• หวั่น..ถ้ำพุทธยุคแรกในจีนอาจพังทลาย!!
จีน : หมู่ถ้ำพุทธคีซิล เป็นหมู่ถ้ำพุทธสำคัญในยุคแรกๆของจีน สร้างขึ้นด้วยการเจาะผนังศิลาทรายบนหน้าผา มีทั้งสิ้น 236 ถ้ำ ตั้งเรียงรายเป็นระยะทางกว่า 2 กม.บนเส้นทางสายไหม ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งในราวศตวรรษที่ 3-8 สถานที่นี้เคยใช้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์พำนัก ภายในผนังถ้ำเต็มไปด้วยภาพวาดพุทธศิลป์ที่มีความสำคัญ วาดด้วยศิลปะอินเดีย อันเป็นหลักฐานชี้ว่า พุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาในจีน ทางตอนใต้ของประเทศ
จิออร์จิโอ บอนซานติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ภาพวาดฝาผนัง เผยว่า หมู่ถ้ำพุทธคีซิลกำลังถูกทำลาย อันเนื่องมาจากการถูกกัดกร่อนตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความชื้น เนื่องจากตัวถ้ำเป็นหินทรายที่ประกอบด้วยเกลือละลาย แม้สภาพภูมิอากาศโดยรอบจะแห้งแล้ง แต่ฝนที่ตกลงมา อาจก่อให้เกิดหายนะตามมา
“เราเห็นสัญญาณของการผุพังอย่างชัดเจนว่า ในระยะยาว อาจทำให้หมู่ถ้ำพังทลายลง”
บอนซานติ กล่าวเสริมว่า มีการสร้างเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กยึดติดกับภูเขา เพื่อให้แข็งแรง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาหมู่ถ้ำไว้ได้
(จาก Theartnewspaper.com)
• ชาวพุทธเวียดนามสะเทือน เหตุแบงค์ชาติฯหยุดพิมพ์ธนบัตรใบเล็ก
เวียดนาม : เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารกลางแห่งชาติเวียดนามประกาศตัดสินใจหยุดพิมพ์ธนบัตรมูลค่า 500 ด่ง (ราว 77 สตางค์) และ 1,000 ด่ง (ราว 1.54 บาท) ภายในปี 2014 ด้วยเหตุที่เป็นธนบัตรมูลค่าน้อย ไม่คุ้มค่าการผลิต แต่ธนบัตรดังกล่าว กลับมีความสำคัญในหมู่พุทธศาสนิกชนเวียดนาม ที่มักนำไปใช้ทำบุญ
“ถ้าคุณไปที่วัดเจดีย์หอม จะเห็นธนบัตรใบเล็กๆลอยอยู่ในลำน้ำ เช่นเดียวกับที่วัดฮัง หรือตามแท่นบูชาภายในวัด แม้แต่บนพระกรพระพุทธรูป ก็จะมีธนบัตรใบเล็กๆวางเต็มไปหมด ซึ่งนอกจากจะเป็นภาพที่ไม่น่าดูแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย” ด่าวมิงตือ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ กล่าว และเสริมว่า
“ธนาคารฯตั้งเป้าที่จะลดการขาดทุน ที่อาจมากถึงหลายแสนล้านด่ง อันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตรมูลค่าน้อยออกมา เพื่อใช้ในศาสนกิจ ซึ่งค่าพิมพ์นี้มีราคาสูงกว่ามูลค่าธนบัตร ราว 3-5 เท่า”
โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ธนบัตรใบเล็กของชาวพุทธในจังหวัดทางตอนเหนือ ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละครั้งที่วัดต่างๆจัดงานเทศกาล จะได้รับบริจาคเป็นธนบัตรใบเล็กจำนวนมหาศาล ทางธนาคารต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยทางวัดนับ และมัดเงินเป็นก้อนๆ ราว 1,200 ถุง นำใส่รถขนเงิน 15 คัน ซึ่งมูลค่าเงินที่ได้มา ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี พระติช ควง เฮา แห่งวัดฟับวัน ในกรุงฮานอย ได้แสดงความห่วงใยว่า การหยุดพิมพ์ธนบัตรมูลค่าน้อย อาจส่งผลกระทบต่อคนยากจนในชนบท ซึ่งบริจาคเงินได้เพียงครั้งละ 2,000-3,000 ด่ง แต่ท่านก็เตือนว่า ชาวพุทธสามารถเข้าถึงนิพพานได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
ขณะเดียวกัน รองผู้ว่าการธนาคารฯ ยังได้ให้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เผยแพร่ข้อมูลการจำกัดการใช้ธนบัตรใบเล็กตามวัดต่างๆ
“การใช้ธนบัตรใบเล็กให้น้อยลง จะช่วยหลีกเลี่ยงการสูญเปล่า และยังช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมทางศาสนาอันงดงามของชาวเวียดนามอีกด้วย” ด่าวมิงตือ กล่าว
(จาก VNS)
• บังกลาเทศขุดพบ วัดพุทธโบราณ อายุ 1,000 ปี
บังกลาเทศ : นายอซาดุซซามาน นัวร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศบังกลาเทศ ได้แถลงว่า เมื่อเร็วๆนี้ นักโบราณคดีได้ขุดพบวัดพุทธโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ามีอายุราว 1,000 ปี ที่เนตชวาร์ เขตตันจิบารี อูปาซิลา จังหวัดมุนชิกานจ์ (หรือภิครัมปัวร์) ซึ่งการขุดพบนี้ ไม่เพียงเป็นความภูมิใจของชาวภิครัมปัวร์เท่านั้น แต่เป็นของคนทั้งประเทศ
โดยขุดพบอุโบสถขนาด 9X9 เมตร สถูปทรงแปดเหลี่ยม 1 องค์ ทางระบายน้ำทำด้วยอิฐ และโบราณวัตถุอื่นๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพปรักหักพัง ยกเว้นเพียงโครงสร้างแห่งหนึ่ง ขนาดสูง 2.40 เมตร ผนังกว้าง 1.75 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่ยังคงสภาพดี เนื่องจากตัวฐานก่อด้วยอิฐที่เผาด้วยไฟสูง จึงป้องกันความชื้นได้ดี และการก่อเรียงอิฐ ยังเผยให้เห็นถึงลักษณะสำคัญทางสถาปัตยกรรมอีกด้วย
อนึ่ง มูลนิธิอัคราชาร์ ภิครัมปัวร์ ได้เริ่มต้นขุดสำรวจพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2010 หลังจากได้รับงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยมี ดร.ซูฟี มอสตาฟิเซอร์ ราห์มัน ศาสตราจารย์แผนกโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยจาฮันคิรนาคาร เป็นหัวหน้าทีมสำรวจ
(จาก The Daily Star)
• ชาวพุทธญี่ปุ่นหันมาลอยอังคารแทนการฝัง
ญี่ปุ่น : เหตุจากการขาดลูกหลานคอยเซ่นไหว้อัฐิ หรือสถานที่ฝังศพมีไม่เพียงพอ ทำให้ปัจจุบันมีชาวพุทธญี่ปุ่นจำนวนมาก หันมาเลือกพิธีลอยอังคารในทะเล แทนการจัดพิธีศพตามประเพณี จึงทำให้เกิดบริษัทรับจัดพิธีลอยอังคารเพิ่มมากขึ้น
“ไซเรน” คือหนึ่งในบริษัทรับจัดพิธีลอยอังคาร ตั้งอยู่ในเมืองโยโกฮามา ได้จัดพิธีมาแล้วเกือบ 2,000 ครั้งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา คิดค่าบริการรายละราว 2 แสนเยน (ราว 6 หมื่นบาท) ซึ่งถูกกว่าการฝังศพ โดยจะคัดแยกสิ่งแปลกปลอมออกจากเถ้ากระดูก และใช้เครื่องบดให้เป็นผง จากนั้นจะทำพิธีลอยอังคารในทะเลที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องการ
รี ชินเนียว วัย 50 ปี ซึ่งเป็นประธานบริษัทไซเรน บอกว่า มีหลายคนที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศหรือย้ายไปอยู่เมืองอื่น เลือกที่จะละทิ้งสุสานของตระกูล แล้วหันมาลอยอังคารในทะเลแทน
“การรับประทานอาหารริมทะเล หรือเดินเล่นตามชายฝั่ง กลายเป็นรูปแบบใหม่ในการรำลึกถึงผู้เสียชีวิต แทนการไปคารวะหลุมศพ”
อย่างไรก็ดี ธุรกิจนี้ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและข้อบังคับความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น ห้ามลอยอังคารในเขตตกปลาหรือใกล้ฟาร์มเลี้ยงปลา หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางสัญจรของเรือเดินสมุทร และไม่ออกเรือไปทำพิธีขณะทะเลมีคลื่นลมแรง เป็นต้น
(จาก ajw.asahi.com)
• เกาหลีใต้ใช้ “สุนัขซับซารี” สมบัติของชาติ เฝ้าวัด
เกาหลีใต้ : มูลนิธิสุนัขซับซารีแห่งเกาหลี เผยว่า จะจัดส่งสุนัขซับซารี ซึ่งเป็นสุนัขสายพันธุ์เกาหลี ไปประจำยังวัดสำคัญๆ 20 แห่งทั่วประเทศ โดยจัดส่งให้วัดละ 1 ตัว เพื่อใช้เฝ้าวัด ป้องกันโจรที่จะเข้ามาขโมยทรัพย์สินที่เป็นมรดกวัฒนธรรม หรือเข้ามาลอบวางเพลิง
โดยกองบริหารมรดกวัฒนธรรมได้เตรียมงบประมาณ 150 ล้านวอน (ราว 4.7 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าอาหารและค่ารักษาพยาบาลของบรรดาสุนัขเฝ้ายามในปี 2014
สุนัขซับซารี เป็น 1 ใน 3 ของสุนัขพันธุ์เกาหลีแท้ที่หายาก มีขนาดกลาง ขนฟูยาว คนโบราณเชื่อว่า มันสามารถไล่ผีและสิ่งชั่วร้ายได้ และมันยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติในปี 1992
(จาก Yonhap)
• ญี่ปุ่นจัดแสดงผ้าปักพุทธศิลป์ ศตวรรษที่ 17
ญี่ปุ่น : ผ้าปักพุทธศิลป์หายาก ชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ ปักด้วยเส้นผมของบรรดาชาวญี่ปุ่นที่บริจาคให้เมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว โดยเชื่อว่า จะช่วยให้พวกเขาได้ขึ้นสวรรค์นั้น ได้ถูกนำมาจัดแสดงที่วัดพุทธนิกายสุขาวดี เขตฮิกาชิยามา เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ผ้าปักดังกล่าว ถูกพบในปี 2007 ภายในวัดโจกันจิ เขตคามิเกียว เมืองเกียวโต เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ขนาดกว้าง 84.2 ซม. สูง 170.6 ซม. ทำขึ้นในปี 1678 โดยภิกษุที่ชื่อ “กูเนน” ซึ่งได้เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อขอรับบริจาคเส้นผมจากคนที่ต้องการขึ้นสวรรค์ ภายหลังการเสียชีวิต
โดยภิกษุกูเนนได้ปักเส้นผมสีดำลงบนส่วนที่เป็นพระเกศาของพระพุทธเจ้า อันเป็นจุดศูนย์กลางของผ้า และใช้ผมสีขาวปักเป็นต้นสาละที่เหี่ยวแห้ง
อัตซุโกะ ฮิโอกิ อาจารย์สอนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยกาคุอิน เมืองโกเบ กล่าวว่า ภิกษุกูเนนยังได้ปักผ้าเป็นภาพมันดาลา ซึ่งงานทั้งหมดใช้เส้นผมของคนหลายหมื่นคน เธอเชื่อว่า ท่านได้ปักผ้าภาพมันดาลาและภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน อย่างน้อย 72 ผืน แต่ขณะนี้ค้นพบเพียง 8 ผืน และผ้าปักที่พบในวัดโจกันจิ เป็นผ้าปักภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานเพียงผืนเดียวที่ค้นพบ
ฮิโอกิ เสริมว่า มีตัวอย่างชิ้นงานพุทธศิลป์ที่ใช้เส้นผมมนุษย์ปักลงบางส่วนของผ้า แต่แทบจะไม่เคยเห็นชิ้นงานที่ออกแบบและปักด้วยเส้นผมล้วนๆทั้งหมด โดยไม่มีวัสดุอื่นใดเลย
(จาก ajw.ashi.com)
• อินเดียมอบ “หน่อโพธิ์ตรัสรู้” ให้เกาหลีใต้
เกาหลีใต้ : สถานทูตอินเดียในกรุงโซล เกาหลีใต้ แถลงว่า ผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศของอินเดีย และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของเกาหลีใต้ ร่วมกันอัญเชิญหน่อโพธิ์ตรัสรู้จากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย มาถึงท่าอากาศยานกรุงโซล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2014 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยนายวิษณุ ปรากาศ เอกอัคราชทูตอินเดียประจำประเทศเกาหลีใต้ และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของเกาหลีใต้ 2 คน คือ จอง บองฮู รองผู้อำนวยการทั่วไปกระทรวงต่างประเทศ และ ลี ชางแจ ผู้อำนวยการทั่วไปกรมป่าไม้ ได้มารอรับหน่อโพธิ์ตรัสรู้ ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนแห่งมิตรภาพและไมตรีจิตจากประเทศอินเดีย ที่นายมานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย มอบให้ ปาร์ก กึน ฮเย ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ เมื่อครั้งที่เธอได้เดินทางเยือนอินเดียในเดือนมกราคม 2014
ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จะนำหน่อโพธิ์ตรัสรู้ ไปอนุบาลที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติเป็นการชั่วคราว ก่อนจะนำไปปลูกยังวัดที่มีชื่อเสียงเป็นการถาวร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อันเข้มแข็งของมิตรภาพอินเดีย-เกาหลีใต้ และความผูกพันอันแน่นแฟ้นของประชาชนทั้งสองประเทศ
(จาก IANS)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย เภตรา)