(ดนตรีชวนฝัน ภาพในความคิดฝันของเด็ก)
พ่อ : สอบได้ที่โหล่อีกแล้วเหรอลูก ไม่เป็นไร ถึงจะได้ที่โหล่แต่ก็ไม่เคยสอบตกนี่นะ
ลูก : ผมขอโทษครับพ่อ ผมจะพยายามให้มากกว่านี้
พ่อ : สู้ๆลูก พรุ่งนี้ต้องไปประกวดแข่งขันวาดภาพใช่ไหม?
ลูก : ผมจะเอารางวัลมาให้พ่อให้ได้ครับ
พ่อ : เต็มที่นะลูก พ่อจะเอาใจช่วย
ลูก : ผมรักพ่อครับ
(ดนตรีชวนฝันสะดุดกึก เข้าสู่ความเป็นจริง เสียงพ่อดังแหลมขึ้นมาด้วยความโกรธ)
พ่อ : นี่แกนั่งฝันหวานอะไรอยู่ฮึ!
ลูก : อุ๊ยพ่อ! (ตกใจ)
พ่อ : มัวนั่งตาลอยยิ้มไปยิ้มมา ส่วนฉันเนี่ยยิ้มไม่ออกแล้ว เรียนประสาอะไรได้ที่โหล่ทุกเทอม มีบ้างมั้ยที่แก จะเรียนเก่งให้พ่อภูมิใจอย่างน้องแกบ้าง โอย! คิดแล้วเครียด!
ลูก : พรุ่งนี้ผมจะไปแข่งขันประกวดวาดภาพ ผมจะเอารางวัลมาให้พ่อครับ
พ่อ : อ๋อ ไอ้เนี่ยเหรอที่แกคิดว่าฉันจะภูมิใจ ดีล่ะ ฉันจะไปบอกครูว่าฉันไม่อนุญาตให้แกไปประกวดแล้ว
ลูก : แล้วครูเขาจะว่ายังไง
พ่อ : ฉันไม่สน ฉันจะไม่ยอมให้แกเสียเวลากับไอ้การวาดรูปบ้าๆนี่อีก แกต้องหันมาเอาดีเรื่องเรียนจริงๆจังๆ ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปแกต้องเรียนพิเศษทุกเย็น เสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียน ห้ามวาดรูปจนกว่าจะสอบเข้าม.1ได้
ลูก : พ่อครับ!
พ่อ : เงียบเดี๋ยวนี้นะ!!
หมอเหมียวชวนคุย
เด็กแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้หลายๆด้านและส่งเสริมให้เกิดเป็นความสามารถติดตัว ไม่ควรเน้นเรื่องผลสำเร็จมากกว่าความสุขและทักษะในการเรียนรู้ที่มากขึ้น
ความฉลาดมีหลายด้าน
เด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกันไป โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ผู้บุกเบิกทฤษฎีพหุปัญญา บอกว่าเชาว์ปัญญาหรือความฉลาดของคนมีหลายด้าน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความฉลาดแคบๆอย่างที่คิดและเชื่อกันมา 2 ด้าน คือ ความฉลาดทางด้านภาษา และความฉลาดทางด้านคณิตศาสต ในปี ค.ศ. 1983 เขาได้เขียนหนังสือชื่อ “Frames of Mind : The Theory of Multiple Intelligences” หรือ ทฤษฎีพหุปัญญา นำเสนอความคิดว่าแต่ละคนมีเชาว์ปัญญา 8 ด้านติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด มากน้อยไม่เท่ากัน แต่ถ้าได้รับการเลี้ยงดูส่งเสริมอย่างถูกต้องและหลากหลาย ก็จะสามารถพัฒนาความฉลาดในแต่ละด้านได้ ทั้ง 8 ด้านประกอบด้วย
1. เชาวน์ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) มีความสามารถในการใช้ภาษาทั้งการอ่าน การเขียน การพูด
2. เชาว์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logical Mathematical Intelligence) จะมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ การคิด วิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผล
3. สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) มีความสามารถด้านศิลปะ การคิดเป็นภาพ การเห็นรายละเอียด การใช้สี การสร้างสรรค์งานต่างๆ
4. เชาวน์ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) จะมีความสามารถด้านดนตรี เสียง จังหวะ การร้องเพลง
5. เชาวน์ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily-Kinesthetic Intelligence) มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การกีฬา การแสดง การเต้นรำ ฯลฯ
6. เชาวน์ปัญญาด้านการสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence) มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีศิลปะในการจัดการปัญหาและเข้าใจผู้อื่น
7. เชาว์ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) เข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมตนเอง
8. ชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) มีความสามารถด้านธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อมรอบตัว สนใจสัตว์และชอบเลี้ยงสัตว์
แนวคิดของการ์ดเนอร์ ช่วยเปิดให้เราเห็นและเข้าใจอัจฉริยภาพของมนุษย์ในมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นจากเดิม เด็กที่มีแววความถนัดด้านดนตรี ศิลปะ ธรรมชาติ กีฬา รู้จักและเข้าใจตนเอง และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็เป็นความฉลาดที่ทัดเทียมกัน การจัดการศึกษาสำหรับเด็กจึงควรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาให้ทำงานสมดุล ช่วยในการพัฒนาเชาวน์ปัญญาของเด็กอย่างรอบด้าน ส่งเสริมความสามารถเฉพาะตัว เด็กจึงจะพัฒนาตนเองได้อย่างฉลาด มีความสุข มีความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง
ควรทำ
• พ่อแม่ควรยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน บางคนถนัดบางด้าน บางคนถนัดหลายด้าน บางคนไม่ถนัดอะไรเลยแต่ก็ยังเป็นเด็กดี ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ พ่อแม่ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมความถนัดในเด็ก หรือการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเด็ก จะช่วยให้เด็กรู้สึกดีต่อตัวเอง และมีความสุขในการเรียน
• ความเก่งมีหลายด้าน เช่น การเรียน กีฬา สังคม ดนตรี ศิลปะ การเดินทาง การใช้ภาษา การแก้ปัญหา การดูแลต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์ การทำอาหาร/ขนม การเย็บปักถักร้อย การใช้ความคิด ฯลฯ พ่อแม่ที่สายตากว้างไกลจึงไม่ควรส่งเสริมความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
• เมื่อมีคนได้ที่ 1 ก็ต้องมีคนได้ที่โหล่เช่นกัน เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะสอบได้ดีๆทุกครั้ง ควรฝึกเด็กให้เรียนรู้การทำใจกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และสามารถหาแนวทางในการพัฒนาตนเอง เพื่อป้องกันมิให้พบกับความผิดหวังแบบเดิม
• เมื่อเผชิญกับความผิดหวัง ระยะแรกเด็กต้องการความรัก ความเข้าใจ คนช่วยเกื้อหนุน คนร่วมคิดเพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออก ฝึกฝนในลักษณะนี้บ่อยๆ สุดท้ายเด็กก็สามารถเผชิญกับความผิดหวัง และแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง
• การฝึกให้เด็กหัดคิดแนวทางการแก้ปัญหาหลายๆแนวทางหลายๆรูปแบบ ฝึกหัดทำงานหลายๆประเภท จะช่วยให้เด็กสามารถเผชิญกับปัญหาในชีวิตได้โดยใช้ทางออกที่เหมาะสม
• การพูดคุยเพื่อถามความต้องการที่แท้จริงในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เวลาเสียใจ ผิดหวัง สอบตก ทำผิด ทำแก้วแตก ลืมทำงานที่พ่อแม่สั่ง เวลาที่ทำผิดกติกา เป็นต้น จะช่วยทำให้พ่อแม่เข้าใจความต้องการและตอบสนองได้ตรงและเหมาะสม
* หัวใจการเลี้ยงดู
เด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน พ่อแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกได้พัฒนาความถนัดของตน
จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)