xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เพื่อนรังแก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


(บรรยากาศการจราจร สองพ่อลูกนั่งรถกำลังจะกลับบ้าน)

พ่อ : ทำไมหมู่นี้ลูกถึงหิวซ่กทุกเย็นเลย เหมือนคนไม่ได้กินข้าวกลางวัน

ลูก : (พูดทั้งขนมเต็มปาก) กินครับพ่อ แต่มันยังหิวอยู่

พ่อ : เมื่อกลางวันลูกกินอะไร?

ลูก : เอ่อ กิน กินก๋วยเตี๋ยวครับพ่อ (น้ำเสียงมีพิรุธ)

พ่อ : ไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อฟังหน่อยเหรอ?

ลูก : ไม่มีอะไรนี่ครับ ไม่มี

พ่อ : ผื่อพ่อจะช่วยอะไรได้บ้าง

ลูก : คือ (ถอนหายใจ) พี่ป.หกเขาเอาเงินไปหมด ขู่ไม่ให้ผมบอกใคร ไม่งั้นจะอัดผมให้น่วมเลย

พ่อ : โดนขู่แบบนี้ กลัวมั้ยลูก?

ลูก : กลัวครับ

พ่อ : ฟังดูก็น่ากลัวนะ แล้วลูกจะทำยังไงต่อไปดี?

ลูก : ก็น่าจะบอกครูนะครับ แต่ผมไม่กล้า

พ่อ : พ่อเห็นด้วยนะที่ลูกจะเล่าความจริงให้ครูฟังว่าเกิดอะไรขึ้น

ลูก : ถ้าพี่เขารู้ ผมแย่แน่เลย

พ่อ : ถ้าเราไม่บอกครู แล้วยอมไปเรื่อยๆ โดนรังแกไม่เลิก ลูกคิดว่าจะทนได้มั้ย?

ลูก : (เงียบ) งั้นพรุ่งนี้ผมจะไปเล่าให้ครูฟัง

พ่อ : พ่อรู้ว่ามันยากที่จะไม่กลัว แต่ลูกก็กล้าตัดสินใจที่จะไม่ยอมให้พี่เขารังแกต่อไป และพ่อก็ดีใจนะที่เวลามีเรื่องไม่สบายใจลูกก็เล่าให้พ่อฟัง

หมอเหมียวชวนคุย

เมื่อลูกเกิดปัญหา การรับฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เข้าใจความรู้สึกของลูกและช่วยแก้ไขได้นะคะ ควรสอบถามความรู้สึกของลูกมากกว่าที่จะรีบให้คำแนะนำสั่งสอน เพราะเด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจและจะหันกลับมาปรึกษาเมื่อมีปัญหาอีกค่ะ

เมื่อลูกถูกเพื่อนรังแก

เมื่อเด็กถูกเพื่อนรังแก เด็กบางคนอาจจะมีทางออกในการจัดการกับปัญหานี้ได้ดี แต่เด็กอีกหลายคนยอมจำทนต่อการถูกรังแกเพราะความกลัว ชีวิตในโรงเรียนจึงเต็มไปด้วยความเครียด กดดัน ความทุกข์ใจ เมื่อถูกรังแกอย่างหนักจนเด็กทนไม่ไหว เด็กจึงใช้การตอบโต้ด้วยด้วยความรุนแรงเพื่อระบายความคับแค้น ซึ่งเห็นเป็นข่าวสะเทือนขวัญที่เด็กนักเรียนฆ่ากันในโรงเรียน เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยมีตัวเลขระบุว่า มีนักเรียนกว่า 40% ที่เคยถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายกันด้วยการพูดล้อเลียน รองลงมาเป็นการดูถูกเรื่องผิวพรรณ เชื้อชาติ การคุกคามทางเพศ การแย่งเงินแย่งของตามลำดับ (โครงการโรงเรียนปลอดความรุนแรง ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เด็กต้องการความช่วยเหลือเมื่อโดนรังแก เด็กหลายคนไม่กล้าบอกพ่อแม่บอกครูเพราะกลัวจะโดนทำร้ายมากขึ้นไปอีก หากพ่อแม่ทราบเรื่อง ควรเข้าช่วยเหลือเด็กให้มีทางออก เด็กไม่ควรต้องยอมทนต่อการถูกรังแกจนอาจเครียดและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง

เมื่อลูกถูกเพื่อนรังแก พ่อแม่ควรทำอย่างไร

• สอบถามข้อมูลจากลูกให้แน่ชัด ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรมีท่าทีตำหนิติเตียนลูก หรือแสดงอารมณ์ขุ่นเคืองที่ลูกอ่อนแอ ยอมให้เพื่อนรังแก ควรซักถามด้วยความเข้าอกเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กและพ่อแม่จะช่วยให้ลูกไว้วางใจในการเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟัง

• แจ้งครูหรือทางโรงเรียนให้ทราบเรื่อง เพื่อให้ครูและโรงเรียนเข้าแก้ไขปัญหา หรือวางระเบียบเพื่อป้องกันการทำร้ายรังแกกันในโรงเรียน

• สอนทักษะให้ลูกในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับการถูกรังแก เช่น ทักษะการปฏิเสธ การฝึกให้มีบุคลิกที่มีความเชื่อมั่น มีศิลปะการพูดตอบโต้ ทักษะการป้องกันตัว การเลี่ยงปัญหาอย่างฉลาด เช่น การไม่อยู่คนเดียว เดินเลี่ยง ไม่แข็งขืนเมื่อพบว่าผู้รังแกแข็งแรงกว่า

• พ่อแม่ควรมีเหตุผลที่ดีๆที่จะพูดให้ลูกละจากความกลัว ให้ลูกรู้สึกเข้มแข็งและพร้อมที่จะลุกขึ้นปกป้องตนเอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาการถูกรังแก

นับวันปัญหาการรังแกกัน การทำร้ายกันในโรงเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดกับลูกของตน แต่ก็ต้องทำใจว่าลูกอาจเจอสถานการณ์เพื่อนรังแก ยิ่งถ้าลูกมีบุคลิกภาพที่จะเป็นชนวนให้เพื่อนพูดจาล้อเลียน หรือทำร้ายรังแก เช่น อ้วนมาก พูดติดอ่าง พิการ เป็นเด็กพิเศษ ขี้แง ไม่มั่นใจในตัวเอง เรียนอ่อน ฯลฯ พ่อแม่ก็ต้องช่วยฝึกทักษะด้านต่างๆเพื่อให้ลูกมีวิธีในการรับมืออย่างมั่นใจ ฝึกมองโลกในแง่บวกและส่งเสริมให้ลูกเห็นศักยภาพและความดีในตนเอง แม้ลูกอาจไม่เจอปัญหาการรังแกแต่ทักษะเหล่านี้ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่ลูกจะใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมั่นใจ

ควรทำ

• การรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ ถามถึงความรู้สึก ความคิดของเด็ก ให้เวลา ท่าทีเป็นมิตร ไม่ตำหนิ บรรยากาศไม่กดดัน ไม่ชี้แนะ หรือสั่งสอน ไม่ดุว่าและท่าทีที่พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา จะช่วยให้เด็กมีกำลังใจในการเปิดเผยความคับแค้นหรือปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดปัญหาซ้ำอีก เด็กจะกล้าพอที่จะเข้ามาเล่าเรื่องต่างๆให้พ่อแม่รับรู้

• ช่วยกระตุ้นให้เด็กหัดคิดวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ และผลดีผลเสียที่จะเกิดตามมา พร้อมหัดผสมผสานความคิดที่หลากหลายจนได้ความคิดที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา

• การตัดสินใจในระยะแรกของการฝึกอาจจะไม่ค่อยดีนัก แต่ฝึกฝนบ่อยๆสุดท้ายก็เก่งขึ้น รอบคอบขึ้น แม้เด็กอาจตัดสินใจผิดพลาดบ้าง....ก็ยังดีกว่าเด็กที่ไม่ยอมตัดสินใจเลย

• เด็กที่มีลักษณะพิเศษมักเป็นที่ล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย เช่น ร้องไห้เก่ง ไม่มั่นใจตนเอง ช่วยตัวเองไม่ได้ อยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน ร่างกายพิการ ตาเหล่ ใส่แว่น ฟันกระต่าย อ่านหนังสือไม่ออก โดนครูดุบ่อยๆ

• แต่เด็กที่มีทักษะพิเศษ มักไม่ค่อยถูกล้อเลียนหรือถูกเพื่อนแกล้ง เช่น เพื่อนเยอะ มีภาวะผู้นำ มั่นใจตนเอง แก้ปัญหาเก่ง ช่วยตัวเองได้ มองโลกแง่ดี ร่าเริง

ไม่ควรทำ

• การที่พ่อแม่ด่วนสรุป สั่งสอน ดุว่า บอกทางออกให้เด็กทำตาม นอกจากเด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจความรู้สึกแล้ว ยังจะทำให้เกิดการต่อต้านอีกด้วย

ารที่พ่อแม่ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาให้เด็ก เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด แต่จะไม่ช่วยให้เด็กได้หัดคิด หัดตัดสินใจ เด็กจะเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการที่พ่อแม่อดทนคุยเพื่อให้เด็กได้คิด ไตร่ตรอง และตัดสินใจเลือกวิธีการในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

* หัวใจการเลี้ยงดู

เมื่อเด็กถูกรังแก พ่อแม่ ครู โรงเรียน ควรให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เด็กไม่ตกอยู่ในภาวะความกลัวจากการถูกรังแก

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น