xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ สถิต ณ วัดกัลยาณมิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดกัลยาณมิตร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) ว่าที่สมุหนายกได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดขึ้น ในปี พ.ศ. 2368

ในเวลานั้น บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยน รวมทั้งชาวโปรตุเกส มุสลิม และไทย รวมทั้งมีภิกษุจีนพำนักอยู่ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกขานย่านนี้ว่า “ชุมชนกะดีจีน” หรือ “กุฎีจีน”

เมื่อสร้างวัดแล้วเสร็จ เจ้าพระยานิกรบดินทรได้น้อมเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์พระราชทานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

นอกจากนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารหลวงพระราชทาน พร้อมกับสร้างพระประธานองค์ใหญ่เป็นพระประธานในวิหารหลวง ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้เหมือนกรุงศรีอยุธยา คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินก่อพระฤกษ์พระโต เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2380

“พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูง 7 วา 2 ศอกคืบ 10 นิ้ว สร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนาม “พระโต” ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” ซึ่งเป็นนามเดียวกับพระโตที่วัดพนัญเชิง

พระพุทธไตรรัตนนายกเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนนับถือกันมาก มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งทำพิธียกช่อฟ้าพระวิหารหลวง ขณะที่ชักรอกช่อฟ้าขึ้นไปถึงหลังคาพระวิหารนั้น ผู้คนทั้งหลายแลเห็นเป็นนิมิตอย่างหนึ่ง ปรากฏเป็นสายมีรัศมีพวยพุ่งจากท้องฟ้าลงมาจรดช่อฟ้า สว่างไสวไปทั่วอาณาบริเวณวัด เป็นที่น่าอัศจรรย์

และในหนังสือนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งมีการปราบปรามพวกกบฎอั้งยี่ ได้นำหัวหน้าอั้งยี่ไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ ต่อหน้าพระพุทธไตรรัตนนายก เพื่อให้รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดทำร้ายด้วย ซึ่งภายหลังพวกอั้งยี่ก็ทำตามที่ได้สัญญาไว้

ในหมู่ชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีน เรียกขานหลวงพ่อโตตามแบบจีนว่า “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง” โดยนิยมไปกราบไหว้ขอพร กระทั่งเกิดงานนมัสการพระพุทธไตรรัตนนายก ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี

ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอไตร เมื่อพ.ศ. 2408 พระราชทานนามว่า “หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ” ปัจจุบัน เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ

ลุถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระอุณาโลมพระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งเป็นทองคำหนัก 40 บาท (แต่น่าเสียดายที่มีคนมาลักลอบขโมยไป)

วัดกัลยาณมิตรเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความงดงามด้านศิลปกรรมที่หลากหลาย อาทิ พระอุโบสถเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยกับจีน คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสีลวดลายจีนอย่างวิจิตรงดงาม ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก มีลักษณะเฉพาะที่ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 3

ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถทำด้วยศิลา ฐานซุ้มสีมาสลักลวดลายมงคลจีนอย่างสวยงาม ส่วนบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถมีเสาศิลามังกร 2 เสา สลักเป็นลวดลายมังกรดั้นเมฆ

ส่วนวิหารหลวงเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีนิยม ก่ออิฐ ถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย มีการออกแบบให้เหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ภายในพระวิหาร

ทางเดินตรงกลางด้านหน้าพระวิหารหลวงเป็นซุ้มประตูศิลาที่เรียกว่า “ซุ้มโขลนทวาร” มีการสลักลวดลายมงคลจีนทั้งรูปมังกร กิเลน และฮก ลก ซิ่ว เปรียบเสมือนเมื่อเดินผ่านซุ้มแห่งความเป็นมงคลนี้เข้าไปไหว้พระ จะได้รับแต่สิ่งที่เป็นมงคลทั้งยามเข้าและออก

และที่หน้าวิหารหลวงเป็นหอระฆัง ซึ่งประดิษฐานระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ขณะที่พระวิหารน้อย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของวิหารหลวง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 ก็เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยกับจีน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปางต่างๆจำนวนมาก พระประธานในวิหารน้อยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า “พระพุทธดิลกโลกเชษฐ์”

สำหรับพระเจดีย์เก่าแก่ที่เป็นเอกลักษณ์ของพระอารามแห่งนี้ คือ พระเจดีย์ยอดปรางค์ เป็นเจดีย์แบบจีนที่เรียกว่า “ถะ” เป็นอาคารแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ส่วนยอดเป็นปรางค์แบบไทย ไม่มีประวัติกล่าวว่าผู้ใดสร้าง แต่จากการที่ภายในซุ้มทั้ง 16 ซุ้มมีประติมากรรมศิลารูปพระอรหันต์ทั้ง 16 องค์ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแนวคิดของเจ้าพระยานิกรบดินทร

และล่าสุดคืออาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร เป็นอาคารอเนกประสงค์ 2 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ พระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และพุทธศาสนิกชน ร่วมกันสร้างเพื่อประกาศเกียรติคุณอันไพศาลของเจ้าพระยานิกรบดินทร

พระอารามเก่าแก่อายุร่วม 200 ปีแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2554 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ทางวัดได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยความสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เริ่มจากการบูรณปฏิสังขรณ์หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ ซึ่งแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยสวยงาม จากนั้นจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และศาลาทางเข้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2557

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)






กำลังโหลดความคิดเห็น