xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : ลูกลิงตัวหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


(บรรยากาศเสียงจากสารคดีโทรทัศน์)

ลูก : ผมชอบลิงในสารคดีเรื่องนี้จังแม่ มันเก๊งเก่ง

แม่ : ถ้าให้เลือกจะเป็นลูกลิงตัวไหน? ลูกลิงที่แม่แบกหรือที่เดินเอง?

ลูก : เป็นลูกลิงที่แม่ลิงแบกไว้บนหลังก็สบายดีนะแม่ แต่ผมเลือกเป็นตัวที่เดินเองมากกว่า ถึงลำบากแต่มันก็ช่วยตัวเองเก่ง หาอาหารเอง คล่องกว่า ไวกว่า

แม่ : ถ้าแม่ลิงตายไป ลูกลิงตัวไหนจะลำบากกว่ากัน?

ลูก : ตัวที่แม่ลิงแบกไว้บนหลังใช่ไหมครับ ก็มันทำอะไรไม่ค่อยเป็น เพราะแม่ลิงคอยเลี้ยงตลอด

แม่ : ใครๆก็ว่าแม่ใจร้าย เลี้ยงลูกให้ลำบากทำนู่นนี่เยอะแยะ

ลูก : อ๋อ! ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมแม่ให้ผมขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนเอง อยากได้ของเล่นก็ให้หัดทำเอง งานบ้านต้องช่วย เงินค่าขนมก็พอดีเป๊ะ แม่ฝึกผมให้เก่งเหมือนลิงตัวหน้านี่เอง

แม่ : แม่ต้องฝึกลูกให้พึ่งตัวเองได้ รู้จักคิด ประหยัด และอดทน โตขึ้นจะได้ไม่เป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

ลูก : จะเหยียบขี้ไก่ฝ่อหรือไม่ฝ่อผมยังไม่รู้นะแม่ แต่รองเท้าพละของผมแป๊ะบอกซ่อมม่ายล่ายเลี้ยว ผมขอเงินซื้อคู่ใหม่หน่อยนะแม่น้า

หมอเหมียวชวนคุย

ความสงสารและกลัวลูกจะลำบากทำให้พ่อแม่หลายคนเลี้ยงลูกเหมือนแม่ลิงที่แบกลูกไว้บนหลังด้วยความรัก จนทำอะไรไม่เป็น อยากเห็นอนาคตที่ดีของลูกก็ต้องหมั่นฝึกให้เค้าดูแลตนเองให้ได้มากที่สุดค่ะ

สวัสดีความลำบาก

พ่อแม่ที่อยากฝึกลูกให้พึ่งตนเองได้ ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อความยากลำบากว่า เป็นแนวทางสำคัญในการฝึกฝนลูก ความคิดและมุมมองที่ดีของพ่อแม่นี้ จะช่วยให้ลูกยอมรับการฝึกฝนได้ง่ายขึ้น เพราะเด็กต้องการเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่อยู่แล้ว การฝึกให้ลูกรู้จักความยากลำบาก ควรฝึกตั้งแต่ยังเล็กๆ เช่น

• ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้าเอง ฝึกให้คล่องให้ชินจนเป็นกิจวัตร ลูกจะไม่รู้สึกว่าลำบาก

• มอบหมายงานให้รับผิดชอบตามวัย

• ฝึกให้ทำในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ
เช่น หัดให้กินผัก กินของที่ไม่ชอบแต่มีประโยชน์ ฝึกให้ตื่นเช้า ข่มใจทำสิ่งไม่ชอบเพื่อคนอื่น

• ฝึกให้ใช้ชีวิตติดดิน เช่น หัดให้ลูกขึ้นรถเมล์ รู้จักการขึ้นลงรถเมล์อย่างปลอดภัย หัดจ่ายค่ารถเมล์เอง รู้มารยาทในการโดยสารรถเมล์ รู้จักขอบคุณผู้ใหญ่ที่ลุกให้นั่ง ช่วยถือของให้คนอื่น พ่อแม่อาจเติมความสนุกและการเรียนรู้ที่ท้าทายเพิ่มลงไปก็ได้ เช่น การทำแผนที่เส้นทาง การเดินทางเองคนเดียวโดยพ่อแม่ไปรอที่จุดนัดหมาย ฯลฯ

• ให้รู้จักความผิดหวัง ไม่ตอบสนองความอยากของลูกทุกเรื่อง ให้ดูตามความเหมาะสมและความจำเป็น หากต้องอดทนรอเมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ต้องรอ ยังไม่สมควรซื้อก็ต้องอดใจไปก่อน

• ลองให้ใช้ชีวิตในชนบทที่ไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไปอยู่กับตายายที่ต่างจังหวัด การฝึกเป็นเด็กวัด

• สอนให้ลูกรู้จักสวัสดีกับความยากลำบาก ทักทายกันอย่างกัลยาณมิตร ไม่เบือนหน้าหนีเมื่อพบเจอ เด็กจะเกิดการเรียนรู้สูงสุด ได้ เพาะบ่มความอดทน ความแกร่ง ความสามารถ ความเข้มแข็งทางใจ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งตนเองได้โดยพ่อแม่ไม่ต้องคอยห่วงใย

ควรทำ

• การฝึกฝนเด็กให้ช่วยเหลือตนเอง ใช้ความสามารถทุกอย่างให้เต็มที่ นอกจากจะกระตุ้นการทำงานของสมองแล้ว ยังทำให้เด็กภูมิใจกับสิ่งที่ทำได้ด้วยตัวเอง มีพลังอยากทำสิ่งใหม่ๆต่อไป

• การพลัดพรากเกิดขึ้นได้ตลอด แต่ถ้าพ่อแม่ฝึกลูกให้ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ก็จะเบาใจขึ้นเมื่อถึงคราวที่ต้องจากกัน

• ธรรมชาติของแม่มักจะปกป้องลูกที่อ่อนแอที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่ายิ่งปกป้องมากก็จะยิ่งอ่อนแอเพิ่มขึ้น การฝึกฝนลูกที่อ่อนแอจะต้องฝึกเหมือนลูกปกติ เพียงแต่ต้องให้เวลาฝึกฝนเพิ่มขึ้นและต้องวางใจให้ลูกได้เรียนรู้ให้สูงสุด

• พ่อแม่ที่มีจุดมุ่งหมายในการฝึก มีจิตใจเข้มแข็ง จะฝึกฝนลูกได้ผลกว่าพ่อแม่ที่ใจอ่อน สงสารลูกมากเกินไป ซึ่งสุดท้ายมักเข้าไปช่วยเหลือจนทำให้เด็กไม่ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่

• พ่อแม่ที่เป็นต้นแบบของคนจิตใจเข้มแข็งมั่นคง จะส่งเสริมให้เด็กเลียนแบบลักษณะที่ดีของพ่อแม่ได้

ไม่ควรทำ

• พ่อแม่ที่ใจอ่อน หวั่นไหว กังวล หวาดกลัวอันตราย ก็จะเป็นต้นแบบให้ลูกเป็นคนไม่มั่นใจตนเอง สงสารตัวเอง กลัวง่าย กลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลวตามไปด้วย

* หัวใจการเลี้ยงดู

ฝึกให้ลูกรู้จักความยากลำบาก เพื่อที่จะพึ่งตนเองได้เร็วขึ้น

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น