ลูกชาย : พ่อครับ ผมอยากรื้อดูว่าข้างในหุ่นยนต์มันทำงานยังไง?
แม่ :โอ๊ย! ไม่ได้หรอกจ้ะ รื้อแล้วลูกจะต่อกลับให้เหมือนเดิมได้เหรอ?
พ่อ : ตอนเด็กๆ พ่อก็เคยรื้อนาฬิกาตั้งโต๊ะของปู่ เพราะอยากรู้ว่านาฬิกามันเดินยังไง?
ลูกชาย : เหรอครับ! แล้วเป็นไงครับพ่อ? (น้ำเสียงตื่นเต้นอยากรู้)
พ่อ : ก็โดนปู่ตีซะลายไปทั้งตัวน่ะสิ
ลูกชาย : อ้าวว! งั้นผมคงอดรื้อดูแหงๆเลย
พ่อ : ใครบอกล่ะลูก ไปหยิบกล่องเครื่องมือช่างมาได้เล้ยยยย
ลูกชาย : (น้ำเสียงดีใจสุดขีด) ขอบคุณครับพ่อ ยะฮู้วววววว (เสียงวิ่งออกไป)
แม่ : ให้ท้ายกันเข้าไป ( บ่นอย่างเคืองๆ)
พ่อ : เขาเรียกส่งเสริมความฉลาดให้ลูกต่างหากล่ะแม่ คิดดูนะ เด็กคนอื่นๆอาจแค่สนุกที่ได้เล่นหุ่นยนต์ตัวนี้ แต่ลูกเราคิดต่อไปว่าไอ้หุ่นยนต์เนี่ยทำงานยังไง ตรงนี้แหละสำคัญที่พ่อจะไม่ปล่อยให้ความสงสัยอยากรู้ของลูกผ่านไปเพราะกลัวว่าหุ่นยนต์นี่จะพัง
แม่ : แต่ตัวนึงตั้งหลายร้อย (บ่นอุบอิบ)
พ่อ : เทียบไม่ได้กับประสบการณ์อันมีค่าและแรงบันดาลใจที่ลูกเราจะได้รับนะแม่
ลูกชาย : เครื่องมือมาแล้วครับ (เสียงวิ่งเข้ามา)
พ่อ : รื้อดูข้างในแล้ว เราต้องต่อมันกลับให้เหมือนเดิมด้วยนะลูก
ลูกชาย : ครับพ่อ
พ่อ : สบายใจได้แล้วนะจ๊ะแม่
หมอเหมียวชวนคุย
ความสงสัยอยากรู้ของเด็กเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี เพราะเด็กมีความสนใจ พ่อแม่หรือครูควรตอบสนองความใฝ่รู้ขอลูกอย่างเหมาะสม โดยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด ในบรรยากาศที่สนุก และมีความรับผิดชอบในการประกอบกลับคืนให้ได้อย่างเดิมค่ะ
ประตูการเรียนรู้
ช่วงวัย 0– 6 ปี ถือเป็นช่วงทองของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่สมองพัฒนาสูงสุด เท่ากับประตูการเรียนรู้ของเด็กได้เปิดออกแล้ว การเลี้ยงดูและการให้การศึกษาที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ครบทุกด้าน จะทำให้เซลล์สมองแตกแขนงเชื่อมกันเป็นเครือข่าย เกิดความสามารถในการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาความฉลาดในเด็กต่อไป ช่วงนี้จึงเป็นช่วงสำคัญที่สุดเพราะเป็นช่วงพัฒนาพื้นฐานการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง พลาดการเลี้ยงดูที่ดีในช่วงนี้ จะมาซ่อมกันตอนโตก็ต้องบอกว่า ซ่อมยาก! ถ้าพื้นฐานช่วงวัยอนุบาลไม่ดี ก็จะมีปัญหาต่อการเรียนในช่วงประถม และถ้าการเรียนช่วงประถมไม่ดี ไม่ได้แก้ไขก็จะส่งผลไปชั้นมัธยม และสืบเนื่องขึ้นไป เมื่อประตูการเรียนรู้ปิดไปแล้ว การจะส่งเสริมความฉลาดให้ลูกก็ทำได้ยาก
ประตูการเรียนรู้ของเด็กมีหลายบาน การเปิดออกขึ้นอยู่กับช่วงวัย พัฒนาการ และจังหวะเวลา ตัวอย่างเช่น เมื่อประตูการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการทางเพศของเด็กเล็กเปิดออก เด็กจะส่งสัญญาณมากับคำถามที่สงสัยเกี่ยวกับที่มาของตนเองว่า “หนูมาจากไหน?” และ “หนูมาได้ยังไง?” หรือการงอกของฟันแท้ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า เด็กค่อยๆมีความพร้อมในการดูแลตนเองได้มากขึ้น การมีประจำเดือนของเด็กหญิง การฝันเปียกของเด็กชาย ถ้าพ่อแม่พูดคุยให้ความรู้กับลูกเหมาะแก่เวลา เด็กก็จะพัฒนาตนเองได้เองได้เต็มที่
ความสนใจใคร่รู้ก็เป็นประตูการเรียนรู้ที่สำคัญอีกบานหนึ่ง ณ ขณะที่เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องใด เด็กจะกระตือรือร้นสูง มีแรงขับจากภายในที่จะหาคำตอบเพื่อคลายความสงสัย ช่วงนี้เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด หากเด็กได้รับการตอบสนองด้วยการเรียนการสอนที่ดี ได้เห็นของจริง ได้ลงมือทำ วิธีการเรียนรู้ที่สนุก บรรยากาศผ่อนคลาย สมองจะทำงานได้อย่างเต็มที่ เด็กจะจดจำและเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง
ควรทำ
• การสอนที่ได้ผลที่สุด คือ สอนในช่วงที่เด็กอยากรู้อยากเห็นมากที่สุด ภายใต้บรรยากาศสนุกๆ
• การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็กว่าหุ่นยนต์ทำงานได้อย่างไร มีได้หลายวิธี เช่น
- รื้อดูรายละเอียด
- ศึกษารายละเอียดการประกอบหุ่นยนต์และการติดตั้งเครื่องยนต์ภายในจากหนังสือ
- ไปดูงานโรงงานประกอบหุ่นยนต์
- ดูสารคดีเรื่องหุ่นยนต์และวิวัฒนาการ
- เข้ากิจกรรมของชมรมหุ่นยนต์Robot หรือเข้าดูงานประกวดหุ่นยนต์ในระดับโรงเรียน ระดับประเทศ ระดับโลก
• ของเล่น เป็นสื่อที่พ่อแม่จะใช้สอนได้หลายเรื่อง เช่น
- การถอดชิ้นส่วนและประกอบกลับให้เข้าที่
- ความรับผิดชอบในการเก็บให้เป็นระเบียบ ทำให้เมื่อจะเล่นใหม่ชิ้นส่วนก็ยังอยู่ครบ
การรักษาเวลา โดยให้เล่นในเวลาที่เหมาะสม และเมื่อถึงเวลาที่
- ต้องหยุดเล่นก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำใจ
- การถนอม เก็บรักษา ซึ่งจะสอนได้ดีถ้าพ่อแม่ไม่ให้ของเล่นเด็กมากเกินความจำเป็น
- ใช้เป็นรางวัล เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีได้เพิ่มขึ้น
- ใช้กระตุ้นความคิด สร้างจินตนาการ
ฯลฯ
• กำหนดว่าความสามารถของเด็กวัยนี้น่าจะเรียนรู้ในขอบเขตขนาดไหนจึงจะเหมาะสม เช่น จะให้รื้อของเล่นออกมาในปริมาณใด ที่เด็กจะสามารถเก็บของเล่นได้หมด หรือจะให้รื้อหุ่นยนต์ออกมาในปริมาณเท่าใด ที่เด็กจะสามารถประกอบกลับคืนเข้าที่ได้อย่างเดิม
• การเล่นหรือการทำกิจกรรมใดๆ จะต้องมาคู่กับความรับผิดชอบและความประหยัด คุ้มค่า มิใช่ให้เล่นเลยเถิดจนของเล่นหายหมด หรือรื้อหุ่นยนต์จนกลายเป็นเศษขยะ ไม่สามารถเล่นต่อได้
* หัวใจการเลี้ยงดู
เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีความอยากรู้ อยู่ในบรรยากาศสนุกและผ่อนคลาย
จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)