพลั้งแล้วจะเสียผลทั้งข้างหน้าข้างหลัง
ส่วนวาโยกสิณ เป็นกสิณที่ทำวงกลมไม่ได้ และยกไปมาไม่ได้ ท่านแนะว่า พึงแลดูลมที่พัดไปมาโดยปกตินั้น แล้วจดจำลักษณะอาการเอาไว้ แล้วไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติตนโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว นั่งนึกถึงอาการลมพัด จนอาการนั้นปรากฏชัดแก่ใจ ชื่อว่าได้กสิณข้อนี้แล้ว ต่อไปก็พึงปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาแล้ว
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือทิพยอำนาจ)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น)