xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : ต้นแบบจากยาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกสาว : แม่กินข้าวตูมั้ยคะ ฝีมือยายอร่อยนะคะ

แม่ : สงสัยยายเสกคาถาถึงได้กินเอากินเอา ทุกทีไม่เห็นสนขนมไทยๆนี่นา

ลูกสาว : (เคี้ยวอย่างอร่อย) ยายเก่งนะแม่ ของเหลือยายไม่เคยทิ้ง เอามาทำนู่นทำนี่แป๊บเดียวก็ได้ของอร่อยมากิน ตอนยายเอาข้าวเย็นที่เหลือมาตากแดด หนูก็งงว่ายายทำอะไร ทำไมไม่ทิ้ง ยายเอามาทำข้าวตูนี่เอง อร๊อยอร่อย

แม่ : มะพร้าวลูกนึงยายใช้คุ้มตั้งแต่เปลือกจนถึงกากมะพร้าวเลยใช่ไหม?

ลูกสาว : ค่ะ ยายใช้ทุกอย่างคุ้มค่าจริงๆ ไม่มีทิ้งเป็นขยะเลยค่ะ อยู่กับยายหนูรู้อะไรเพิ่มขึ้นตั้งหลายอย่าง แม่ดูนี่หนูมีตังค์กลับบ้านด้วยนะ

แม่ : ยายให้เหรอลูก?

ลูกสาว : หนูช่วยยายเก็บผักผลไม้ในสวนไปขายที่ตลาด ยายก็เลยแบ่งตังค์ค่าขนมให้หนูมา

แม่ : นี่ได้เป็นแม่ค้าด้วยหรือเรา?

ลูกสาว : ยายสอนให้ขายของ สนุกดีค่ะแม่ คนซื้อเขาก็ชมว่าหนูขายเก่ง

แม่ : ปิดเทอมหน้าจะไปบ้านยายอีกไหม?

ลูกสาว : หนูนัดกับยายไว้แล้วค่ะ ยายจะสอนหนูพายเรือแล้วก็ว่ายตีโป่ง น่าสนุกนะแม่

หมอเหมียวชวนคุย

แบบอย่างการใช้ชีวิตพอเพียง ของปู่ย่าตายายที่ถ่ายทอดให้ลูกหลานด้วยความรัก เป็นความรู้ที่มีคุณค่าและปลูกฝังความคิดให้เด็กอย่างลึกซึ้ง เพราะเด็กจะซึมซับผ่านการเฝ้าดู ลองหัดทำ และเห็นผลสำเร็จในความอดทน รู้สึกภาคภูมิใจในครอบครัวและนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเมื่อโตขึ้นค่ะ

หนึ่งคำข้าวตูเรียนรู้อะไร?

ข้าวตูหนึ่งคำ หากเสียเงินไปซื้อมาทาน นอกจากความอร่อย (หากเจ้านั้นมีฝีมือ) ก็คงไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม แต่....ข้าวตูหนึ่งคำจากฝีมือของยายที่เด็กหญิงไปเรียนรู้มาช่วงหยุดปิดเทอมกับยายที่บ้านสวน ช่างมีมากมาย เด็กหญิงเรียนรู้ว่า กว่าจะมาเป็นข้าวตูหนึ่งก้อน ยายกินอยู่ใช้สอยอย่างคุ้มค่า เห็นบุญคุณของข้าวปลาอาหารจึงไม่ทิ้งขว้างให้เสียของ ยายฉลาดและสร้างสรรค์ จึงใช้ฝีมือในการทำขนมที่ยายสั่งสมมาปรุงข้าวเหลือให้เป็นข้าวตูที่แสนอร่อย เด็กเรียนรู้การเก็บถนอมอาหารโดยการตากแห้ง เห็นยายสอยมะพร้าวจากในสวนมาปอกทำขนมโดยไม่ต้องไปซื้อหาให้เสียเงิน อยากกินอะไรยายลงไปหาในสวน ไม่ต้องไปพึ่งร้านสะดวกซื้อเหมือนที่เด็กหญิงและครอบครัวทำอยู่บ่อยๆ รู้ขั้นตอนการทำขนมที่ต้องพิถีพิถันและใส่ใจ ตั้งแต่ขูดมะพร้าว คั่วข้าวตาก การปรุงขนม รู้ว่ากลิ่นหอมๆของข้าวตูมาจากเทียนอบขดกลมๆ ที่ยายจุดไว้อบข้าวตูที่เรียงเป็นชั้นๆในขวดโหล

หนึ่งคำข้าวตู จึงมีความหมายที่ไม่เหมือนเรียนในห้องเรียน ยายไม่บอกจด สั่งให้ท่องจำ หรือต้องทำการบ้านมาส่ง แต่ค่อยๆซึมซับรับรู้จากพูดคุยไถ่ถาม ลงมือทำ ค่อยๆฝึกกันไป โดยยายถ่ายทอดความรู้ควบคู่มากับความรัก หนึ่งคำข้าวตูนั้นจึงอร่อยกว่าและมีค่าในจิตใจของเด็กหญิงจริงๆ

ควรทำ

• ข้อดีของการมีครอบครัวใหญ่ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้แนวคิด ประสบการณ์จากปู่ ย่า ตา ยาย ได้หลากหลาย ช่วยเปิดมุมมองด้านความคิด และทำให้เกิดความภูมิใจในครอบครัว กลายเป็นความรักความผูกพัน

• พ่อแม่ควรแบ่งเวลาให้เด็กได้ใช้ชีวิต เรียนรู้สิ่งรอบตัวจากคนในครอบครัว ญาติ ทั้งที่อยู่ต่างบ้าน หรือต่างจังหวัด เพราะเป็นรากฐานความรู้ที่กลั่นมาจากประสบการณ์ ถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้ความรู้ในแบบเรียนที่โรงเรียน

• ความรู้ที่ฝังลึกในตัวคน เป็นความรู้มหาศาล ที่จะได้มาจากการเล่าเรื่อง การพูดคุยและการใช้ชีวิตร่วมกัน

* หัวใจการเลี้ยงดู

ปู่ย่าตายาย เครือญาติ เป็นต้นแบบที่ดีในการฝึกฝน

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น