ชีวิตที่เกิดมาบนโลกนี้ ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนากล่าวว่าล้วนเป็นตามอำนาจของกรรม ความแตกต่างในชีวิตจึงปรากฏให้เห็นอยู่เป็นปกติ
หลายคนยามท้อแท้กับชีวิต มักพูดปลอบใจตนเองว่า มันเป็นเวรกรรมของตน แม้เมื่อหายท้อแท้แล้ว ส่วนใหญ่ก็ขาดความกระตือรือร้นในการดำเนินชีวิตของตน
ถ้าพลเมืองไทยมีคนคิดอย่างนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศไทยจะดำเนินไปสู่ความวัฒนาสถาพรอย่างไร?
พระพุทธศาสนาก็จะถูกโจมตีว่า เป็นศาสนาที่ทำให้เกิดความหายนะต่อประเทศไทย การทำความเข้าใจในเรื่องกรรมที่ถูกต้อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนไทยในปัจจุบันนี้
ลองพิเคราะห์กรรมของพระองคุลิมาลดู สมัยที่ท่านยังเป็นมานพชื่ออหิงสกะ ท่านเป็นคนดี ที่มีความเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์เสมอ เป็นลูกที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี ต่อมามีเหตุทำให้อาจารย์เกิดความไม่พอใจท่าน แล้วก็หลอกท่านว่า ให้ฆ่าคนจำนวน ๑,๐๐๐ คน เพื่อจักได้มีความพร้อมในการเรียนวิชาขั้นสูงของสำนัก ท่านก็ปฏิบัติตาม ทำให้เปลี่ยนจากอหิงสกะผู้เรียบร้อย กลายเป็นมหาโจรองคุลีมาลในกาลต่อมา
ในวันที่จะฆ่าคนที่ ๑,๐๐๐ ท่านได้พบพระพุทธเจ้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้รับสัจธรรมความจริงของชีวิต นำตนให้หลุดพ้นจากความเชื่อที่ผิด เห็นแสงสว่างในการดำเนินชีวิต ท่านได้ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วต่อมาได้เป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์
ใช่..อาจมีความคิดเห็นว่า นี่เป็นอำนาจของกรรม ที่ลิขิตชีวิตของพระองคุลิมาล
แต่ลองตรองดูว่า ใครเป็นคนเลือกในการจะไปฆ่าคน ใครเป็นคนเลือกที่จะบวชเป็นพระ พระองคุลิมาลเป็นคนเลือกเองมิใช่หรือ เมื่อยกเวรกรรมในอดีตชาติที่ไม่ทราบออกไป พิเคราะห์เฉพาะในชาตินี้ พระองคุลิมาลเป็นผู้กำหนดเวรกรรมของตนเอง ท่านจึงเป็นผู้รับเวรกรรมในปัจจุบันของท่านเอง
ยามท่านกำหนดแนวทางชีวิตเป็นศิษย์ที่ดี ทำตามคำสอนที่ผิดของอาจารย์ ท่านได้กลายเป็นมหาโจร ก็ได้รับทุกข์ยากลำบากในการเป็นอยู่ แม้เมื่อเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้รับทุกข์จากความโกรธแค้นของมหาชนที่ทราบเรื่องในอดีตของท่าน
เมื่อท่านกำหนดแนวทางชีวิตของตนเป็นพระภิกษุ ท่านก็ดำเนินตนไปตามพุทธโอวาท ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับวิมุตติสุขอย่างสมบูรณ์ นี่แสดงให้เห็นว่า เราเป็นผู้กำหนดแนวทางชีวิตของตนเอง
การได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของผู้อื่น ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะทำให้ได้เรียนรู้ถึงแนวทางชีวิตของผู้นั้น แล้วนำมาเป็นอุทาหรณ์แก่ชีวิตของตนเอง
ในพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ทรงกล่าวถึงแนวทางของชีวิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความน่าสนใจดังนี้
“...การที่มาขอโอวาทเพื่อเป็นแนวทางในชีวิต และเพื่อให้เป็นคนดีจริงๆ ของชาตินั้น ก็แล้วแต่คนที่ฟัง แล้วแต่คนที่จะไปพิจารณาและไปปฏิบัติให้พบแนวชีวิต และให้พบสิ่งที่จะทำให้เป็นคนดีจริงๆ ของชาติได้
แนวของชีวิตนี้ ถ้าพูดตามตรงแล้ว แต่ละคนก็มีแนวของชีวิตของตนเอง และแตกต่างกับผู้อื่น ฉะนั้น การที่จะมารวมทั้งหมดแล้วบอกว่าแนวชีวิตคืออย่างนี้ ก็พูดยาก เพราะแต่ละคนก็มีทางของตัว มีหน้าที่ของตัว และมีนิสัยใจคอความเป็นอยู่ของตัว
แต่ถ้าพูดรวมๆแล้ว เราก็จะดูได้ว่า แนวทางของชีวิตทุกคนก็มีว่า เกิดมาแล้วจะต้องฝึกฝนตนเองทั้งกายทั้งใจ เพื่อที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ นั้นเป็นขั้นแรก
ขั้นต่อไป เมื่อฝึกฝนตนเองพอสมควรแล้ว หมายถึงว่าได้ฝึกหัดตัว แล้วก็ได้เรียนรู้วิชาต่างๆ แล้วก็ต้องไปปฏิบัติ ในการปฏิบัตินั้นก็จะต้องใช้ความตั้งใจจริง ความซื่อตรง และการพิจารณาที่รอบคอบ
แนวต่อไป แนวสุดท้ายขั้นที่สาม ก็คือตาย คือเกิดมาแล้ว เรียนรู้ ฝึกตน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ปฏิบัติการตามหน้าที่ และตาย
ตายนี้หมายถึงว่าถ้าอยากให้เป็นการดี ก็ต้องตายสบาย แต่ละคนก็ต้องการตายสบาย หมายความว่าตายสบายใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่มา อันนี้ ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของชีวิตและแนวทางชีวิตกว้างๆ แต่ก็คงเข้าใจ...”
แนวทางของชีวิตขั้นแรกคือ เกิดมาแล้วจะต้องฝึกฝนตนเองทั้งกายทั้งใจ เพื่อที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ นี่นำให้คิดได้ว่าในยามปฐมวัย คือมีอายุตั้งแต่เกิดจนถึง ๒๕ ปี ควรที่จะได้มีการเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต การเรียนรู้นี้ย่อมเป็นไปตามระบบการศึกษาของรัฐ หรือเป็นไปตามธรรมชาติในสังคมที่ตนอาศัย
เมื่อเกิดการเรียนรู้ย่อมนำให้เกิดการพัฒนาตนเองไปตามองค์ความรู้ที่ได้เรียนมา การหมั่นฝึกฝนตนเองให้ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
ความสำเร็จในช่วงนี้อาศัยธรรมในมงคลสูตร ๑๐ ประการ มากำกับฝึกฝนใจของตนให้เข้มแข็ง ดำรงตนไปตามแนวทางชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งได้แก่ ๑. ไม่ให้คบคนพาลคนชั่ว เพราะจะทำให้ตนเองได้ประสบความเดือดร้อน ดังเช่น อหิงสกะได้รับคำสอนที่ผิดจากอาจารย์ ๒. ให้คบบัณฑิต ท่านผู้เป็นคนดี เพราะจะทำให้ตนเองได้พบแต่ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต ดังองคุลิมาลได้พบพระพุทธเจ้า ๓. ให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา เพราะศรัทธาในท่านผู้นั้นจะทำให้ตนเองได้ศึกษาจริยาวัตรของท่าน แล้วนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ๔. ให้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม เพื่อสะดวกในการศึกษาเล่าเรียน
๕. ให้สะสมบุญเรื่อยไป การสร้างบุญให้ตนเอง ด้วยการทำตนให้มีความสุขด้วยการให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา อันจะเป็นทุนไปสู่ความสุขสำเร็จในชีวิต ๖. ให้ตั้งตนไว้ชอบ ดำเนินชีวิตไปตามกรอบแห่งศีลธรรม อันจักทำให้สามารถมีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ๗. ให้เป็นผู้ฟังมาก การได้ฟังประสบการณ์ความสำเร็จในทางที่ถูกต้องของผู้อื่น เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้มีความรอบรู้ต่อการดำเนินชีวิต ๘. ให้ศึกษาศิลปวิทยา เป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่ควรแก่การดำเนินชีวิตของตนเอง นำให้มีพื้นฐานการประกอบอาชีพการงานที่ดีต่อไป ๙. ให้มีระเบียบวินัยดี เป็นการทำตนให้เป็นผู้มีหลักการที่ดีในการดำเนินชีวิต ๑๐. ให้มีวาจาสุภาษิต รู้จักพูดคุยกับคนอื่นด้วยวาจาสุภาพ ก่อประโยชน์ อันทำให้เกิดความมีเสน่ห์ในตัวเอง ได้รับการยอมรับจากสังคม
เมื่อดำเนินชีวิตด้วยมงคล ๑๐ ประการนี้ ย่อมทำให้สำเร็จแนวทางของชีวิตขั้นแรกนี้
แนวทางของชีวิตขั้นที่สอง คือ ในการปฏิบัตินั้นก็จะต้องใช้ความตั้งใจจริง ความซื่อตรง และการพิจารณาที่รอบคอบ นำให้คิดได้ว่า ในยามมัชฌิมวัย คือในช่วงอายุ ๒๖ – ๕๐ ปี เป็นวัยแห่งการทำงาน สร้างหลักฐานให้แก่ตนเอง การทำงานตามคุณวุฒิที่ได้ฝึกฝนมาดีแล้วในขั้นแรก ย่อมทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ
เมื่อพิเคราะห์ธรรมแห่งการดำเนินชีวิตไว้ ๓ ประการที่พระราชทานไว้ ย่อมพบว่า นี่คือสิ่งที่ต้องสร้างเป็นลักษณะนิสัยในการดำเนินชีวิตของตน
ในการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ตนประสงค์ มีนัยยะที่พอขยายความได้ดังนี้ ๑. มีความตั้งใจจริง ที่จะดำเนินชีวิตให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว ด้วยความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง เสมอต้นเสมอปลาย และไม่หวาดหวั่นต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคของชีวิต ๒. มีความซื่อตรงในการดำเนินชีวิตของตนเอง ๓. มีการพิจารณาที่รอบคอบ ในการดำเนินชีวิต
การรักษาให้ตนเองมีคุณธรรมทั้ง ๓ นี้อย่างบริบูรณ์ ควรจะต้องปฏิบัติตนตามธรรมในมงคลสูตร ๒๐ ประการ คือ ๑. ต้องบำรุงบิดามารดา ด้วยความเคารพ นี่จะทำให้ตนเองมีสำนึกในความกตัญญูกตเวทีอยู่เสมอ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่สร้างความเสื่อมเสียแก่ท่าน ๒. ให้การสงเคราะห์บุตรธิดา ตามสมควร นี่จะนำให้เกิดความรับผิดชอบในการดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท ทั้งยังต้องทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของบุตรธิดา
๓. ให้การสงเคราะห์ภรรยา(สามี) ผู้เป็นคู่ชีวิต ด้วยการให้เกียรติตามฐานะ ๔. ไม่ให้การงานอากูล ทำงานในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ไม่ให้งานคั่งค้าง ๕. บำเพ็ญทาน รู้จักการให้ปันอนุเคราะห์เพื่อนร่วมงาน ร่วมสังคม ตามสมควร ๖. ให้ประพฤติธรรม คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีสมกับที่เกิดเป็นคนและให้มีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง
๗. ให้สงเคราะห์ญาติ ตามสมควรแก่กาล ๘. ให้ประกอบการงานดี ไม่มีโทษ คือทำอาชีพสุจริต ที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิตของตนเอง ๙. ให้เว้นจากการทำบาป ด้วยกายและวาจา ๑๐. ให้เว้นจากการเสพของเมา นี่จะทำให้เป็นคนมีสติอยู่เสมอ ๑๑. ไม่ให้ประมาทในธรรมทั้งหลาย ด้วยการมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสในการทำความดี ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ กระทำการงานอย่างจริงจังและดำเนินรุดหน้าตลอดเวลา
๑๒. เคารพบุคคลที่ควรเคารพ คือมีความตระหนักรู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑๓. มีความถ่อมตน คือคอยตามพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง แล้วแก้ไข ไม่อวดดื้อถือดี น้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่ ๑๔. มีความสันโดษ ให้รู้จักพอ รู้จักประมาณในการดำเนินชีวิต
๑๕. มีความกตัญญู คือการรู้จักบุญคุณผู้ที่ได้ทำความดีให้แก่ตน ๑๖. ฟังธรรมตามกาล รู้จักขวนขวายหาเวลาไปฟังคำสั่งสอนจากผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาของตนให้สูงขึ้น ๑๗. มีความอดทน รักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่น
๑๘. เป็นผู้ว่าง่าย เมื่อมีผู้รู้แนะนำพร่ำสอนให้ ตักเตือนให้โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมปฏิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพอ่อนน้อม ๑๙. รู้จักมองพระสงฆ์ ผู้สงบ เป็นเครื่องเตือนสติตนเองให้ใฝ่หาความสงบในใจ ๒๐. สนทนาธรรมตามกาล ในการดำเนินชีวิตย่อมต้องมีปัญหาและอุปสรรค การได้สนทนากับท่านผู้รู้หรือเพื่อนร่วมงาน ย่อมเห็นหนทางแก้ไขหรือสนับสนุนให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น
ธรรมทั้ง ๒๐ ประการนี้ เมื่อปฏิบัติเป็นปกติก็จะทำให้คุณธรรมที่ทรงแนะนำไว้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวทางของชีวิตขั้นที่สาม คือ ตาย นี่นำให้คิดได้ว่า ในยามปัจฉิมวัย คือในช่วงอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ควรที่จะได้รับผลสำเร็จในการดำเนินชีวิตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามสมควร
บุคคลที่กำลังจะหมดลมหายใจไปจากโลกนี้ เมื่อมารำลึกถึงชีวิตที่ดำเนินมาด้วยดีของตน ย่อมมีความภูมิใจ และยอมตายไปด้วยความสบายใจ ทั้งทิ้งเกียรติยศไว้ให้แก่ลูกหลานในตระกูล
ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัยจึงควรที่จะปฏิบัติตนตามธรรมในมงคลสูตร ๘ ประการ คือ ๑. บำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดไป พยายามไม่ให้ตนเองตกไปในอำนาจกิเลส ที่จะทำให้เกิดการดิ้นรนในชีวิตใหม่ ๒. ประพฤติพรหมจรรย์ คือประพฤติตนตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีก ๓. ทำตนให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ด้วยตระหนักรู้ในทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์ ๔. ให้ทำนิพพานให้แจ้ง ตั้งใจปฏิบัติตนให้ถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๕. ไม่ให้จิตหวั่นไหวในโลกธรรม ทำตนไม่ให้ติดยึดความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ๖. ไม่ให้จิตเศร้าหมอง ทำตนให้เป็นผู้รู้ตามสภาวะความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ๗. ไม่ให้จิตมีมลทิน ทำจิตใจของตนให้เป็นอุเบกขาตลอดเวลา ๘. ให้มีจิตเกษม คือมีจิตใจที่ปลอดภัย พ้นภัย สิ้นกิเลส มีความสุข
ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ จะทำให้สามารถถึงความตายสบายตามที่ทรงรับสั่งไว้
บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีแนวทางชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ดังที่ทรงรับสั่งไว้ว่า “แนวของชีวิตนี้ ถ้าพูดตามตรงแล้ว แต่ละคนก็มีแนวของชีวิตของตนเอง และแตกต่างกับผู้อื่น ฉะนั้น การที่จะมารวมทั้งหมดแล้วบอกว่า แนวชีวิตคืออย่างนี้ ก็พูดยาก เพราะแต่ละคนก็มีทางของตัว มีหน้าที่ของตัว และมีนิสัยใจคอความเป็นอยู่ของตัว”
การกำหนดแนวทางชีวิตของตน จึงต้องเป็นไปตามเหตุผลในตนเอง เป้าหมายของชีวิตที่จะกำหนดให้มีขึ้น จึงไม่ควรที่จะเป็นสิ่งที่ไกลเกินความสามารถในการดำเนินชีวิตให้ไปถึง
ควรจะกำหนดเป้าหมายของชีวิต ที่ตนเองสามารถดำเนินชีวิตไปถึงได้ในช่วงชีวิตนี้ แล้วเมื่อถึงมรณกาล ตนเองจักตอบได้ว่า ได้ดำเนินชีวิตมาถึงความสำเร็จที่กำหนดไว้ แล้วจะได้ถึงความตายอย่างสบายใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่มา
วันนี้ คุณกำหนดแนวทางชีวิตของคุณแล้วหรือยัง?
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)