xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : อาวุธกันผี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครั้งหนึ่งได้มีภิกษุหมู่หนึ่งหนีภัยชนิดหนึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ประทานอาวุธให้นำไปสู้ภัยนั้น พวกภิกษุได้นำอาวุธนั้นไปใช้สู้ภัยที่เคยแพ้มา ก็ได้ชัยชนะ

ภัยร้ายที่พวกภิกษุพากันพ่ายแพ้หนีมานั้นคือ เมื่อออกไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า ได้เห็นผีมาหลอกหลอนแสดงอาการต่างๆที่น่าสะพรึงกลัว ต้องพากันล่าถอยไปหาที่พึ่ง คือ พระพุทธเจ้า

อาวุธที่พระองค์ได้ประทานให้ไปต่อสู้กันใหม่นั้นก็คือ ธรรม ๑๖ ข้อ ได้แก่
๑. สกฺโก องอาจ
๒. อุชุ ซื่อตรง
๓. สุ หุ ชุ ซื่อสัตย์
๔. สุวโจ ว่าง่าย(ในธรรม)
๕. มุทุ อ่อนโยน
๖. อนติมานี ไม่ดูหมิ่นใคร
๗. สนฺตุสฺสโก สันโดษ อิ่ม พอ
๘. สุภโร เลี้ยงง่าย
๙. อปฺปกิจฺโจ มีกังวลน้อย
๑๑. สนฺตินฺทริโย มีอินทรีย์สงบ
๑๓. อปฺปคพฺโภ ไม่คะนอง
๑๕. น จ ขุทฺทํ สมาจเร กิญฺจิ เยน วิญฺญู ปเร อุปวเทยฺยํ ไม่ประพฤติอะไรที่เป็นเหตุให้ท่านผู้รู้ติเตียนแม้เพียงเล็กน้อย
๑๖. สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ(แผ่เมตตา) ขอให้สรรพสัตว์มีความสุขเกษม

อาวุธคือธรรม ๑๖ ข้อนี้ มีในต้นกรณียเมตตสูตรที่สวดเป็นพระปริตร(เครื่องป้องกัน) ในงานมงคลทั้งหลาย มีคนจำสวดได้กันมาก นับถือว่าเป็นเครื่องระงับภัยดังกล่าวข้างต้น

แต่ถ้าเข้าใจว่า เพียงแต่ท่องจำไปสวดได้ก็ใช้ได้แล้ว ก็ยังเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูก จะเป็นพวกลัทธิมันตรยานไปเสียเต็มที่ คือ เพียงแต่ท่องเป็นมนตร์สำหรับปัดเป่าเท่านั้น

พระพุทธเจ้าประทานอาวุธนี้ เพื่อให้นำไปปฏิบัติอบรมจิตใจ ให้มีความองอาจกล้าหาญ เป็นต้น คือเป็นอาวุธใจที่จะต้องผูกสอดไว้ในใจ เช่นเดียวกับอาวุธทางกาย ซึ่งผูกสอดหรือถือไว้ จะมีขึ้นในใจก็ต้องปฏิบัติอบรม

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจว่า ใช้ได้สำหรับพระ เพื่อกันผีหลอก ตามที่เล่าในเรื่องธรรมบทเท่านั้น ก็เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกอีกเหมือนกัน เพราะธรรมาวุธหมวดนี้เป็นอาวุธของใจ ใครมีใจก็ใช้ได้ทั้งนั้น สำหรับป้องกันแก้ไขภัยอันตรายทางใจได้ทุกอย่าง

สำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ แม้ส่วนใหญ่ของการงานจะเป็นไปทางกาย หรือเพื่อทำนุบำรุงกาย แต่ก็มีปัญหาทางจิตใจเกี่ยวข้องอยู่ด้วยไม่น้อย และจะต้องเผชิญอุปสรรคภัยอันตรายต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งกระทบกระเทือนถึงจิตใจ

ถ้าจิตใจมีธรรมเหล่านี้ ก็จะเข้มแข็งมั่นคง สามารถนำชีวิตและการงานให้ดำเนินไปได้โดยเกษมสวัสดี มีความสุข

อายุของชีวิตและอายุของการงานที่ผ่านไปโดยลำดับขวบปี แม้จะผ่านไปในทางภายนอก ที่ดูเหมือนน่ากลัวตามธรรมชาติของวิถีโลก แต่ก็ไม่น่ากลัว เพราะทางภายในที่เป็นทางหลักนั้น ราบรื่นปลอดโปร่ง ทางภายนอกที่น่ากลัว จึงเป็นเหมือนอย่างสิ่งที่หลอกเท่านั้น เมื่อมีสิริหรือศรี คือ มิ่งขวัญดีอยู่กับตัวแล้ว ก็จะไม่เป็นภัยอะไรขึ้นได้

ธรรมาวุธ ๑๖ ข้อนี้เป็นศรีของใจ ที่เป็นเครื่องนำชีวิตและการงานให้ผ่านพ้นภัยอันตราย บรรลุความสวัสดีพัฒนะสถาวร จึงเป็นศรีโสฬสพร

(จากหนังสือส่องโลก ส่องธรรม)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น