xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : ตามรอยสังฆราชา ณ บุโรพุทโธ อินโดนีเซีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในธรรมลีลาฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงความรุ่งเรืองและความตกต่ำของพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย และได้ทิ้งท้ายด้วยคำทำนายแดนอิเหนาที่ระบุว่า “อีก 500 ปี พระพุทธศาสนาจะกลับมา”

และเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และคณะพระธรรมทูตจากประเทศไทย ได้มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายธรรมให้กับอินโดนีเซีย ดังที่ธรรมาภิวัตน์ฉบับนี้จะเขียนเล่าต่อครับ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2512 พระชินรักขิต ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่ได้บวชในพม่า เป็นพระภิกษุองค์แรกของอินโดนีเซีย มีความปรารถนาจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในบ้านเกิด จึงได้เดินทางเข้ามายังไทย และพำนักที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ขอให้คณะสงฆ์ไทยออกไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ได้เคยปรารภไว้กับพระสาสนโสภณ(ตำแหน่งของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในขณะนั้น) เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปเยือนอินโดนีเซียครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้มีการจัดส่งพระภิกษุผู้สำเร็จการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตออกไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียชุดแรก 4 รูป ประกอบด้วย พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ (วิญญ์ วิชาโน) วัดบวรนิเวศวิหาร พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ (บุญเรือง ปุญฺญโชโต) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระมหาประแทน เขททสฺสี วัดยานนาวา และพระมหาสุชีพ เขมาจาโร วัดระฆังโฆษิตาราม

พระธรรมทูตชุดนี้ออกเดินทางจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 นับเป็นพระธรรมทูตที่สำเร็จการฝึกอบรมจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรก ที่ออกไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างแดนและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง

ในครั้งนั้น ได้มีการอุปสมบทพระภิกษุเถรวาทเป็นครั้งแรกในอินโดนีเซีย มีสามเณร 5 รูปที่รับการอุปสมบท และทรงจัดพิธีอุปสมบทขึ้น ณ บุโรพุทโธ

พระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวกับ "ธรรมาภิวัตน์" ว่า

"เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ คือว่าเมื่อครั้งเสด็จไป มีกุลบุตรชาวอินโดนีเซียประสงค์จะบวช พระองค์ทรงเลือกสถานที่ ว่าที่ไหนควรจะจัดพิธีบวชดี เราจะเห็นยุทธศาสตร์ของท่านว่า เป็นยุทธศาสตร์ของนักบริหารนักปกครอง ทรงประกาศจะบวชที่เจดีย์สำคัญของโลก เป็นศาสนสถานที่สำคัญของโลกในการประกาศบวชครัั้งนี้ จนกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในอินโดนีเซีย"

มหาอุบาสกสโดโน ซึ่งเป็นเจ้าภาพการอุปสมบทครั้งนั้น ได้กราบเรียนพระสาสนโสภณว่า

"ผลยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากการมาเยือนของพระสงฆ์ไทยในขณะนี้ คือทำให้คณะสงฆ์อินโดนีเซีย พระภิกษุอินโดนีเซียมีจำนวนมากขึ้น ทำให้หวนนึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียในอดีตกาล ซึ่งคนส่วนใหญ่ยึดมั่นในพระรัตนตรัย ทุกวันนี้ แม้ประเทศอินโดนีเซียจะมีศาสนาอื่นแพร่หลายเข้ามา แต่ในส่วนลึกของจิตใจแล้ว ชาวอินโดนีเซียก็ยังมีความเป็นพุทธอยู่"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 พระสาสนโสภณได้ไปบรรพชากุลบุตรชาวอินโดนีเซียอีกจำนวน 43 คน ณ เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สังฆเถรวาทอินโดนีเซีย และพระธรรมทูตทั้ง 4 ก็ได้อยู่ปฏิบัติศาสนกิจในประเทศนี้ถึง 10 ปีเศษ นับเป็นการปลูกหน่อสมณวงศ์แบบสยามวงศ์ ให้ฝังรากลึกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาครับ

สถานที่สำหรับใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระยะแรก เป็นการดัดแปลงอาคารบ้านเรือนที่มีอยู่แล้วมาเป็นวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ก็ได้มีการก่อสร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชื่อว่า “วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย” ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธาน พร้อมคณะสงฆ์อีก 19 รูปจากประเทศไทย ไปทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดแห่งนี้ ณ กรุงจาการ์ตา นับเป็นการผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นครั้งแรกในอินโดนีเซีย

ปัจจุบันนี้ มีวัดพุทธกระจายอยู่ทั่วไปในอินโดนีเซีย ประมาณ 150 วัด โดยเป็นวัดในนิกายมหายาน 100 วัด และวัดในนิกายเถรวาท 50 วัด มีพระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นที่พึ่งทางใจแก่พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียไปด้วย

ทว่าจนถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก วัดส่วนใหญ่จึงมีชาวบ้านเป็นผู้ดูแล สภาพของวัดในปัจจุบันนี้ ต้องถือว่าดีกว่าแต่ก่อนมากครับ

พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียได้ใช้ความเสียสละอย่างสูง ในการที่จะพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาไว้มิให้สูญสิ้นไป แม้ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภายนอกมากนัก อย่างเช่นวัดไทยที่บุโรพุทโธ ก็เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวพุทธในอินโดนีเซีย ประกอบด้วยโบสถ์และเสนาสนะ

บางวัดก็อยู่ห่างไกลเข้าไปในป่า ซึ่งวัดเหล่านั้นไม่มีพระภิกษุจำพรรษา บางวัดก็อยู่ไม่ห่างจากที่ตั้งของกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) มากนัก เมื่อเวลาที่มีพระภิกษุไปเยี่ยมเยียน ชาวพุทธก็จะพากันมาฟังธรรมและสอบถามปัญหาต่างๆเกี่ยวกับศาสนา และบางครั้งก็จะมีสมาชิกของเจไอแฝงตัวเข้ามาด้วย

วัดธรรมทีปาราม ที่เกาะชวา ใกล้เมืองมะลัง ทางฝั่งตะวันออก เป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชประทานทุนทรัพย์ในการซื้อที่ดิน ในยุคแรกเป็นวัดที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมามีการก่อสร้างพระอุโบสถ และมีการก่อสร้างอาคารเรียน โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่ศึกษาด้านพุทธศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว

มีนักศึกษาทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสเดินทางมาศึกษาที่นี่ รวมทั้งเปิดสอนเนื้อหาในสายพระธรรมทูตและสายพุทธศาสนาจารย์ ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถไปเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนาได้ ถือเป็นการวางรากฐานอย่างมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนาในดินแดนอิเหนาครับ

พระมหาสุประยิตฺตโน ธัมมฺธีโร พระชาวอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งรองสังฆนายก คณะสงฆ์เถรวาทของอินโดนีเซีย ซึ่งบวชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงบวชให้ที่วัดบวรนิเวศ เล่าให้ "ธรรมาภิวัตน์" ฟังว่า

“พระสังฆราชได้ทรงวางรากฐาน พลิกฟื้น พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย ดังนั้น จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างชาวพุทธไทยและชาวพุทธอินโดนีเซีย

ช่วงก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปอินโดนีเซียนั้น วัดไม่ค่อยมีปรากฏ ถือว่าน้อยมาก ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธโดยประเพณี ซึ่งไม่ได้มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด กลับมองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เคารพนับถือรูปปั้น แต่ไม่รู้ว่าสอนอะไร

ดังนั้น ชาวบ้านจึงเป็นชาวพุทธแบบนับถือต่อกันมา และไม่ได้มีการประกาศตัวอย่างชัดเจน ต่อมาเมื่อมีการเผยแผ่พระธรรมคำสอนโดยพระธรรมทูต จึงทำให้ผู้คนที่นับถือพุทธโดยประเพณี เริ่มเข้าใจในความเป็นพุทธศาสนาที่แท้จริงในเชิงปรัชญา เข้าใจว่าแท้จริงแล้วศาสนาพุทธสอนให้คนใช้สติปัญญาในทางที่ถูกต้อง เพื่อความเจริญงอกงามของตนเอง โดยสมเหตุสมผล

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปอินโดนีเซีย พระองค์ทรงศึกษาความเป็นอยู่ของชาวอินโดนีเซีย พบว่า เป็นชุมชนที่ถือประเพณีของชาวพุทธ ขณะเดียวกัน ตอนนั้นเริ่มมีองค์กรทางพุทธศาสนาที่ก่อตั้งโดยฆราวาสเกิดขึ้น พระองค์จึงทรงส่งเสริม ด้วยการส่งพระธรรมทูตเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษาให้กับพระภิกษุชาวอินโดนีเซีย รวมทั้งทรงมีพระเมตตากับพระอินโดนีเซียที่มาศึกษาในเมืองไทย ถือเป็นการเดินหน้างานด้านพุทธศาสนาในอินโดนีเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม"


สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือ “พระศาสนกิจในต่างประเทศ” ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งที่ทรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ พิมพ์เผยแพร่ใน “อนุสรณ์การบำเพ็ญกุศลอัฏฐิถวายพระราชวราจารย์ (วิญญ์ วิชาโน)” อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินโดนีเซีย

เป็นการบันทึกคำบอกเล่าของพระธรรมเจติยาจารย์ พระธรรมทูตรุ่นแรกที่เดินทางมายังประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้เมตตาเล่าให้ผู้ร่วมเดินทางไปประชุมพระพุทธศาสนาที่อินโดนีเซียครั้งแรก ในช่วงการเดินทางจากย็อกจากาตาร์ ไปยังศูนย์สมาธิภันเตวิญญ์ ถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียในครั้งนั้นว่า

“พอไปถึงอินโดนีเซีย ได้พักที่เจติยะเล็กๆแห่งหนึ่ง มีชาวพุทธมาสนทนาจำนวนมาก และชาวพุทธได้นิมนต์เพื่อให้ไปแสดงธรรมเทศนายังที่ต่างๆ

ในพรรษาแรก ภันเตวิญญ์ (พระราชวราจารย์) กับพระมหาสุชีพ ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เจติยะ ส่วนผม (พระธรรมเจติยาจารย์) กับพระมหาประแทนได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อแสดงธรรม

ในยุคแรกพูดได้เพียงภาษาอังกฤษ ต้องมีคนแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียอีกทีหนึ่ง เรื่องที่เทศน์ก็เป็นเรื่องธรรมพื้นฐาน เช่นการรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิและการบริจาคทาน

คนที่ทำหน้าที่แปล ส่วนมากมักจะเป็นข้าราชการ ซึ่งต้องทำงานตามเวลา หนักๆเข้าผมและพระมหาประแทน เลยต้องเริ่มเทศน์เป็นภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีหลักไวยากรณ์คล้ายภาษาไทยมาก เมื่อได้ศัพท์ก็พูดได้

พอเข้าพรรษาที่สองก็ไม่ต้องใช้ล่ามแปลอีกต่อไป ชาวพุทธที่นี่รู้ตัวเพียงว่า ตนเองเป็นพุทธ แต่ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธสอนอะไร มีหลักปฏิบัติอย่างไร แต่พอได้ฟังการแสดงธรรม จึงทำให้รู้และเข้าใจมากขึ้น การเทศน์นั้นบางครั้งต้องเดินทางไกลมาก จากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง บางครั้งใช้เวลาทั้งวัน"


เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นอกจากจะเผยแผ่พุทธศาสนาเข้าไปในอินโดนีเซียแล้ว ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานอบรมพระธรรมทูต ซึ่งเป็นงานเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก ไปยังทั่วทุกหัวระแหงอย่างมิเหน็ดเหนื่อย

แต่หากจะนับถึงปีนี้ พระธรรมทูตไทยก็ได้เดินทางไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย มาเป็นเวลาถึง 45 ปีแล้วครับ ทั้งนี้ก็ด้วยพระเมตตาและพระปรีชาญาณของพระองค์ จึงถือได้ว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดสมณวงศ์สายเถรวาทขึ้นในอินโดนีเซียยุคปัจจุบัน

จนกระทั่งพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้ปักหลักลงฐานในดินแดนอิเหนานี้อย่างมั่นคง ดังที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้เคยแสดงธรรมกถาแก่พระใหม่ชาวอินโดนีเซียไว้ตอนหนึ่งว่า

“ในสมัยก่อน ประเทศไทยเคยได้รับพระธรรมจากราชอาณาจักรศรีวิชัยในอินโดนีเซีย มาบัดนี้ คณะสงฆ์ไทยได้นำแสงแห่งพระธรรมนั้นกลับคืนมายังอินโดนีเซีย”

ซึ่งครบปีที่ 500 พอดีตามตำนานของชาวอินโดนีเซียที่ว่า "พระพุทธศาสนาจะกลับมา"

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)










กำลังโหลดความคิดเห็น