ร่างกายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่หมั่นสังเกต คุณอาจไม่รู้ว่าร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงแข็งแรงขึ้น หรือย่ำแย่ลง
10 สัญญาณเตือนต่อไปนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณหันมาทบทวน และปรับปรุงตัวเองขนานใหญ่ ก่อนที่ปัญหาเล็กๆ จะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่
1. ปวดหัวเป็นประจำ
อาการปวดหัวเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ฟ้องร่างกายว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ สาเหตุหลักมาจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์มากเกินไป
การนวดศีรษะทุกวันก่อนเข้านอน จะช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น โดยใช้นิ้วชี้กดที่หัวคิ้ว นวดคลึงและกดไปตามคิ้วจนถึงขมับ จากนั้นใช้นิ้วทั้งสิบกด และนวดคลึงหนังศีรษะให้ทั่ว
บางครั้งอาการปวดศีรษะไมเกรน อาจเกิดจากการที่เส้นเลือดส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ คุณจึงควรบริหารร่างกาย ด้วยการก้มศีรษะให้คางจรดหน้าอก ค่อยๆหมุนเป็นวงกลมจนกลับมาที่เดิม แล้วเวียนกลับไปอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เลือดไหลเวียนจากต้นคอ หนังศีรษะ และสมอง ได้อย่างทั่วถึง
แต่หากมีอาการปวดรุนแรงพร้อมกับมีไข้ อาเจียน หรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นอาการทางสมอง
2. ปวดต้นคอ
มักเป็นอาการที่ต่อเนื่อง มาจากความเครียด หรืออาจเกิดจากอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งขับรถนานๆ โดยไม่มีหมอนรองต้นคอ นอนหลับบนที่นอนนุ่ม ยกของหนักเกินไป
การนวดต้นคอและไหล่ จะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้น แต่ควรทำร่วมกับการปรับท่านั่ง และนอนให้ถูกต้องด้วย ที่นอนที่ดีต้องแข็ง นอนแล้วไม่ยุบเป็นแอ่ง หรือหากที่นอนมีความนุ่ม ให้เลือกใช้หมอนใบเล็กหนุนหลังเอาไว้ และมีหมอนข้างสำหรับวางขา เพื่อรักษาแนวกระดูกสันหลังเอาไว้ให้ตรงเป็นแนวเดียวกัน
ส่วนเก้าอี้ที่ดีจะต่างจากที่นอน คือยิ่งนุ่มมากเท่าไร จะยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะความนุ่มจะช่วยให้น้ำหนักกระจายไปได้ทั่ว ไม่ตกอยู่บริเวณสะโพกที่เดียว หากเป็นไปได้ควรเลือกเก้าอี้ให้เหมาะกับรูปร่างของแต่ละคนและมีพนักพิง เพื่อใช้เอนหลังพักผ่อนสำหรับลดอาการปวดเกร็งที่ต้นคอ
3. ปวดหลัง
อาจเกิดจากอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เช่น นอนคว่ำ นั่งท่าเดียวนานๆ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งน้ำหนักตัวมากขึ้น เพราะความอ้วนหรือการตั้งครรภ์
การนั่ง ยืน นอน ให้ถูกต้อง จะช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้มาก หากต้องทำงานในอิริยาบถเดิมๆ ทั้งวัน ให้หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ 30 นาที
หากอาการปวดหลังของคุณเกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ก็ต้องเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น หรือเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง ด้วยการซิทอัพวันละประมาณ 15 นาที แต่ถ้าคุณมีอาการปวดหลังร่วมกับการชาตามแขนขา ให้รีบพบแพทย์
4. นอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความเครียด การดื่มกาแฟ และแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับประทานอาหารรสจัด การออกกำลังก่อนเข้านอน
หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้นวดบริเวณที่ต้นคอเรื่อยไปจนถึงปลายแขนทั้งสองข้าง เพื่อให้เกิดการผ่อน คลาย แช่น้ำอุ่น หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนนอน
แต่ถ้าคุณนอนไม่เต็มอิ่มจากปัญหาเรื่องสุขภาพ ให้งีบหลับตอนกลางวันประมาณครึ่งชั่วโมง (หากนานกว่านั้นอาจนอนไม่หลับในตอนกลางคืน)
แต่ถ้าอาการนอนไม่หลับของคุณเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ร่วมกับอาการกระสับกระส่าย หัวใจเต้นแรง หรือไปปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ ให้รีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของไทรอยด์ผิดปกติ เบาหวาน ฯลฯ
5. น้ำหนักเพิ่มหรือลดผิดปกติ
การลดน้ำหนักที่ดีไม่ควรเกินกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หากมีการลดมากกว่านั้นในระยะเวลา 6 เดือน ควรต้องระวังเป็นพิเศษ
การมีน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ลำไส้อักเสบ หรือโรคมะเร็ง
ส่วนการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้พิจารณาว่ามาจากความอ้วนหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ควบคุมเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย
แต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นร่วมกับอาการบวมน้ำ คือตัวบวม หายใจหอบถี่ ต้องลุกไปปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน อาจต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ ไตวาย ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
6. เหนื่อยง่าย
โดยปกติแล้วคนเราอาจจะเดินขึ้นบันได 3 ชั้น หรือออกแรงทำงานต่อเนื่องกัน 1 ชั่วโมงได้โดยไม่เหนื่อย แต่ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยหอบ นี่คือสัญญาณบอกว่า หัวใจไม่แข็งแรง หรือหลอดเลือดอุดตันด้วยไขมัน
ดังนั้น คุณต้องออกกำลังกายให้มากขึ้น เริ่มต้นจากชนิดกีฬาที่ออกแรงเบาๆ ก็ได้ ทำให้ได้เป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที
7. หน้ามืด
อาการหน้ามืดเกิดจากการที่สมองขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงชั่วคราว อาจเกิดจากลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย กินยาหรือดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาท
การแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานดีขึ้น แต่หากยังคงมีอาการต่อเนื่องกัน 2-3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตต่ำ หรือโลหิตจาง
8. ท้องผูก
อาการท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้กากอาหารผ่านลำไส้ใหญ่ได้ช้าลง อาจเกิดจากความเครียด การดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารเหลว หรือไม่มีกากใย ไม่ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา และไม่ออกกำลังกาย
เราสามารถหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกได้ ด้วยการกินอาหารที่มีใยเส้นสูง ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสร้างนิสัยการขับถ่ายให้ตนเอง ทำให้เป็นกิจวัตรในเวลานั้นๆ
อาการท้องผูกเรื้อรัง (นานกว่า 3 สัปดาห์) อาจสร้างความเสี่ยงโรคริดสีดวงทวารหนัก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรืออาการไตวายได้เช่นเดียวกัน
9. ตัวเหลืองตาเหลือง
อาจเกิดขึ้นจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดจากปัญหาสุขภาพตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือมีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี ทำให้เกิดอาการดีซ่าน คือ ร่างกายมีสารสีเหลือง (ชื่อบิลิรูบินซึ่งเกิดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ) ตกค้างอยู่ในกระแสเลือด
หากเริ่มต้นมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ควรปรับเปลี่ยนอาหาร โดยงดอาหารมัน รสจัด และแอลกอฮอล์ รวมทั้งรับประทานอาหารรสจืด คาร์โบไฮเดรต และธัญพืชให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ตับฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาการตับอักเสบอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับได้
10. ขี้ลืมมากกว่าทุกๆวัน
การเรียกใช้ข้อมูลในสมอง ร่างกายจะต้องทำงานผ่านเซลล์ประสาทนับหมื่นล้านตัว เซลล์เหล่านี้จะลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น
แต่ถ้าคุณอายุยังน้อย แต่มีอาการขี้หลงขี้ลืม อาจเป็นได้จากความเครียด วิตกกังวล หรืออาจเกิดจากการขาดสารอาหาร ที่ใช้บำรุงสมองให้ทำงานฉับไวยิ่งขึ้น ได้แก่ โปรตีนจากปลาทะเล
การทำสมาธิก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยให้สมองจัดระเบียบลิ้นชักความคิดเป็นระบบ ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรแบ่งเวลาทำสมาธิให้เป็นประจำ วันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
อาการเหล่านี้แม้จะเป็นอาการเล็กน้อยที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่คุณต้องหมั่นสังเกตระดับความรุนแรง และความถี่ที่เกิดขึ้น หากมีความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
เพราะคำว่า “ไม่เป็นไร” ใช้ไม่ได้กับเรื่องสุขภาพ
(ข้อมูลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)