xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : ลมหายใจของ ‘พุทธศาสนา’ บนหน้ากระดาษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"หนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะ มันมักจะงุ่มง่าม แต่มันก็เข้าใจได้ด้วยตัวมันเอง ดีกว่าอธรรมที่ปราดเปรียวไม่ใช่หรือ"
-พุทธทาสภิกขุ-


ครั้งหนึ่ง ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวถึงหนังสือธรรมะเอาไว้ และกลายเป็นมากุญแจสำคัญในการเผยแพร่ธรรมะผ่านตัวหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการแจกฟรี หรือที่ผู้อ่านต้องควักเงินในกระเป๋ามาจ่ายก็ตาม

เมื่อสำรวจตรวจสอบตามแผงหนังสือ โดยเฉพาะงานใหญ่ของปี อย่างงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ จะพบว่า หลายปีที่ผ่านมา หลายสำนักพิมพ์หันมาให้ความสำคัญกับตลาดหนังสือธรรมะกันมากขึ้น เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากขึ้น และต่างมีรูปแบบ ลูกเล่น และรูปเล่ม ในการนำเสนอที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น

ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักคิด นักเขียน ผู้มีผลงานตีพิมพ์มากมาย เคยได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า หลักการสำคัญ 3 ข้อในการพิมพ์หนังสือธรรมะขาย ที่กลายเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจหนังสือธรรมะบนแผง คือ

1. ความคิด และทิศทาง
ของคนบนโลก เริ่มเปลี่ยนจากที่เคยสนใจวัตถุ เริ่มมองเรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ

2. คีย์พอยต์ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นดารา นักวิชาการ คนระดับหัวกะทิในสังคม หันมาสนใจธรรมะ 
ทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีบุคคลดังกล่าวเป็นต้นแบบ เริ่มสนใจตาม

3. มีการนำเสนอธรรมะในรูปแบบ Spiritual Entertainment ทำให้เสพง่ายขึ้น โดย
เฉพาะกำแพงเรื่องภาษาที่ลดช่องว่างได้น้อยลง

ปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการได้รับความนิยมของหนังสือธรรมะคือ การเปลี่ยนโฉมของหนังสือ ทั้งรูปแบบการสื่อสารเนื้อหาให้เป็นหนังสือแนวธรรมะประยุกต์ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และปรับปรุงรูปเล่มและหน้าปกให้ดูทันสมัย เพื่อขยายฐานผู้อ่านจากกลุ่มผู้สูงอายุไปยังกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยกลางคนเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับกระแสความนิยมในการให้หนังสือธรรมะเป็นของขวัญและของที่ระลึกในเทศกาลและงานสำคัญต่างๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ งานบวช งานวันเกิด งานศพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมให้ยอดจำหน่ายหนังสือธรรมะเพิ่มขึ้น

“เป็นนิมิตรหมายอันดีที่มีหนังสือธรรมะหลากหลายแนวขึ้น เดี๋ยวนี้เริ่มสำหรับเด็ก สำหรับวัยรุ่น สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับคนทำงาน สำหรับผู้สูงอายุ มีทางเลือกมากขึ้นสำหรับการหาหนังสือธรรมะมาอ่าน มาศึกษา จะเห็นว่าหนังสือธรรมะสมัยก่อนกับสมัยนี้ ต่างกันมากเลย

หนังสือธรรมะสมัยก่อนคนจะมีความรู้สึกไม่น่าอ่าน มีแต่ตัวหนังสือ มีลายที่มันแบบ โอ … เธอจะเข้าวัดแล้วหรือ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ หนังสือธรรมะเป็นหนังสือที่สามารถพกติดกระเป๋าไปอ่านที่ไหนก็ได้ อ่านที่ป้ายรถเมล์ก็ได้ ยืนบนรถไฟฟ้าก็ได้ เพราะเราสามารถดึงธรรมะมาสัมพันธ์กับชีวิตเราได้ ไม่ให้รู้สึกว่า ธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เพราะถ้าหากเราไปอ่านหนังสือที่มีบาลีเยอะ ก็อาจจะไม่รู้เรื่องแล้วก็ท้อใจ

ดังนั้น สำนักพิมพ์หรือนักเขียนก็จะทำเชิงอรรถเอาไว้ เพื่อให้เข้าใจง่ายหรือเป็นการขยายความเข้าใจ อันนี้หมายถึงหนังสือธรรมะที่อิงหลักธรรม ไตรลักษณ์ การคงบาลีเอาไว้ก็จะช่วยให้ทำความเข้าใจได้ดีขึ้น

หลักการในการคัดเลือกหนังสือธรรมะมาตีพิมพ์ อันแรกเลยต้องเช็คว่า ข้อมูลถูกต้อง คือตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า จะต้องไม่บิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเป็นอย่างอื่น อันที่สองคือวิธีการนำเสนอที่ถูกต้องชอบธรรม และต้องทำให้น่าสนใจ”
กร สถาพรสถิต บรรณาธิการสำนักพิมพ์ธรรมดา ให้สัมภาษณ์กับ "ธรรมาภิวัตน์"

จากการสำรวจตรวจตราตามหน้าร้านต่างๆ พบว่า หนังสือแนวธรรมะและปรัชญา ยังคงได้รับกระแสการตอบรับจากกลุ่มผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่สอนแง่คิดและทัศนคติในเชิงบวกที่มีต่อเรื่องต่างๆ ทั้งการดำรงชีวิต การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมและครอบครัว การทำงาน และการเรียน

โดยจุดขายของหนังสือธรรมะคือ เนื้อหาที่ตอบโจทย์ของผู้อ่านซึ่งต้องการจะเข้าใจว่า ทำอย่างไรให้ชีวิตก้าวไปสู่ความสุขและความสำเร็จ เนื่องจากคนบางกลุ่มต้องเผชิญกับภาวะบีบคั้นจากสภาพความเป็นอยู่ ทั้งเรื่องการงาน เศรษฐกิจ สังคม ทำให้คนต้องแสวงหาสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ

ทฤษฎีทางวัฒนธรรมบอกว่า วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา วัฒนธรรมการอ่านหนังสือที่สัมพันธ์กับความศรัทธา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และสภาวะทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปตามยุค ตามสมัย หรือนี่อาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เนื้อหาของหนังสือธรรมะเปลี่ยนไปจากเดิม คือเปลี่ยนจากธรรมะเพียวๆ มาเป็นธรรมะประยุกต์

พศิน อินทรวงศ์ นักเขียนรุ่นใหม่ที่มีผลงานเขียนตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองของหนังสือธรรมะที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันว่า "ธรรมะในท้องตลาดมันมีความหลากหลายอยู่แล้ว มันมีทั้งธรรมะแท้ๆ ที่มาจากพระไตรปิฎก ธรรมะจากครูบาจารย์ และธรรมะประยุกต์ ซึ่งธรรมะประยุกต์ก็มีความหลากหลายเข้าไปอีก คือมีหลายๆส่วน

แต่ว่าทั่วๆไปผู้อ่านก็จะเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หลักธรรมคือการเผยแพร่พระพุทธศาสนาผมมองว่า มันมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการคงอนุรักษ์คำสอน เผยแพร่พุทธวจน ซึ่งตรงนี้ต้องมี แต่อีกส่วนคือคนที่ต้องการศึกษาธรรมะในแง่มุมที่ง่ายขึ้นมา ที่เข้าใจง่ายขึ้นมา จึงเกิดงานเขียนที่เป็นธรรมะประยุกต์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นอ่านธรรมะแบบง่ายๆ จากนั้นจึงค่อยขยับขึ้นไปสู่การศึกษาพุทธวจนซึ่งเป็นธรรมะแท้ๆ

ทั้งนี้ ผู้อ่านเองก็ต้องมีวิจารณญาณด้วย เพราะบางครั้งก็มีการเอาธรรมะไปข้องเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมะ เช่นเรื่องไสยศาสตร์ บางครั้งการที่จะทำให้ขายง่ายขึ้น ก็ต้องแอบอิงเอาช่องทางอื่นๆเข้าไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่ต้องมีวิจารณญาณในการพิจารณาหนังสือธรรมะเล่มนั้นๆ

ในส่วนของผมซึ่งเป็นนักเขียนมองว่า ธรรมะเป็นสัจธรรม มันคงเดิม ไม่ว่าโลกจะหมุนจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร ธรรมะก็ยังอยู่แบบเดิม เพราะธรรมะเกิดขึ้นก่อนที่เราจะเกิดเสียอีก ธรรมะจะเปลี่ยนตามสังคมไม่ได้ แต่ต้องทำให้สังคมเปลี่ยนตามธรรมะ เพราะถ้านักเขียนไปเขียนให้ธรรมะเปลี่ยนไปตามสังคม ธรรมะก็จะถูกทำลาย"


หากพิจารณาหนังสือธรรมะที่ขึ้นชื่อว่าขายดีนั้น จะแบ่งได้ดังนี้

1. หนังสือธรรมะที่รวบรวมหลักธรรมคำสอนจากพระที่มีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์จำนวนมาก โดยเฉพาะธรรมะของพระที่มรณภาพไป ซึ่งพบว่า มีอยู่ 2 รูป ที่พิมพ์เมื่อไรก็ขายได้เสมอ คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี และหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี ส่วนพระที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้มีอยู่หลายรูปที่มีผู้ติดตามผลงานเขียนของท่านอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็น ท่าน ว.วชิรเมธี, พระมหาสมปอง, พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เป็นต้น

2. หนังสือธรรมะฮาวทูที่มักออกมาในแนวเสนอคำตอบแบบสูตรสำเร็จ ชวนให้เชื่อและปฏิบัติตาม แล้วจะได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา และมักจะนำเสนอเนื้อหาในทิศทางรวบยอดของเส้นทางลัดแห่งความสุข ตั้งแต่ความสุขจากการอิ่มบุญ จากบุญดลบันดาลให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ทำมาค้าขึ้น ความก้าวหน้าในการงาน ความรัก จนกระทั่งสามารถที่จะมีความสุขทุกลมหายใจ มีญาณวิเศษหยั่งรู้กรรมเก่า สวรรค์ นรก การเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติต่างๆ

ตลอดจนคำตอบสำหรับการดับทุกข์แบบ “ทางด่วน” อย่างง่ายๆ ประมาณว่า “แค่ปล่อยก็ลอยตัว” เป็นต้น ซึ่งย่อมเป็นกระจกสะท้อนภาพของสังคมว่า ผู้คนกำลังต้องการหาเข็มทิศ หรือหลักเกาะยึดชีวิตให้มั่นคง จากสภาวการณ์ทางสังคมที่ส่งผลให้จิตใจแปรปรวน ไม่มั่นคงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ภัทรภร นิลเศรษฐี บรรณาธิการสำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ให้สัมภาษณ์กับ "ธรรมาภิวัตน์" ว่า ในปี 2556 ยอดจำหน่ายหนังสือธรรมะตกลงไปเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า มีหนังสือธรรมะที่ผู้มีจิตศรัทธานิยมพิมพ์แจกฟรีมากขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือการเติบโตของธรรมะออนไลน์ คืออีบุ๊ค ซึ่งผู้คนสามารถหาอ่านได้จากโลกไซเบอร์ในรูปแบบแจกฟรีเพื่อเป็นธรรมทาน แต่ถึงกระนั้นรูปแบบและเนื้อหาก็ไม่แตกต่างกัน แต่จุดสำคัญอยู่ที่การตีความของผู้เขียนมากกว่า ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการบิดเบือนพุทธศาสนาหรือไม่

“หนังสือธรรมะรุ่นเก่า จะมีความยากของตัวเนื้อหา ภาษา ดูแล้วเหมือนคนละภาษา ทำให้คนอ่านแล้วไม่เข้าไปข้างในใจ คืออ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ประกอบกับคนรุ่นใหม่ มีเวลาน้อย ความสนใจในการอ่านก็ลดน้อยลง บางคนอาจไม่ชอบอ่าน แต่ชอบดู ชอบฟังมากกว่า

ส่วนการที่ปริมาณความหนาของหนังสือลดลง ก็มีข้อดี คือ ช่วยในเรื่องราคา ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋ามากนัก และยังช่วยให้ระยะเวลาในการอ่านต่อเล่มลดน้อยลง สามารถอ่านจบ และจับใจความเรื่องได้มากขึ้น ผู้อ่านก็จะนิยมซื้อมากกว่าหนังสือเล่มหนาๆ ซึ่งต้องใช้ความตั้งใจจริงและอยากจะอ่านจริงๆ ถึงจะซื้อไปอ่าน

แต่สิ่งที่ต้องระวังมากในการพิมพ์หนังสือธรรมะคือ ถ้ายังยึดในหลักสำคัญของแก่นธรรมได้ ยังไม่ผิดใจความจุดประสงค์ของพุทธศาสนาก็ไม่มีปัญหา มันอยู่ที่การตีความของนักเขียนที่นำเอาหลักธรรมแท้ๆ มาแปลงมาเปลี่ยน มาปรับให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งต้องดูว่า นักเขียนยังใช้การตีความมาจากหลักสำคัญ ความเข้าใจเดิมอยู่หรือไม่

แต่หากตีความผิดไป แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดและบิดเบือนเกิดขึ้น ซึ่งนั่นย่อมเป็นไปได้และอาจะเกิดการบิดเบือนพุทธศาสนาก็เป็นได้"


หากมองไปที่ความสำเร็จวัดเชิงปริมาณจากยอดขายหรือจำนวนผู้อ่านที่เพิ่มมากขึ้น อาจให้คำอธิบายว่า ก่อนหน้านี้ตลาดหนังสือธรรมะยังมีช่องโหว่ ไม่มีหนังสือธรรมะที่ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะเริ่มต้นศึกษาธรรมะด้วยหนังสือที่ดูน่าอ่านและมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ไม่มีภาษาบาลีสันสกฤตรุงรังเกินไปนัก

แต่ถ้าถามต่อไปถึงคำอธิบายว่า เหตุใดคนเมืองรุ่นใหม่จึงหันมาศึกษาศาสนามากขึ้น ก็คงจะมีชุดคำตอบอยู่ที่ว่า หนังสือธรรมะจะช่วยเป็นพลังใจให้กับเขา ในการมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ค่อนข้างจะสับสนอย่างเช่นทุกวันนี้

เพราะสังคมคงกำลังป่วยไข้ ผู้คนจึงก็ต้องหาหลักใจไว้ยึดเหนี่ยวเยียวยา และแม้ธรรมะจะไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถเสกให้สังคมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ทันที แต่ธรรมะก็มีคุณสมบัติอันชุ่มเย็นไว้บรรเทาความทุกข์ร้อนในจิตใจของผู้คนได้


ซึ่งภาพที่เราได้เห็นจากร้านหนังสือ หรืองานสัปดาห์หนังสือ หรือแม้แต่ห้องสมุด ที่มีผู้คนกลุ่มหนึ่งเลือกใช้ความชุ่มเย็นของธรรมะ มาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ และสุดท้ายเขาเหล่านี้จะนำธรรมะไว้เป็น "ยาสามัญประจำบ้าน"

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)







กำลังโหลดความคิดเห็น