ป้า : ตายแล้วลูก! มีดมันคมเดี๋ยวก็บาดไม้บาดมือหรอกลูก เอามาให้ป้าทำดีกว่าลูก
นนท์ : นนท์ทำได้!
ป้า : ไม่เอา! ป้าไม่อนุญาต
นนท์ : ผมปอกแอปเปิ้ลให้น้องกินบ่อยๆครับป้า
แม่ : ไม่ต้องห่วงค่ะพี่ ลูกหนูเขาใช้มีดคล่องแล้ว
ป้า : ไม่กลัวลูกโดนมีดบาดหรือไง? ลูกตัวกะเปี๊ยกแค่เนี้ยะ ให้จับของมีคมแล้ว
แม่ : ก็ไม่ใช่อยู่ดีๆก็ให้ใช้มีดหรอกค่ะพี่ ฝึกเขาตั้งแต่เล็กๆ แรกๆก็ให้ใช้มีดพลาสติก พอมือไม้คล่องก็ให้ใช้มีดจริง เราก็คอยดูคอยสอนค่ะ พอทำได้ก็ปล่อยให้ทำ พลาดโดนมีดบาดก็มีบ้างค่ะ ใส่ยานิดหน่อย ไม่กี่วันก็หายค่ะ
ป้า : ของพี่คงต้องให้ลูกโตกว่านี้ มันเสียวไส้ทำใจไม่ได้จริงๆจ้ะ
แม่ : แรกๆก็ทำใจยากค่ะ แต่ก็ค่อยๆฝึกจากง่ายไปยาก ทำบ่อยๆลูกก็เก่งขึ้น ก็ต้องฝึกกันทั้งแม่ทั้งลูกล่ะค่ะ ลูกฝึกใช้มีดให้เก่ง แม่ฝึกวางใจให้เป็น
นนท์ : เห็นมั้ยครับป้า นนท์ปอกได้จริงๆ
ป้า : จริงด้วยสิ เก่งจังหลานป้า
หมอเหมียวชวนคุย
พ่อแม่มักไม่ฝึกฝนลูก ปัญหาไม่ใช่เกิดจากความยากของงานหรือลูกไม่มีความสามารถนะคะ แต่เพราะทำใจไม่ได้หรือวางใจไม่เป็น กลัวเป็นอันตราย กลัวลูกลำบาก กลัวทำเลอะเทอะ จึงใช้วิธีห้าม ขู่ให้กลัว หรือทำแทน ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกหนีปัญหา พึ่งตนเองได้น้อย รู้สึกด้อยและไม่ภูมิใจในตัวเอง เคล็ดลับฝึกลูกให้เก่งพ่อแม่ก็ต้องฝึกวางใจให้เป็นด้วยค่ะ
ฝึกวางใจให้เป็น
ธรรมชาติมักทำให้เด็กมักอยากรู้ อยากลอง คิด และตัดสินใจลงมือทำ เพราะเป็นหนทางพัฒนาความสามารถของเด็ก การห้ามของพ่อแม่ รวมถึงการตำหนิซ้ำหลังการลองแล้วเกิดผิดพลาด เป็นการบั่นทอนความคิด การตัดสินใจ และความเชื่อมั่นของเด็ก โตขึ้นจะเป็นเด็กที่ไม่กล้าริเริ่ม ไม่กล้าตัดสินใจ และมีนิสัยขี้กลัวขี้กังวล
มีวิธีที่ดีกว่าการห้าม คือ สอนเด็กให้มีทักษะในการอยู่กับสิ่งที่พ่อแม่คิดว่า “อันตราย” หรือ “ไม่ปลอดภัย” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้กล่าวถึงการเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดา ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไว้ว่า
“ไม่ว่าวิทยุหรือโทรทัศน์หมู่นี้จะได้ยินไฟไหม้ เวลานี้ อย่าให้ลูกเล่นกับไฟ แต่แม่กลับตรงกันข้าม ท่านคิดว่าควรจะให้เด็กรู้จักไฟเสียเลย ท่านก็หาถังโลหะมาและไปวางไว้บนถนนซีเมนต์ ห่างไกลจากบ้าน จากต้นไม้แห้ง หญ้าแห้ง หรืออะไรทั้งหมด แล้วท่านก็ทรงอนุญาตให้ทั้งสองพระองค์จุดไฟเล่นด้วยหนังสือพิมพ์........จำได้ว่าเมื่อเด็กๆทั้ง 2 พระองค์ชอบเล่นไฟ แม่ก็เอามาไฟมาให้เล่น มีถังสังกะสีใหญ่ หาหนังสือพิมพ์เก่ามาให้ใส่ลงไป แล้วจุดไฟ โอ๊ย! สนุกมาก 2 องค์ เสร็จแล้วเต้นรอบๆ” (จากหนังสือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กับการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดา : ทรงสร้างสรรค์พากเพียรและใฝ่เรียนใฝ่รู้” หน้า 64 – 65)
ทั้งสองพระองค์ทรงสนุกสนานที่ได้เล่นไฟและเรียนรู้ที่จะเล่นอย่างปลอดภัย เห็นวิธีการในการจัดเตรียมความพร้อมของพระมารดาที่ทรง “หาถังโลหะและวางบนถนนซีเมนต์ ห่างจากบ้าน ต้นไม้แห้ง หญ้าแห้ง” นี่คือการให้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง และเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยโดยไม่ประมาทไว้ด้วย
การห้ามโดยไม่สอนมีอันตรายกว่า เพราะถ้าเป็นสิ่งที่เด็กอยากรู้ เด็กอาจจะหนีไปทำ เมื่อไม่ได้เรียนรู้ที่จะลงมือทำอย่างปลอดภัย ผลเสียหายหรืออันตรายที่เด็กจะได้อาจมีมากกว่าและรุนแรงกว่า พ่อแม่ควรฝ่าด่านความกลัวกังวลนี้ด้วยการค่อยๆฝึกลูกทีละนิดจากง่ายไปยากจนลูกชำนาญ ทั้งพ่อทั้งแม่ก็กำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับลูก ลูกเก่งขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ก็วางใจเป็นขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน
ควรทำ
• การฝึกลูกให้ทำเรื่องหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง พ่อแม่ควรสอนเรื่องการใช้อย่างปลอดภัยด้วย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเด็กมากกว่าห้ามและไม่ยอมให้ใช้เครื่องมือ ด้วยการชวนเด็กคิดก่อนทำ ว่าจะมีอันตรายอะไรหรือไม่ และจะป้องกันได้อย่างไร
• เทคนิคการฝึกสอนที่ดี เริ่มจากงานที่ง่ายไปสู่งานที่ยาก เช่น เริ่มจากให้ใช้มีดพลาสติกไปสู่การลองใช้มีดทื่อๆ จากการใช้มีดหั่นของไปสู่การใช้มีดปอกผลไม้
ไม่ควรทำ
• ถ้าพ่อแม่คิดว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากพ่อแม่ตัดสินใจผิด เช่น ปล่อยให้ลูกใช้มีดจนได้รับอันตราย หลังจากนั้น เลยห้ามไม่ให้ลูกใช้มีดอีกต่อไป การเรียนรู้ของเด็กก็จะสะดุดลง
• ความกลัวว่าลูกจะอันตราย ลำบาก ผิดพลาด ข้าวของเสียหาย ทำให้พ่อแม่ไม่กล้าให้เด็กได้หัดทำสิ่งต่างๆ สุดท้ายเด็กจะขาดโอกาสพัฒนาความสามารถ และพึ่งตนเองได้น้อย
* หัวใจการเลี้ยงดู
การฝึกให้ลูกใช้มีดอย่างถูกวิธี พ่อแม่ต้องฝึกจากง่ายไปยาก และต้องวางใจให้ลูกได้ทดลองฝึก
จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)