xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พม่า : ขุดพบซากวัดโบราณ ใกล้สถูปพระบรมอัฐิอดีตกษัตริย์ไทย
พม่าขุดพบซากวัดโบราณ ใกล้สถูปพระบรมอัฐิอดีตกษัตริย์ไทย

พม่า : เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักโบราณคดี 100 คน ที่เข้าขุดสำรวจบริเวณสุสานล้านช้างอมรปุระ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2013 เผยว่า ได้ขุดพบซากวัดโบราณใกล้องค์สถูปที่เชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อดีตพระมหากษัตริย์ไทย

มิคกี้ ฮาร์ท นักประวัติศาสตร์หัวหน้าทีมสำรวจ เผยว่า พบอุโบสถที่มีฐานรากกว้าง 18 เมตร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดขนาดราว 5 เอเคอร์ (12.5 ไร่) ซึ่งยังไม่อาจระบุแน่ชัดว่า เป็นวัดพม่าหรือวัดไทย แต่เมื่อดูจากทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้สถูปพระบรมอัฐิของกษัตริย์ไทยแล้ว จึงน่าจะเป็นวัดไทย

ตามประวัติศาสตร์พม่า พระเจ้ามังระ กษัตริย์แห่งราชวงค์อลองพญา ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 1767 ได้กวาดต้อนผู้คนรวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นทรงอยู่ในเพศบรรพชิต เป็นเชลยศึกกลับไปยังพม่า และให้ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆเมืองมัณฑะเลย์ ต่อมาในปี 1796 พระองค์เสด็จสวรรคต และพระบรมอัฐิถูกบรรจุในสถูป ณ สุสานล้านช้าง

ทั้งนี้ ทีมสำรวจมีโครงการที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น ณ สุสานล้านช้าง เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของคนไทยที่ถูกต้อนไปเป็นเชลยศึกในช่วงศตวรรษที่ 18

(จาก Irrawaddy)

“ฉือจี้” จัดส่งห้องเรียนชั่วคราว ช่วยเหยื่อภัยพิบัติในฟิลิปปินส์

ไต้หวัน : มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ได้จัดส่งห้องเรียนชั่วคราวจำนวน 160 หลัง ไปยังหมู่เกาะวิซายาส์ และซัมโบนกา ในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (โยลันดา) ซึ่งพัดเข้าถล่มเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2013 และสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมโหฬาร เนื่องจากเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดของโลกในปี 2013

ห้องเรียนชั่วคราวดังกล่าว ประกอบขึ้นในไต้หวัน โดยเหล่าอาสาสมัครฉือจี้นับร้อยคน สามารถรองรับนักเรียนได้ห้องละ 75 คน และยังใช้เป็นสถานที่หลบภัยชั่วคราวได้ด้วย

พร้อมกันนี้ ทางมูลนิธิฯได้จัดส่งผ้าห่มและข้าวพร้อมรับประทานไปช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติในจังหวัดเลย์เต

(จาก Tzu Chi Foundation)

จีนสร้างสนามบินใกล้ภูพุทธศักดิ์สิทธิ์ “อู่ไถซาน”

จีน : เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 รัฐบาลท้องถิ่นจีนเปิดเผยว่า กำลังก่อสร้างสนามบินขึ้นที่อู่ไถซาน ในมณฑลซานซี ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่พุทธคีรีศักดิ์สิทธิ์ของจีน

สนามบินดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากบริเวณภูพุทธศักดิ์สิทธิ์ 71 กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 900 ล้านหยวน (ราว 4,500 ล้านบาท) ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารขนาด 13,000 ตร.ม. ประตูเข้าออกเครื่องบิน 5 ทาง รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 35,000 คนต่อปี

โดยคาดว่า การก่อสร้างส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2014 และจะเริ่มเปิดให้บริการได้ก่อนสิ้นปี 2015 ซึ่งจะมีเที่ยวบินตรงจากเมืองใหญ่ๆ อาทิ เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เฉิงตู และคุนหมิง

อนึ่ง ในปี 2009 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน “อู่ไถซาน” เป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของวัดพุทธโบราณราว 50 แห่ง ซึ่งสร้างในช่วงศตวรรษที่ 1 ถึงต้นศตวรรษที่ 20

(จาก CCTV)

ทั่วโลกรณรงค์สัก “สวัสติกะ” ฟรี เพื่อคงความหมายเดิม “สันติสุขและความดีงาม”

ออสเตรเลีย : เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 ร้านสักกว่า 120 แห่งทั่วโลก พร้อมใจกันให้บริการสักสัญลักษณ์ “สวัสติกะ” ฟรี เพื่อร่วมรณรงค์ “Learn to Love the Swastika” หรือ “เรียนรู้ที่จะรัก สวัสติกะ”

ปีเตอร์ แมดเซน นักออกแบบรอยสักแห่งร้าน Meatshop ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เล่าว่า เขาต้องหยุดรับลูกค้าหลายสิบคนที่เข้าคิวสักฟรี หลังจากทางร้านรับได้เพียง 54 คน และต้องเซ็นข้อตกลงว่า การสัก “สวัสติกะ” นี้ มิใช่เพื่อแสดงตนเป็น “นีโอนาซี” (ลัทธิที่เคลื่อนไหวเพื่อฟื้นคืนลัทธินาซี)

เป้าหมายของการรณรงค์ คือ การนำสัญลักษณ์ “สวัสติกะ” ที่ถูกพรรคนาซีนำไปใช้จนเสื่อมเสีย คืนสู่ความหมายที่แท้จริง คือ เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติสุขและความดีงาม ซึ่งถูกใช้กันมานานหลายพันปีในประเทศอินเดีย

หลายประเทศในยุโรปสั่งห้ามใช้เครื่องหมายนี้ เนื่องจากเป็นการแสดงความเกลียดชัง รวมถึงการที่ลัทธินีโอนาซีและพวกเหยียดเชื้อชาติได้นำสัญลักษณ์นี้ไปใช้ แม้ว่าในสังคมพุทธและฮินดูจะใช้เป็นตัวแทนของสันติสุขและความรักก็ตาม

อย่างไรก็ดี การรณรงค์ครั้งนี้ถูกประนามจากชุมชนชาวยิว “ฟินน์ ชวอร์ซ” ซึ่งเป็นประธานชุมชนชาวยิวแห่งกรุงโคเปนเฮเกน บอกว่า “ผมเชื่อว่า สัญลักษณ์นี้เคยมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อนาซีนำมาใช้จนเสื่อมเสีย จึงไม่อาจชำระล้างให้สะอาดได้”

ขณะที่แมดเซนกล่าวว่า เขาน้อมรับคำวิจารณ์ แต่ใครก็ตามที่สักเครื่องหมายนี้เพราะเป็นนีโอนาซี และคิดว่ามันคือสัญลักษณ์การเหยียดเชื้อชาตินั้น ก็มิอาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขากำลังโชว์สัญลักษณ์บนกายที่ต้องการให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าเดิม

(จาก News.com.au)

2 นักวิชาการพุทธศาสนาชาวสหรัฐฯ ใช้เวลากว่า 10 ปี ทำพจนานุกรมพุทธ

สหรัฐอเมริกา : เป็นเวลาราว 12 ปีที่นักวิชาการพุทธศาสนา 2 คน คือ โรเบิรต์ อี บัซเวล จูเนียร์ ศาสตราจารย์ด้านพุทธศึกษา และผู้อำนวยการศูนย์พุทธศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส และโดนัลด์ เอส โลเปซ จูเนียร์ ศาสตราจารย์ด้านพุทธและทิเบตศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ร่วมกันจัดทำพจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับพรินซ์ตัน ที่มีความน่าเชื่อถือและมีการอ้างอิงมากที่สุดเท่าที่เคยจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ

โลเปซ กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนามีมายาวนาน ครอบคลุมหลายภูมิภาค และมีเนื้อหามากมายมหาศาล ซึ่งไม่มีนักวิชาการคนใดสามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน ความสนใจในปรัชญาพุทธและวิธีปฏิบัติกำลังเพิ่มขึ้นทั่วทุกมุมโลก เป้าหมายของเราคือ การนำข้อมูลทางพุทธศาสนาที่เชื่อถือได้ มารวบรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงกลายมาเป็นพจนานุกรมเล่มนี้”

พจนานุกรมฉบับนี้อธิบาย คำสำคัญ คำสั่งสอน การปฏิบัติ ต้นฉบับ ผู้ประพันธ์ เทพเจ้า และนิกายต่างๆในพุทธศาสนา จากภาษาหลัก 6 ภาษา ได้แก่ สันสกฤต บาลี ทิเบต จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมถึงคำเฉพาะที่ใช้ในภาษาพม่า เขมร ลาว มองโกเลีย เนปาล สิงหล ไทย และเวียดนาม

โดยบรรจุคำเรียงตามอักษรทั้งสิ้น 1.2 ล้านคำ และใช้ระบบสารานุกรม ที่มีข้อความสั้นๆเพื่อบอกความหมายและความสำคัญเพิ่มเติม ซึ่งพจนานุกรมทั่วไปไม่มี พร้อมบันทึกช่วงประวัติศาสตร์ของเอเชีย (จักรวรรดิ์ ราชวงค์ ราชอาณาจักร) และลำดับเหตุการณ์ทางพุทธศาสนาในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงศตวรรษที่ 20

ภายในเล่ม มีแผนที่ 6 ฉบับที่แสดงถึงอาณาเขตของพุทธศาสนา และเมือง วัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญๆ เส้นทางแสวงบุญในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และทิเบต รวมถึงภาคผนวกเรื่องตัวเลขสำคัญๆในพุทธศาสนา เช่น พระรัตนตรัย อริยสัจ 4 เป็นต้น ความหนารวม 1,304 หน้า จำหน่ายในราคา 65 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,000 บาท)

(จาก Buddhistartnews)

วัดญี่ปุ่นเปิดให้ชมสมบัติแห่งชาติ

ญี่ปุ่น : เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2013 วัดชิโอนิน เมืองเกียวโต ซึ่งเป็นวัดหลักของนิกายโจโด (สุขาวดี) นิกายสำคัญของพุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่น ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสมบัติแห่งชาติในยามค่ำคืน อาทิ พระพุทธรูป พระอรหันต์ 16 รูป ภาพวาดต่างๆ โดยเฉพาะภาพวาดบนเพดาน ซึ่งวาดโดยเหล่าศิลปินคาโนะ (สไตล์การวาดรูปที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น) ที่มีชื่อเสียง

วัดชิโอนินเป็นวัดโบราณ สร้างในศตวรรษที่ 13 ส่วนบริเวณที่เปิดให้เข้าชมนั้น สร้างในปี 1621 ซึ่งได้ติดตั้งไฟส่องสว่าง เพื่อให้นักท่องเที่ยวแลเห็นความงดงามทั่วบริเวณ

การเปิดให้สาธารณชนเข้าชมมรดกทางวัฒนธรรมนี้ ถือเป็นวาระพิเศษ เนื่องจากปกติทางวัดไม่ได้เปิดให้ชม

(จาก The Asahi Shimbun)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย เภตรา)
ไต้หวัน : “ฉือจี้” จัดส่งห้องเรียนชั่วคราว ช่วยเหยื่อภัยพิบัติในฟิลิปปินส์
จีน : สร้างสนามบินใกล้ภูพุทธศักดิ์สิทธิ์ “อู่ไถซาน”
ออสเตรเลีย : ทั่วโลกรณรงค์สัก “สวัสติกะ” ฟรี เพื่อคงความหมายเดิม “สันติสุขและความดีงาม”
ออสเตรเลีย : ทั่วโลกรณรงค์สัก “สวัสติกะ” ฟรี เพื่อคงความหมายเดิม “สันติสุขและความดีงาม”
สหรัฐอเมริกา : 2 นักวิชาการพุทธศาสนาชาวสหรัฐฯ ใช้เวลากว่า 10 ปี ทำพจนานุกรมพุทธ
ญี่ปุ่น : วัดญี่ปุ่นเปิดให้ชมสมบัติแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น