ฟิลิป ครัวซง (Philippe Croizon) พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า ถึงจะพิการแขนขา แต่เขาก็ว่ายน้ำข้ามทวีปสำเร็จดังใจปรารถนา
เมื่อหนุ่มพิการชาวฝรั่งเศสวัย 46 ปีผู้นี้ ประกาศเป้าหมายว่า เขาจะว่ายน้ำข้ามทวีปทั่วโลกให้สำเร็จ สายตาที่มองกลับคงไม่พ้นปนแววสบประมาท แต่เขาไม่เคยย่อท้อ
ลำพังว่ายน้ำข้ามทวีปทั่วโลก จะมีใครสักกี่คนที่ทำได้ แต่เขานี่แหละเป็นหนึ่งในนั้น และทำได้สำเร็จแม้จะพิการแขนขาทั้งสี่ข้าง
ทำได้อย่างไรกัน จะต้องทุ่มเทฟันฝ่าขวากหนามสักเพียงใด ชีวิตเขาคงมีเรื่องราวน่าสนใจให้ได้ติดตาม
• วันที่ชีวิตพลิกผัน
ฟิลิป ครัวซง ไม่ได้พิการแต่กำเนิด แต่มาสูญเสียแขนขาในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ตอนนั้นเขาอายุ 26 ปี ทำงานรับจ้างเป็นช่างโลหะอยู่ที่ Fonderie du Poitou เมืองวีน ประเทศฝรั่งเศส มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น กำลังมุ่งมั่นสร้างฐานะอันมั่นคงให้ลูกชายและภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง
วันที่ 5 มีนาคม 2537 ได้เกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล วันนั้นเขาวางบันไดโลหะพาดกับหลังคาบ้าน เพื่อปีนขึ้นไปเปลี่ยนสายอากาศโทรทัศน์ ขณะยืนบนบันไดก็ได้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร สายไฟที่อยู่ใกล้ๆ จึงพากระแสไฟแรงสูงแล่นผ่านตัวเขาและบันไดลงสู่ดินอย่างรวดเร็ว ครัวซงนิ่งตรึงอยู่กับที่บนนั้นนานถึง 20 นาที กว่าเพื่อนบ้านจะมาพบและแจ้งหน่วยบรรเทาสาธารณภัยให้นำตัวลงมา
เขาเล่าว่า ในขณะที่กำลังถอดสายอากาศออกจากหลังคา มือได้ไปแตะถูกสายไฟฟ้าเข้า
“ผมถูกไฟฟ้าช็อต 2 ครั้ง ครั้งแรก 20,000 โวลต์ น่าจะทำให้ตายทันทีแล้วนะ แต่ช็อตครั้งที่สองทำให้ผมมีชีวิตฟื้นคืนมา จนกระทั่งนักผจญเพลิงมาถึง ขณะที่ภรรยาและลูกชายของผมได้แต่มอง ทำอะไรไม่ถูก”
เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลในเมืองตูร์ แพทย์ตัดแขนข้างซ้ายตรงเหนือข้อศอก แขนข้างขวาต่ำกว่าข้อศอก จากนั้นตัดขาข้างขวาเหนือหัวเข่า เพราะแพทย์คิดว่าจะรักษาขาข้างซ้ายของครัวซงไว้ได้ แต่ในที่สุดก็ต้องถูกตัดออกไปด้วย
เขาพูดถึงความรู้สึกตอนนั้นอย่างหมดหวังว่า “หมดสิ้นทุกอย่างแล้ว”
เพราะเป็นใครก็คงต้องรู้สึกอย่างนั้น ใครเล่าจะไม่วิตกว่า หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พิการอย่างนี้แล้วจะดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างไร ยังจะตั้งความหวังอะไรได้อีกหรือ ทุกอย่างดูยุ่งยากและสับสน
“กว่าผมจะฟื้นก็ผ่านไป 2 เดือน ตอนนั้นแขนขาทั้งสี่ถูกตัดออกแล้วพันแผลไว้มิดชิด ต้องพักอยู่ในห้องปลอดเชื้อ ผมมีทางเลือก 2 ทางที่ต้องตัดสินใจ คือ จะอยู่ต่อ หรือไม่ก็ตายไปซะ
แต่ในที่สุด ผมเลือกที่จะอยู่ต่อ กับสภาพร่างกายในขนาดใหม่ที่มีเหลืออยู่แค่นี้ เพื่อเจเรมี่ลูกชายอายุเจ็ดขวบของผม กับเกรกอรี่ที่เพิ่งออกมาดูโลก หลังจากผมเกิดอุบัติเหตุได้สองสามเดือน”
ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ครัวซงได้ดูสารคดีทางโทรทัศน์เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งว่ายน้ำข้ามช่องแคบมหาสมุทร จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำตามบ้าง
“ไม่มีแขน ไม่มีขา ก็ไม่เป็นปัญหานี่นะ” หนุ่มพิการพ่อลูกสองคิด
เขาต้องการทำเรื่องท้าทายนี้ให้สำเร็จ “เพื่อตัวผมเอง ครอบครัวผม และเพื่อนๆ ของผมที่บังเอิญโชคร้ายสูญเสียรสชาติบางส่วนของชีวิตไป”
• การเตรียมตัวว่ายน้ำข้ามทวีป
หลังออกจากโรงพยาบาล และพักฟื้นจนแข็งแรงแล้ว ครัวซงก็เริ่มฝึกฝนการว่ายน้ำอย่างหนักวันละมากกว่า 5 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง โดยฝึกกับ Maritime Gendarmerie ซึ่งเป็นหน่วยงานตำรวจทางทะเลของฝรั่งเศส ที่ทะเลใกล้เมืองลา โรแชล
เขาพยายามทดลองออกแบบขาเทียมแบบพิเศษสำหรับช่วยให้ว่ายน้ำได้หลายๆแบบ มีตีนกบอยู่ตรงปลาย ใช้สวมเข้ากับตอขาส่วนที่เหลืออยู่ อวัยวะเทียมนี้ทำมาจากคาร์บอนและไททาเนียม ราคาสูงถึงชุดละ 12,000 ปอนด์ (ประมาณ 645,000 บาท)
บิดาของครัวซงเล่าว่า ถ้าลมฟ้าเป็นใจ ลูกชายของเขาจะทำเวลาได้ดีกว่าที่คาด และเคยมีปลาโลมา 3 ตัว ว่ายน้ำเป็นเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ด้วยชั่วขณะหนึ่ง
“เรามองว่ามันเป็นสัญญาณแห่งความโชคดี” เจอราด ครัวซง ผู้เป็นพ่อบอก
ตลอดระยะเวลาที่ฝึกหนัก เขาได้รับจดหมายให้กำลังใจจากนักการเมืองระดับชาติ รวมถึง “นิโคลา ซาโกซี” ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้นด้วย ในช่วงที่เขาสามารถว่ายน้ำจากเมืองท่านัวร์มูติเยร์ไปถึงฝั่งปอร์นิค ของฝรั่งเศส โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง
• ภารกิจพิชิตฝัน
แม้จะถูกตัดแขนขาจนแทบไม่มีเหลือ เขาก็ไม่คร่ำครวญจมจ่อมอยู่กับชะตากรรมอันโหดร้าย หากแต่เผชิญความจริงด้วยความเข้มแข็งและกล้าหาญ ความพิการทางร่างกายเพียงแค่นี้ ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างฝัน ต้องมุมานะฝึกฝนต่อสู้กับความยากลำบากต่อไป เพราะเขาเชื่อว่าถ้ามีความตั้งใจจริง ก็สามารถทำได้ทุกอย่าง
ครัวซงเคยฝันอยากเข้าร่วมแข่งขันว่ายน้ำผ่านช่องแคบอังกฤษ แล้วในที่สุดวันที่ 18 กันยายน 2553 ฝันก็เป็นจริง ขณะที่อายุได้ 42 ปี เขาว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จ ใช้เวลาไม่ถึง 14 ชั่วโมง โดยเริ่มว่ายออกจากโฟล์คสโตน เวลา 6.35 น. ไปถึงแหลมกรีเน เวลา 20.13 น. รวมระยะทาง 34 กิโลเมตร
เขาเล่าหลังจากว่ายข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จว่า รู้สึกว่าตัวเองบาดเจ็บ แต่ยังมั่นใจว่าจะทำสำเร็จ
“ผมทำได้แล้ว มันบ้าจริงๆ” ครัวซงพูดด้วยความดีใจสุดขีดกับสถานีวิทยุฟรานซ์อินโฟ เขาคาดหวังด้วยว่า นี่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการพิชิตข้อจำกัดของคน
ครัวซงว่ายน้ำได้เกือบ 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช้ากว่าสถิติของนักกรีฑาชายฉกรรจ์ทั่วไปเพียงเล็กน้อย ที่ว่ายได้ชั่วโมงละ 4 ถึง 5 กิโลเมตร
หนุ่มพิการพ่อลูกสองไม่หยุดฝันเพียงแค่นั้น เขาได้รู้จักกับอาร์โนด์ ชาสเซรี่ นักว่ายน้ำทางไกลร่วมชาติ ชาสเซรี่เป็นทั้งเพื่อนร่วมทางและผู้ฝึกฝนทักษะการว่ายน้ำให้กับครัวซง เป็นคู่หูนักว่ายน้ำที่มักเข้าร่วมแข่งขันรายการต่างๆด้วยกันตลอด
ทั้งคู่ร่วมกันคิดวางแผนว่ายน้ำข้ามทวีปต่างๆ 5 ทวีปทั่วโลก เพื่อพิชิตความฝันที่ตั้งเป้าเอาไว้ และต้องการสื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า แม้กายจะพิการ แต่หัวใจไม่ได้พิการตาม
วันที่ 24 เมษายน 2555 เว็บไซต์เทเลกราฟรายงานว่า ครัวซงประกาศโครงการใหม่ตามแผนการว่ายน้ำข้ามทวีปดังกล่าว ร่วมกับชาสเซรี่ เริ่มต้นที่ทวีปออสเตรเลียมาทวีปเอเชีย โดยออกจากประเทศนิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินีจนถึงอินโดนีเซีย ต่อด้วยการว่ายข้ามทะเลแดง (เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียและแอฟริกา) ช่องแคบยิบรอลตาร์ (เชื่อมต่อระหว่างทวีปแอฟริกาและทวีปยุโรป) และปิดท้ายที่ช่องแคบเบริง (เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา) โดยคาดการณ์เอาไว้ว่า การเดินทางว่ายน้ำรอบโลกในครั้งนี้ จะเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน
ครัวซงว่ายน้ำตามแผนช่วงแรก ข้ามจากทวีปออสเตรเลียไปทวีปเอเชียได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2555 คือจากปาปัวนิวกินีถึงประเทศอินโดนีเซีย เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้เวลาเจ็ดชั่วโมงครึ่ง โดยมีชาสเซรี่ว่ายน้ำร่วมทาง พร้อมกับเซต แทมป้า ชาวนิวกินีที่คอยว่ายน้ำให้ความช่วยเหลือพวกเขาด้วย
เดือนมิถุนายน เขาว่ายน้ำผ่านทะเลแดงที่มีฝูงปลาฉลามชุกชุมได้สำเร็จ โดยเริ่มจากประเทศอียิปต์ไปถึงประเทศจอร์แดน เป็นระยะทาง 19 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
จากนั้นได้ว่ายน้ำผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ จากเมืองทาริฟา ประเทศสเปน ไปยังดินแดนใกล้เมืองแทนเจียร์ ประเทศโมร็อกโก ได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม ระยะทางมากกว่า 14 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง
แล้วภารกิจสุดท้ายก็มาถึง ครัวซงและชาสเซรี่ว่ายน้ำผ่านช่องแคบเบริง ซึ่งอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือได้สำเร็จ โดยพวกเขาเริ่มต้นว่ายจากเกาะลิตเติ้ลดีโอเมเด้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้ามเส้นแบ่งวันสากลมาจนถึงเกาะบิ๊กดิโอเมเด้ เขตชายแดนประเทศรัสเซีย
ตอนแรกพวกเขาวางแผนจะว่ายน้ำในวันที่ 13 สิงหาคม 2555 หรือประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากวันครบรอบ 25 ปีที่นักว่ายน้ำสาว ลินน์ ค็อกซ์ สร้างประวัติศาสตร์ว่ายน้ำผ่านช่องแคบเบริงได้เป็นคนแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530
แต่ก็ต้องเลื่อนกำหนดไป เนื่องจากมีพายุเข้าเร็วกว่าปกติ แต่พอลมเริ่มสงบในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ทะเลก็มีคลื่นสูงอีก จึงต้องเลื่อนไปจนบ่ายคล้อย พวกเขาจึงว่ายข้ามช่องแคบเบริงได้สำเร็จ ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ท่ามกลางหมอกหนาทึบ สายลมแรง สายน้ำเชี่ยวกราก และเย็นยะเยือก
“ครั้งนี้เป็นครั้งหนักหนาที่สุดในชีวิตผม น้ำเย็นเฉียบ อุณหภูมิเพียง 4 องศาเซลเซียส กระแสน้ำก็แรงมาก แต่เราก็ทำสำเร็จ”
ครัวซงจึงเป็นคนที่สองต่อจากลินน์ ค็อกซ์ ที่ว่ายน้ำผ่านช่องแคบเบริงได้สำเร็จ และเป็นคนพิการคนแรกที่ทำได้ด้วย ทำให้เขาปิดฉากโครงการว่ายน้ำข้ามทวีปได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในเวลาเพียง 100 วัน นับจากวันที่ได้ประกาศโครงการนี้
• แรงบันดาลใจของเพื่อนผู้พิการ
หลังจากอุบัติเหตุไฟดูด ที่เขาต้องถูกวางยาสลบและรับการผ่าตัดเป็นเวลารวมถึง 100 ชั่วโมง ในที่สุดชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไปอย่างคนพิการ ต้องต่อสู้อย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ เพื่อดำรงชีวิตที่รอดมาได้
เมื่อชาวฝรั่งเศสคิดถึงเขา จะคิดถึง “ฟิลิป ครัวซง” ในฐานะผู้เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญและบากบั่น และยังเป็นต้นแบบตัวตนจริงของคนพิการที่สามารถมีอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ไม่เพียงได้พิสูจน์ศักยภาพให้ประจักษ์ตา เพื่อปกป้องคุณค่าของตัวเองเท่านั้น ครัวซงยังคิดถึงคนพิการอื่นๆด้วย เขาบอกว่า ต้องการเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้คนพิการอื่นๆ เกิดความเชื่อมั่นและมีกำลังใจว่า คนพิการก็ทำได้
“ผมบอกพวกเขาว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ อะไรๆก็ทำได้ ถ้าคุณตั้งใจมุ่งไปข้างหน้า ข้ามพ้นตัวคุณเองให้ได้ คนเราเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ ไม่ว่าจะอยู่ในทวีปไหนก็ตาม”
เขาเขียนหนังสือเรื่อง “J'ai decide de vivre” (I decided to live) โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ถ่ายเสียงพูดเป็นข้อความเขียน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้ต่อสู้มา 12 ปี และความสนใจที่กลับมาทุ่มเทให้กับการดำน้ำ ซึ่งเป็นกีฬาโปรดอีกครั้ง
หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของใจที่กล้าแกร่งและการมองโลกในแง่ดี ที่เป็นบทพิสูจน์ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
เขาเขียนในบทบรรณาธิการของหนังสือนี้ว่า “ผมอยากจะสลัดทิ้งความจริงจากเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตผมและคนรอบข้างไม่เหมือนเดิม แต่บอกได้เลยว่า ถึงจะเป็นเรื่องน่าตกใจและน่ากลัว แต่ชีวิตก็ยังสวยงาม และชีวิตก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป...
นี่เป็นเรื่องจริงของคนพิการคนหนึ่งที่จะอยู่กับข้อเสียเปรียบนี้อย่างไร อธิบายให้เห็นว่า ผมตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความรักและมีอารมณ์ขันอย่างไร พรรณนาทุกสิ่งที่ทำให้ผมมีชีวิตอยู่ได้ หรือที่ต้องขอบคุณความพิการของผมอย่างไรบ้าง”
ครัวซงยังสร้างความมั่นใจแก่คนพิการอีกครั้ง ด้วยการกระโดดร่มชูชีพจากเครื่องบินลงสู่พื้น ดังที่เป็นข่าวดังไปทั่วเมื่อปี 2550
นอกจากนี้ เขายังประกาศเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของโครงการเพื่อคนพิการ (HandiCap sur le Monde) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเชื่อมต่อประสานระหว่างประชากรในแต่ละทวีป และแสดงให้เห็นว่า ความพิการไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำสิ่งยากๆ ให้สำเร็จ
สิ่งท้าทายที่เขาพิชิตได้นั้น แม้ยากที่จะเข้าใจว่า ทำได้อย่างไร แต่ก็ทำให้โครงการนี้น่าประทับใจ และปลุกเร้าความปรารถนาที่จะทำอย่างดีที่สุด เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่คนพิการ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่ต้องดำรงชีวิตต่อไป และใช้มันตามความสามารถและโอกาสของเรา
“ผมสนับสนุนโครงการ HandiCap sur le Monde ทั้งด้วยแรงกายและแรงใจ ผมว่าแนวคิดริเริ่มโครงการนี้ไม่ธรรมดา เรามีคนหนุ่มสองคนอุทิศตนช่วยเผยแพร่โครงการ และเป็นปากเสียงแทนผู้คนทั่วโลกที่อยู่ในสภาพร่างกายพิการ”
เสียงของครัวซงช่วยประชาสัมพันธ์โครงการนี้ได้มากจริงๆ แม้ว่าภารกิจว่ายน้ำข้ามทวีปทั่วโลกจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ผู้คนก็ยังจดจำนับถือในความหาญกล้าและใจที่ไม่ย่อท้อของเขาอยู่
เมื่อเดือนสิงหาคม 2013 มีคนใจพิการลักขโมยรถเข็นไฟฟ้าของเขาไป และเพียงไม่กี่วันข่าวนี้ก็เผยแพร่ผ่านสื่อและทวิตเตอร์ไปทั่วโลก
ครัวซงบอกว่าเสียใจ “ผมไม่รู้ว่าคนพวกนี้รู้ตัวหรือเปล่า ว่าทำอะไรไป เขาไม่ได้เอาไปแต่ตัวรถเข็นของผม แต่ยังเอาชีวิตที่เป็นตัวตนของผมไปด้วย”
แน่นอนว่า คนแขนขาพิการ เมื่อขาดรถเข็น ชีวิตก็เหมือนสิ้นหวังที่จะได้ดำเนินไปเฉกเช่นคนปกติ สำหรับเขา ใจที่แกร่งย่อมไม่ย่อท้อต่อขวากหนามการดำเนินชีวิตอีกครั้งที่จะต้องก้าวผ่าน
หากแต่ยังได้แสดงให้เห็นว่า หนึ่งเสียงจากปากของเขาได้บอกกล่าวแทนผู้พิการร่างกายทั้งหลายให้ผู้คนปกติเข้าใจ เป็นเสียงจากหัวใจผู้พิการที่พิสูจน์ตัวเองจนสำเร็จแล้วว่า สามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนแขนขาดีๆ แม้ในสิ่งที่ยากเย็นและคนแขนขาดีๆทำไม่ได้ แต่ด้วยใจเกินร้อย คนพิการอย่างเขาก็ทำได้
ต้องปรบมือดังๆ เป็นกำลังใจให้กับชายพิการที่มุ่งมั่น กล้าหาญ มีจิตใจงดงามและแบ่งปันผู้นี้ “ฟิลิป ครัวซง”
• คำสอนของพระพุทธองค์ “บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”
เพราะตัวความทุกข์เองมีคุณสมบัติ ที่พร้อมจะคลี่คลายเป็นความสุข ในลักษณะความทุกข์อยู่ที่ไหน ความสุขก็อยู่ที่นั่นประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งก็คือ ความทุกข์สามารถเปลี่ยนเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ค้นพบความสุขที่ยิ่งใหญ่ ทั้งความสุขส่วนบุคคล ความสุขส่วนรวมระดับมนุษยชาติ และความสุขสูงสุด คือพระนิพพานอันเป็นสภาวะสิ้นทุกข์โดยสมบูรณ์
(จากหนังสือ ความทุกข์มาโปรด ความสุขโปรยปราย โดย ว.วชิรเมธี)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย วิรีย์พร)