• แพทย์คอนเฟิร์มทำสมาธิ เป็นยาอายุวัฒนะ
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การฝึกทำสมาธิช่วยให้คลื่นสมองไม่ยุ่งเหยิง สมองจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ช่วยให้ร่างกายสดชื่น มีภูมิต้านทานโรคที่มีประสิทธิภาพ
มีผลงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า การทำสมาธิจัดเป็นยาอายุวัฒนะที่อยู่ใกล้ตัวของแต่ละบุคคล เนื่องจากจะส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพใจดี ทำให้ใจอยู่ในอารมณ์สงบ ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนไปด้วย และจะทำให้บุคคลนั้นใจเย็นขึ้น มีความมั่นคงทางใจ จิตใจเข้มแข็งไม่ถูกกระทบได้ง่าย เผชิญกับปัญหาโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
ประการสำคัญ ผลการวิจัยยังพบว่า การทำสมาธิยังทำให้อัตราการใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดลงร้อยละ 17 อัตราการเต้นของหัวใจลดลงนาทีละ 3 ครั้ง แสดงว่าหัวใจจะแข็งแรง ลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ช่วยให้ร่างกายเสื่อมน้อยลง ทำให้หน้าตาของผู้ทำสมาธิอ่อนกว่าวัย และอายุขัยจะยืนยาว
• “กระบองเพชร” ป้องกันรังสีจากจอคอมฯ
เป็นที่ทราบกันดีว่า แสงจากหลอดไฟโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ จะส่งผลต่อสายตา ก่อให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุตาและแสบตา จนถึงปวดศีรษะและอาเจียน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดโรคต้อกระจกเร็วกว่าเดิม หรือเกิดปัญหาจอประสาทตาเสื่อม
มีงานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า หนามของกระบองเพชรดูดรังสีจากโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ยิ่งกระบองเพชรที่มีหนามมากก็น่าจะดูดรังสีได้มาก การนำต้นกระบองเพชรมาตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงสามารถช่วยลดรังสีที่แผ่ออกมาได้
เรื่องนี้จักษุแพทย์ไทยบอกว่า การที่กระบองเพชรสามารถดูดรังสีได้ น่าจะเป็นเพราะว่า สีเขียวของพืชมีคลอโรฟิลล์ดูดกลืนแสงได้ดี ฉะนั้น กระบองเพชรมีสีเขียว จึงมีโอกาสดูดซับรังสีจากคอมพิวเตอร์ได้บางส่วน แทนที่จะกระจายให้ผู้ใช้โดยตรง
รู้อย่างนี้แล้ว คนที่นั่งหน้าจอทั้งหลาย น่าจะหากระบองเพชรมาตั้งไว้สักต้น เพราะเลี้ยงง่าย แถมได้ประโยชน์อีกต่างหาก
• วิตามิน D อาจช่วยให้อยู่รอดจากมะเร็งเต้านม
การศึกษาที่ผ่านมาบอกว่าวิตามิน D อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคกระดูกหัก และภาวะซึมเศร้าได้ ล่าสุดงานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่มีวิตามิน D สูงในเลือด มีแนวโน้มที่จะอยู่รอดจากโรคนี้ได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีวิตามิน D ต่ำในเลือด
ศาสตราจารย์เซดริก เอฟ การ์แลนด์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โรงเรียนแพทย์ซานดิเอโก ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเรื่องนี้ในวารสารการวิจัยเพื่อต้านมะเร็ง โดยการศึกษาครั้งนี้ทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม 4,443 คน ในระหว่างปี 1966 – 2010 พบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมซึ่งมีวิตามิน D สูงในเลือด มีอัตราการตายลดลง 50% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามิน D ต่ำ
ทั้งนี้ วิตามิน D คือวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการควบคุมการดูดซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระดูก โดยหลักๆแล้วร่างกายได้รับวิตามิน D จากดวงอาทิตย์ รวมทั้งอาหารบางอย่าง เช่น น้ำมันตับปลา ไข่ นม กุ้ง ปลาตัวเล็ก และอาหารเสริม
• เตือนแนวโน้มผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น แนะลดกินเค็ม-หวาน-มัน
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไตวาย เกิดมาจากโรคเบาหวานมากอันดับ 1 รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง และไตอักเสบจากโรคนิ่ว ซึ่งหากป่วยทั้งโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานพร้อมกัน จะทำให้เกิดไตวายได้เร็วกว่าป่วยเป็นโรคเดียว เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้ทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงไตเสื่อม
ผลสำรวจล่าสุดทั่วประเทศ ปี 2555 พบประชาชนป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ประมาณ 6 แสนคน คาดว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือ ลดกินเค็ม ลดกินหวาน และอาหารมัน รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า การบริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสเค็ม ได้แก่ เกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ผงชูรส และผงปรุงรสต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหาร นิยมอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารนอกบ้าน จากการสำรวจปริมาณอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย ปี 2551 พบว่า มีการบริโภคโซเดียมคลอไรด์สูงเกินปริมาณแนะนำถึง 2 เท่า
• ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงตาบอด!!!
พญ.โสมสราญ วัฒนะโชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา จากมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาประชาชน บอกว่า นอกจากโรคอ้วนจะส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเกิดโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ แล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ โดยก่อนหน้านี้ ผลการวิจัยของสถาบันไกเซอร์ ได้ยืนยันกับเรื่องนี้ว่า การป่วยเป็นโรคอ้วน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันในโพรงสมองสูง ซึ่งจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ มองไม่ชัด จนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นตาบอดได้
แม้โรคอ้วนจะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบให้เกิดโรคอื่นตามมาอย่างน่าตกใจ แต่สิ่งที่สำคัญสุด คือ เรื่องโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค ที่ต้องตระหนักถึงสารอาหารที่ครบถ้วนทั้งผัก ผลไม้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับมื้ออาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาปลายเหตุ
• ระวัง 6 โรคหน้าร้อน ติดต่อจากอาหารและน้ำ
ในช่วงหน้าร้อนของทุกๆปี อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า โรคติดต่อในช่วงนี้ที่พบบ่อยมี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ
ส่วนนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า โรคติดต่อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงดิบๆสุกๆ มีแมลงวันตอม หรือทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารค้างคืน รวมทั้งการมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ การใช้ช้อนหรือแก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ
จึงขอให้ยึดหลักป้องกันก่อนป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ใช้ช้อนกลางตักอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทำความสะอาดครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย ธาราทิพย์)