xs
xsm
sm
md
lg

คิดเป็นเห็นทาง : รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผอ.สถาบันโภชนาการ กับงาน “อาหารเจลพระราชทาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่พสกนิกรชาวไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารนั้นมีอยู่มากมาย แต่โครงการหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก เนื่องจากนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก สามารถกินอาหารทางปากได้และมีสุขภาพที่ดีขึ้น นั่นก็คือ ‘โครงการเจลลี่โภชนา' หรือที่ผู้ป่วยเรียกว่า ‘อาหารเจล' ซึ่งดำเนินการโดย ‘สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล' ภายใต้การกำกับดูแลของ ‘รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต' ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ

“เจลลี่โภชนา” ด้วยน้ำพระทัยของในหลวง

โครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ? และสามารถช่วยแบ่งเบาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยได้มากมายเพียงไร รศ.ดร.วิสิฐ ซึ่งร่วมผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ได้ขยายความถึงพระราชปณิธานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน

“คือเริ่มต้นจากมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาติดต่อให้สถาบันของเราทำโครงการเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเริ่มแรกเขาก็ถามว่า เราสนใจเรื่องอะไร เราก็บอกว่าเราสนใจที่จะทำอาหารเจลสำหรับผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้

เขาก็บอกว่าเขาสนใจ เพราะมองว่าเป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้ เราก็เลยทำวิจัยโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีมูลนิธิฯเป็นผู้ออกทุนให้ ซึ่งผมในส่วนของฟูดซายน์หรือนักวิชาการด้านอาหาร ผมก็วิจัยและผลิตอาหารเจลแบบต่างๆขึ้นมา ส่วนทางมูลนิธิเขาก็จะมีพวกหมอ ทันตแพทย์ พยาบาล ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เขาก็จะช่วยดูว่าเจลแบบนี้ใช้ได้ แบบนี้ใช้ไม่ได้

เราก็เอาสิ่งที่เขาให้ความเห็น มาปรึกษากับนักวิชาการของสถาบันเรา แล้วก็ทำสูตรอาหารเจลขึ้นมา ซึ่งเจลลี่โภชนาสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยต่างๆ ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยอัมพาต โรคในช่องปาก โรคมะเร็งในช่องปาก คือตอนแรกเรายังไม่ได้มองกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง

แต่ที่หันมาสนใจผู้ป่วยกลุ่มนี้เพราะทราบข้อมูลว่า ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเป็นกลุ่มแรกที่มีปัญหาเรื่องการกลืนอาหาร เพราะกระบวนการรักษาโรคมะเร็งช่องปากในปัจจุบัน ต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยประสบปัญหาความพิการของอวัยวะบดเคี้ยว และมักทำให้เกิดแผลในช่องปาก รวมถึงปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลง

ปัจจัยเหล่านี้มีผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก และอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารทางสายยาง ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากมักต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น และยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตจากการที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากมักมีอาการขาดอาหาร ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับประสิทธิภาพในการรักษา

เจลลี่ที่เราผลิตขึ้นมานั้นมีลักษณะนุ่มลื่น ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและกลืนได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ และยังมีสารอาหารครบถ้วนอีกด้วย” ผู้อำนวยการสภาบันโภชนาการเล่าถึงที่มาและประโยชน์ของโครงการเจลลี่โภชนา

หลากหลายรสชาติ จากพระอัจฉริยภาพ

ทั้งนี้เจลลี่โภชนาเป็นอาหารเจลที่ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบการฆ่าเชื้อในระบบยูเอชที (Ultra Heat Treatment) และบรรจุในกล่องปลอดเชื้อที่สามารถเปิดบริโภคได้ง่าย มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม โดยสัดส่วนของพลังงานที่ได้มีทั้งจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน นอกจากนี้ ยังมีโปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีอายุการเก็บรักษายาวนานถึง 1 ปี

อีกทั้งยังมีรสชาติที่หลากหลายถึง 9 รสชาติ ทั้งในรูปอาหารคาวและหวาน เช่น ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ข้าวหอมมะลิ ข้าวมันไก่ มะม่วง ชานม ลิ้นจี่ แต่รสชาติที่จะถูกนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยทั่วประเทศนั้นมีเพียง 2 รสชาติ คือรสมะม่วงและรสชานม โดยมีการผลิตเป็นล็อตใหญ่ในจำนวนถึง 840,000 กล่อง เพื่อเฉลิมเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา และจนถึงปัจจุบันทางสถาบันโภชนาการก็ได้ผลิตและแจกจ่ายเจลโภชนาการให้แก่ผู้ป่วยไปแล้วกว่า 900,000 กล่อง

“จริงๆแล้ว เราผลิตออกมาทั้งหมด 8-9 รสชาติ ทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ก็เสวย คือพระองค์ทรงมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหารเหมือนกัน เพราะทรงเสวยพระโอสถโรคหัวใจเยอะ สูตรที่ทำถวายพระองค์ท่านนั้น เราผลิตออกมาไม่มาก ไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม พระองค์เสวยแล้วก็ทรงมีพระราชวินิจฉัย

พระองค์ตรัสว่า “รสต้มยำกุ้งเนี่ยฉันชอบมาก” แต่รสก๋วยเตี๋ยวไก่พระองค์ไม่โปรด ตรัสว่าน่าจะทำรสข้าวมันไก่ดีไหม เจลข้าวมันไก่มันจะได้หอมขึ้นหน่อย เราก็นำมาผลิตตามที่พระองค์พระราชทานคำแนะนำ ที่สำคัญพระองค์พระราชทานข้อคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยว่า “จำไว้นะ เวลาทำอาหารให้คนป่วย เรื่องรสชาติเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเขาป่วยด้านร่างกายแล้ว จิตใจต้องดี ถ้าเราทำอาหารที่ไม่อร่อยไปให้ จิตใจเขาจะแย่ มันเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย” จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงพระอัจฉริยภาพมาก ขนาดตอนนั้นทรงประชวรอยู่นะ แล้วพระองค์ก็ทรงห่วงใยผู้ป่วยมากด้วย

นอกจากนั้น พระองค์ก็ตรัสในเรื่องบรรจุภัณฑ์ว่า กล่องที่นำมาให้ทอดพระเนตรนั้น มีลักษณะคล้ายกล่องนม ถ้าในอนาคตมีการนำไปจำหน่ายในศูนย์การค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต คนซื้อก็จะต้องเขย่าซึ่งทำให้เจลแตก แล้วไม่มีใครอยากกิน พระองค์จึงตรัสถามว่า “ใส่กระป๋องได้ไหม”

เราก็ทูลว่าผลิตภัณฑ์นี้ใส่กระป๋องไม่ได้ พระองค์จึงได้พระราชทานคำแนะนำว่า “เอาอย่างนี้สิ ทำฉลากเป็นแนวนอน พอกล่องเป็นแนวนอนคนก็จะไม่เขย่า” เราก็ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์มาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่” รศ.ดร.วิสิฐ กล่าวถึงพระอัจฉริยภาพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เดินหน้า “โครงการน้ำลายเทียม”

ล่าสุด สถาบันโภชนาการยังได้ทำ 'โครงการน้ำลายเทียม' ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกโครงการหนึ่ง โดยทางสถาบันฯได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่นเคย ทั้งนี้เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำลายเทียมจากต่างประเทศที่มีราคาแพง โดยแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการผลิตน้ำลาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพในช่องปากที่ดีขึ้น

“ในหลวงทรงสนพระทัยเรื่องน้ำลายเทียมมากเช่นกัน เพราะพระองค์ก็ทรงใช้น้ำลายเทียม เนื่องจากเสวยพระโอสถรักษาโรคหัวใจ ทำให้น้ำลายแห้ง และทรงเห็นว่า ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าน้ำลายเทียมจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ป่วยที่ยากไร้ได้รับความลำบาก อีกทั้งยังมีสารกันบูด ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วย

ขณะเดียวกันก็พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาต่อมผลิตน้ำลายไม่สามารถผลิตน้ำลายได้ เนื่องจากผลกระทบจากโรคมะเร็งช่องปาก โรคเกี่ยวกับหลอดคอ กล่องเสียง และการกินยารักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ทำให้ต่อมน้ำลายถูกทำลาย ทำให้น้ำลายแห้ง จึงจำเป็นต้องใช้น้ำลายเทียม ซึ่งหากคนไข้ไม่มีน้ำลาย จะกลืนอาหารลำบาก แสบคอ พูดไม่ชัด และทรมานมาก

พระองค์จึงทรงรับสั่งให้สถาบันฯศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตน้ำลายเทียม ทางสถาบันฯก็รับสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่งตอนนี้เราได้ทำการวิจัยและสามารถผลิตน้ำลายเทียมออกมาเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นน้ำลายเทียมที่ไม่มีสารกันบูด และมีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศมาก คือขนาดหลอด 60 ซีซี ต้นทุนอยู่ที่ 20 บาทเท่านั้น

เราได้ทดลองใช้กับคนไข้ ก็ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากทางมูลนิธิฯให้ผลิตออกมาเป็นล็อตใหญ่เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยต่อไป” ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการพูดถึงความคืบหน้าในโครงการผลิตน้ำลายเทียม

ปลาบปลื้มใจที่ได้ถวายงาน

รศ.ดร.วิสิฐ บอกว่า ทั้งตัวเขาและทีมงานประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ ต่างก็รู้สึกปลาบปลื้มใจและภาคภูมิใจที่ได้สนองงานรับใช้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการดังกล่าว เพราะนอกจากคนไทยตัวเล็กๆอย่างเขาจะสามารถแบ่งเบาพระราชภาระของพระองค์ท่านได้บ้างแล้ว เขายังได้ทดแทนคุณแผ่นดินตามที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆอีกด้วย

“คือหลังจากผมเรียนจบปริญญาตรี ด้านฟูดซายน์ หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ผมก็ทำงานอยู่ 2 ปี จากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกด้านฟูดซายน์ ที่ Oregon State University สหรัฐอเมริกา กลับมาก็มาทำงานที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็อยู่ที่นี่มาตลอด

เพราะผมมองว่า งานวิจัยตรงนี้มันสามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้มากกว่าการเป็นนักวิจัยในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถช่วยให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโภชนาการที่ดีขึ้นได้

และการที่ได้มาทำโครงการด้านโภชนาการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ถือว่าเป็นความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้ ถึงผมจะไม่ได้ทำงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ท่านมากนัก เพียงแค่มีโอกาสไปเข้าเฝ้าทูลถวายรายงาน ในฐานะที่เป็นนักวิจัยที่ทำโครงการนี้ ก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว ซึ่งพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับโภชนาการของคนไทยมาก

โดยเฉพาะโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงเน้นเรื่องการทำเกษตรที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนนั้น ถือว่าส่งผลดีต่อสุขภาพและโภชนาการของประชากรโดยตรง

ซึ่งความพอมีพอกินและการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายนั้นเป็นผลดีต่อโภชนาการ พระองค์จึงอยากให้คนไทยปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่ง พระองค์จะไม่ตามอย่างตะวันตกอย่างเดียว ทั้งๆที่พระองค์ทรงเจริญพระชันษาในประเทศตะวันตก แต่พระองค์ทรงนำองค์ความรู้ของตะวันตกมาผสมผสานกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่แบบไทยๆ

โดยเรื่องโภชนาการนั้น ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านคงได้รับความรู้ตรงนี้จากสมเด็จย่า เพราะสมเด็จย่าทรงเป็นอดีตพยาบาล นอกจากนั้น พระองค์ก็ทรงถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปยังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย แม้แต่ตัวผมและทีมงานของสถาบันโภชนการ ในหลวงก็ทรงพระเมตตา พระราชทานคำชี้แนะเรื่องต่างๆให้มากมาย

ดังนั้น การที่ผมได้สนองงานรับใช้พระองค์ท่าน ถือว่าเป็นบุญของชีวิตแล้วครับ” รศ.ดร.วิสิฐ กล่าวตบท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความปลื้มปีติ

ใครบ้างที่ได้รับประโยชน์จาก “เจลลี่โภชนา”

อาหารพระราชทาน “เจลลี่โภชนา” เป็นอาหารที่คนทั่วไปรับประทานได้เช่นกัน นอกจากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ยังมีประชากรกลุ่มอื่นๆ อีกที่สามารถจะรับประทานเจลลี่โภชนาได้ เช่น

- ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่มีฟันบดเคี้ยว
- ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งกล้ามเนื้อบดเคี้ยวทำงานไม่ดี
- ผู้ป่วยผ่าตัดขากรรไกร ซึ่งจะไม่สามารถอ้าปากได้ปกติ
- ผู้ป่วยระหว่างรับการรักษาทันตกรรมจัดฟัน หรือรักษารากฟันที่เคี้ยวไม่ได้ เนื่องจากเจ็บฟัน
- ผู้ป่วยที่เป็นแผลในปาก ผู้ที่เป็นหวัดแล้วเจ็บคอ และผู้ป่วยที่สูญเสียฟัน

มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชั้น 11 อาคารทันตแพทย์ศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 0-2218-9025-7

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 999 พุทธมณฑล สาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170 โทร. 0-2800-2380

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย กฤตสอร)






ต้นแบบผลิตภัณฑ์น้าลายเทียมชนิดเจลกลิ่นมินต์-มะนาว
ต้นแบบผลิตภัณฑ์น้าลายเทียมชนิดเจลกลิ่นสตรอว์เบอร์รี่
กำลังโหลดความคิดเห็น