xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : สอนคนละทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ่อ : ไม่ต้องมองหน้าแม่เลย! ไปแปรงฟันแล้วก็เข้านอน! นี่มันสามทุ่มครึ่งแล้ว!!

แม่ : พรุ่งนี้วันหยุด ปล่อยให้ลูกนอนดึกอีกหน่อยจะเป็นอะไรพ่อ

พ่อ : คุณก็ชอบใจอ่อนยอมลูก ผมก็ฝึกวินัยให้ลูกไม่ได้ซักที

(เสียงจิ้งจก ร้องจุ๊ๆๆๆ)

แม่ : คุณจะมาเข้มงวดอะไรกับลูกนักหนา ให้อิสระกับลูกบ้างสิ ฉันน่ะไม่นิยมวิธีที่พ่อคุณเลี้ยงคุณมาหรอกนะ ต้องเป๊ะๆทุกอย่าง มันน่าอึดอัดจะตาย

พ่อ : พ่อฝึกให้ผมรู้จักหน้าที่ มีวินัยในเรื่องเวลา มันไม่ดีตรงไหน ผมก็ไม่นิยมวิธีที่พ่อแม่คุณเลี้ยงลูกตามใจให้ท้ายเหมือนกัน โอ๋ลูกจนจะเสียเด็กอยู่แล้ว (เสียงจิ้งจก ร้องจุ๊ๆๆๆ)

ลูก : แม่คะ ตกลงคืนนี้หนูจะนอนดึกได้มั้ย?

พ่อ : ไม่ได้! พ่อจะพาไปนอน

แม่ : ได้ลูก! คืนนี้ลูกอยู่ดึกได้ถึงเที่ยงคืนเลย!

พ่อ : เอ๊ะ! คุณนี่! ทำไมให้ท้ายลูกอย่างนี้!

แม่ : ก็ฉันจะสอนลูกอย่างนี้มีอะไรไหม!!!

จิ้งจก : จุ๊ๆๆ จิ้งจกละเบื่อ ลงเอยอย่างนี้ทุกที พ่อสอนไปทางแม่สอนไปทาง ลูกงงพอดี ทักตั้งหลายทีแล้ว ไม่ฟังกันบ้างเลย จุ๊ๆๆๆๆ

หมอเหมียวชวนคุย

ถ้าพ่อแม่คิดต่างกัน ควรตกลงกันให้ได้ในหลักการว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร หลีกเลี่ยงเถียงกันต่อหน้าลูก เพราะเด็กจะสับสนว่าควรเชื่อพ่อหรือแม่ดี ทำให้การฝึกไม่ได้ผล หรือเด็กอาจนำมาต่อรองเพื่อประโยชน์ของตัวเองค่ะ

วิ่งสามขาในการเลี้ยงลูก

การเลี้ยงลูกเหมือนการวิ่งสามขา พ่อแม่ต้องพูดคุยปรึกษาว่าจะเริ่มที่ขาไหนก่อน ขาไหนตามและสามัคคีในการวิ่ง ไม่เช่นนั้นก็จะวิ่งได้ช้า ทุลักทุเล ยื้อยุดกัน หรือไม่ก็หกล้มหัวคะมำตั้งแต่ออกสตาร์ท

พ่อแม่หลายๆคู่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำให้มีปัญหาในการเลี้ยงลูก ฝึกฝนลูกไปคนละทิศคนละทาง พ่อเข้มงวด แม่ปล่อยปละละเลย ทำให้ฝึกสอนลูกไม่ได้ผลและลงเอยด้วยความขัดแย้ง ลูกๆก็มักจะเลือกไปทางฝ่ายที่ตามใจเขามากกว่าฝ่ายที่เข้มงวด วิธีฝึกสอนกันไปคนละทางโดยไม่หันหน้าปรึกษาตกลงกัน ต่างฝ่ายคงต้องสอนไป เถียงกันไป ทะเลาะกันไปจนลูกโต

ไม่อยากหัวคะมำตั้งแต่ออกสตาร์ท หรือฝึกสอนลูกไม่ได้ผลแต่ได้คนข้างๆมาเป็นคู่กัดคู่ทะเลาะ พ่อแม่ก็ต้องใช้หลักการวิ่งสามขามาเป็นหลักในการเลี้ยงลูก คือ พูดคุย ตกลงให้เป็นเสียงเดียวก่อน ชัดเจนว่าเรื่องนี้จะเอายังไง จะฝึกสอนลูกแบบไหน หากยังคิดเห็นไม่ตรงกันแบบฟ้ากับเหว ก็อาจต้องชะลอไปก่อน โดยบอกกับลูกว่า พ่อแม่ขอปรึกษากันก่อน แล้วจะให้คำตอบทีหลัง ดีกว่ามาทะเลาะเถียงกันต่อหน้าลูก

ถ้าบ้านไหนเป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาช่วยเลี้ยงด้วย เขาบอกหลายหัวดีกว่าหัวเดียว แต่ถ้าหลายเสียง หลายความคิดเห็น แถมไปคนละทิศคนละทาง คนละทฤษฎี พ่อแม่ต้องเป็นหลักและยืนยันร่วมกันว่า จะใช้วิธีการไหนและใช้กำกับลูกให้เป็นเสียงเดียวกัน เมื่อเด็กรู้ขอบเขตความต้องการของพ่อแม่ชัดเจนว่าสิ่งไหนที่พ่อแม่ยอมรับไม่ยอมรับ การฝึกก็จะง่ายขึ้น เพราะเด็กต้องการให้พ่อแม่ยอมรับในตัวเขาอยู่แล้ว

พ่อแม่จะเลี้ยงลูกให้ได้ดีดังใจก็ต้องหัดวิ่งสามขาให้คล่องๆ

ควรทำ

• ฝึกสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน สม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ไม่สับสน

• พ่อแม่ที่มาจากต่างครอบครัว ต่างความคิด มีโอกาสที่จะฝึกฝนแตกต่างกันได้ในรายละเอียด แต่ทิศทางการฝึกควรจะตรงกัน และตรงกับของโรงเรียน เช่น การช่วยเหลือตนเอง รับผิดชอบ ตรงเวลา รักษากติกา เป็นต้น

• กรณีที่พ่อแม่มีความคิดแตกต่างกันในการฝึกลูก ควรใช้วิธีต่อไปนี้
- ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยที่รักษาสัมพันธภาพไว้ได้
- ควรตกลงกันให้ได้ในหลักการใหญ่ๆ
- ยอมให้มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดการฝึก
- ไม่ควรเถียงกันต่อหน้าลูกแต่ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน
- ควรมีการพูดคุยระหว่างพ่อแม่โดยไม่กล่าวโทษซึ่งกันและกันถึงปัญหาและแนวทางที่จะใช้ในการ ฝึกฝนเป็นระยะ
- สร้างบรรยากาศในการพูดคุยที่เป็นมิตร
- ใช้อารมณ์ขัน และการสื่อสารที่ดี (ตั้งใจฟัง สรุปประเด็น)

ไม่ควรทำ

การมีผู้ฝึกหลายคนและต่างสอนคนละแบบและขัดกันเอง จะยิ่งทำให้เด็กเรียนรู้ได้น้อยกว่าผู้ฝึกที่มีจำนวนน้อยแต่ฝึกสอนในทิศทางเดียวกัน

* หัวใจการเลี้ยงดู

การฝึกสอนลูกที่ได้ผล พ่อแม่ต้องมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น