xs
xsm
sm
md
lg

กฎแห่งกรรม : เสียงหมู ส่งกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องกฎแห่งกรรมที่ผู้เขียนจะบอกเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ได้รับฟังมาจากเพื่อนเมื่อหลายปีก่อน เพื่อนบอกว่า เป็นเรื่องที่ลุงของเขาประสบมาด้วยตาตนเอง และนำมาเล่าให้ฟัง

เพื่อนของผู้เขียนเล่าว่า “ลุงชัย” ทำงานเป็นลูกจ้างเลี้ยงหมูที่ฟาร์มเลี้ยงหมูแห่งหนึ่ง ซึ่งมี “เฮียกุ่ย” เป็นเจ้าของ เฮียกุ่ยเป็นคนรูปร่างท้วม ใจดี พูดคุยเก่ง และหัวเราะเสียงดัง ในฟาร์มเล็กๆของเฮียกุ่ยมีคนทำงานอยู่ 3-4 คน รวมทั้งลุงชัยด้วย

เฮียกุ่ยเป็นโสด ไม่ได้แต่งงาน แกรับกิจการฟาร์มหมูมาจากพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะแกเป็นลูกคนเดียว เฮียกุ่ยเคยไปหลงรักสาวคนหนึ่ง แต่ผู้หญิงไม่ชอบแก เพราะไม่อยากมาใช้ชีวิตอยู่กับคนเลี้ยงหมู ตั้งแต่นั้นมาเฮียกุ่ยก็ไม่สนใจสาวคนไหนอีกเลย เอาแต่ทำงานทั้งวัน แกจึงครองความเป็นโสดมาตลอด

ทุกครั้งที่ไปส่งหมูที่โรงเชือด เฮียกุ่ยจะเป็นคนขับรถไปเอง พร้อมกับลุงชัย กิจการของเฮียกุ่ยไปได้ด้วยดี หมูที่ขายก็ได้ราคา เฮียกุ่ยจึงมักจะแต๊ะเอียอย่างงามให้คนงานทุกตรุษจีน เงินที่ได้มาแกก็เอาไปปลูกบ้านหลังใหญ่ขึ้น และซื้อทองเก็บไว้ รวมทั้งซื้อลูกหมูมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ทำให้แกมีเงินเพิ่มขึ้นด้วย

แต่ในช่วงหลังๆที่เศรษฐกิจไม่ดี และยังมีเรื่องไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ทำให้หมูในฟาร์มแกล้มตายไปหลายตัว เฮียกุ่ยกลุ้มใจมาก เพราะหมูที่แกมีอยู่นั้นยังไม่โตพอที่จะขายได้ ต้องรออีกหลายเดือน

ขณะที่หมูยังขายไม่ได้ แต่ก็มีรายจ่ายทุกวัน ไหนจะค่าอาหารหมูที่แพงขึ้น ค่าแรงลูกจ้าง ค่ายาที่ต้องฉีดให้หมู เฮียกุ่ยจึงต้องเอาเงินทองที่เก็บไว้มาใช้ไปพลางๆ

เฮียกุ่ยนั่งคิดนอนคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะลดค่าใช้จ่าย แต่ให้ขายหมูได้ราคาดีขึ้น เพราะถ้าซื้ออาหารดีๆมาให้หมูกินมากๆก็จะสิ้นเปลือง เพราะเมื่อหักค่าขายหมูได้ ก็จะเหลือกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในที่สุด เฮียกุ่ยก็คิดออก แกจึงรีบไปที่เล้าหมูก่อนที่จะถึงเวลาให้อาหาร แกสั่งให้คนงานจับหมูให้แน่น ส่วนแกงัดปากหมูขึ้น แล้วจัดแจงเอาสายยางที่สูบน้ำจากบ่อน้ำที่ใช้ทำความสะอาดคอกหมู กรอกเข้าไปในปากหมู จนหมูดิ้นพล่าน จากนั้นแกก็สั่งให้คนงานเฝ้าสังเกตหมูตัวนี้ว่า กินอาหารมากน้อยแค่ไหน

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป คนงานก็มารายงานว่า หมูตัวที่โดนกรอกน้ำ กินอาหารน้อยมาก เฮียกุ่ยได้ฟังแล้วก็ยิ้มด้วยความดีใจ ตั้งแต่นั้นมาแกก็ใช้วิธีนี้กับหมูทุกตัว ทำวันเว้นวัน ซึ่งก็ช่วยให้แกประหยัดค่าอาหารหมูลงได้บ้าง

แต่ในช่วงที่หมูโตได้ที่ สามารถจะขายได้แล้ว เฮียกุ่ยจึงโทรบอกเฮียเม้งพ่อค้ารับซื้อ ซึ่งนัดกันว่าจะมาหาแกในวันรุ่งขึ้น ด้วยความโลภที่อยากขายหมูได้ราคาดี เช้ามืดของวันรุ่งขึ้น เฮียกุ่ยจึงสั่งให้คนงานแยกหมูที่เตรียมจะขายออกมารวมกันไว้ในคอกหนึ่ง ชั่งน้ำหนักหมูทุกตัวจนเสร็จเรียบร้อย จากนั้นแกก็ใช้วิธีการเดิมคือ ใช้สายยางกรอกน้ำเข้าปากหมู แต่คราวนี้แกกรอกน้ำมากกว่าที่เคยทำ เพราะหวังว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มน้ำหนักหมู

เมื่อเฮียเม้งมาถึง เฮียกุ่ยก็สั่งคนงานต้อนหมูไปชั่งน้ำหนัก ซึ่งก็ปรากฏว่า ได้น้ำหนักโดยรวมแล้วเพิ่มขึ้น ทำให้แกขายได้ราคาดีกว่าเดิม นั่นหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้น

ลุงชัยเคยเตือนเฮียกุ่ยว่า

“เถ้าแก่..ทำอย่างนี้มันทรมานสัตว์เกินไป และก็เป็นการโกงผู้อื่นด้วย ถ้าคนรับซื้อรู้เข้าเขาจะว่าเอาได้ เดี๋ยวจะไม่ซื้อหมูของเราอีก เราทำเหมือนอย่างที่เคยทำดีกว่านะ”

แต่เฮียกุ่ยไม่สนใจคำเตือนของลุงชัย แถมยังบอกว่า

“อาชัย..ถ้าอั๊วไม่ทำอย่างนี้ อั๊วก็ไม่มีเงินมาจ่ายเงินเดือนพวกลื้อหรอก ลื้อเห็นมั้ย หมูได้ราคาดี แล้วยังลดต้นทุนได้ด้วย ถ้าลื้อไม่อยากทำ อั๊วก็จะทำเอง”

เฮียกุ่ยนั่งยิ้มนอนยิ้มดีใจมากที่ความคิดของแกประสบผลสำเร็จ ดังนั้น แกจึงใช้วิธีนี้เรื่อยมา แต่ในระยะหลังๆ เฮียเม้งที่เคยมาซื้อหมูของแก เห็นว่าหมูที่ซื้อไปไม่ค่อยมีคุณภาพ จึงเลิกซื้อ ทำให้เฮียกุ่ยต้องดิ้นรนติดต่อกับพ่อค้ารายใหม่

แต่เฮียกุ่ยก็ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ ในการค้าขายกับ “เฮียย้ง” พ่อค้าคนใหม่ ซึ่งแรกๆก็เป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ไม่นานเฮียย้งก็บอกเลิกซื้อหมูกับเฮียกุ่ย เพราะหมูไม่มีคุณภาพสมราคา

แม้จะถูกพ่อค้ารับซื้อหมูทั้งสองคนปฏิเสธ แต่เฮียกุ่ยก็ยังหาคนมาซื้อหมูได้เรื่อยๆ และแกก็ทำกับพ่อค้าหมูรายอื่นๆเหมือนที่ทำกับเฮียเม้งและเฮียย้ง จนกระทั่งในที่สุด ก็ไม่มีใครอยากซื้อหมูของแกอีก

เฮียกุ่ยกลุ้มใจมาก เพราะแกเอาเงินไปลงทุนซื้อหมูมาเพิ่มอีกหลายสิบตัว แต่กลับขายไม่ได้ แกกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเดือน

วันหนึ่งเฮียกุ่ยก็มาปรับทุกข์กับลุงชัยว่า “อาชัย..มันเป็นอย่างที่ลื้อว่าจริงๆ ตอนนี้ไม่มีใครอยากซื้อหมูของอั๊วแล้ว อั๊วจะเลิกอาชีพนี้ แล้วก็จะยกหมูทั้งหมดให้ลื้อ เป็นการตอบแทนที่ลื้ออยู่กับอั๊วมานาน ลื้อจะเลี้ยงต่อหรือเอาไปขายที่ไหนก็แล้วแต่ลื้อ”

ตั้งแต่นั้นมาลุงชัยก็รับกิจการเลี้ยงหมูต่อจากเฮียกุ่ย แต่ลุงชัยไม่ใช้วิธีที่เฮียกุ่ยทำ แกทำตามที่เคยทำๆกันมา รวมทั้งการไปขอเศษอาหารที่เหลือจากชาวบ้านมาให้หมูกินด้วย ทำให้หมูของแกอ้วนท้วนแข็งแรง เนื้อแน่น และเมื่อแกเอาไปขายให้กับเขียงหมูในตลาด ก็ได้ราคาดี พ่อค้าเขียงหมูจึงกลายมาเป็นขาประจำซื้อหมูของลุงชัย

เงินที่ได้มานั้น ลุงชัยได้แบ่งส่วนหนึ่งให้กับเฮียกุ่ยทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นผู้มีพระคุณที่ให้อาชีพนี้กับแก และยังให้แกได้อยู่อาศัยร่วมบ้านอีกด้วย

หลายปีผ่านไป กิจการของลุงชัยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่เฮียกุ่ยเริ่มมีปัญหาสุขภาพ

วันหนึ่งหลังจากเฮียกุ่ยกินอาหารเช้าเสร็จ ก็มานั่งเล่นพักผ่อนอยู่ที่ชานหน้าบ้าน สักพักแกก็รู้สึกปวดท้อง แน่นท้องขึ้นมา ปวดจนร้องโอดโอย

ลุงชัยซึ่งกำลังจะออกไปที่เล้าหมูเห็นดังนั้น ก็รีบไปหายามาให้เฮียกุ่ยทาท้อง แล้วให้แกนอนพัก เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง เฮียกุ่ยลืมตาขึ้นมาก็รู้สึกปวดท้องอีก นอนร้องโอดโอย สองมือกุมท้องไว้แน่น

เมื่อลุงชัยเห็นสภาพของเฮียกุ่ย จึงรีบพาแกไปโรงพยาบาล หมอสั่งให้ส่งไปเอกซเรย์โดยด่วน แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ ดังนั้น หมอจึงจ่ายยาแล้วให้กลับบ้าน

อาการปวดท้องของเฮียกุ่ย เป็นๆหายๆนานนับปี แกตระเวนไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ จนหมดเงินทองไปมากมาย แต่หมอก็ไม่รู้ว่าโรคที่แกเป็นอยู่นี้ เป็นโรคอะไรกันแน่ จึงรักษาไม่หายขาด เพียงแค่ทุเลาลงบ้างเท่านั้น

เฮียกุ่ยต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับอาการปวดท้องแน่นท้อง ที่ไม่มีใครช่วยแกได้ และที่น่าแปลกก็คือ ท้องของแกขยายโตขึ้นเรื่อยๆ มือเท้าบวม และตัวของแกก็หมุนไปหมุนมา ร้องหิว และขอน้ำกินตลอดเวลา

ลุงชัยขนลุกซู่ เมื่อเห็นสภาพที่น่าเวทนาของเฮียกุ่ย แล้วนึกถึงสิ่งที่แกเคยทำไว้กับหมู!!


แล้ววาระสุดท้ายของเฮียกุ่ยก็มาถึง วันนั้นเป็นวันพระที่จะไม่มีการขายหมูให้โรงฆ่า ลุงชัยจึงไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหมูทุกตัว

เมื่อกลับมาบ้าน ลุงชัยก็ได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของเฮียกุ่ย แกจึงเตรียมจะพาเฮียกุ่ยไปโรงพยาบาล แต่เฮียกุ่ยไม่ยอม และร้องเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ เสียงที่ออกจากปากแกนั้นเป็นเสียงโหยหวนที่แสดงถึงความเจ็บปวด ปนกับเสียงร้องอู้ดๆอี๊ดๆ ซึ่งเป็นเสียงของหมู!!

เฮียกุ่ยทั้งดิ้นทั้งร้องจนเสียงแหบแห้ง และหมดแรงดิ้น ในที่สุดก็ขาดใจตายไปต่อหน้าของลุงชัย เป็นภาพที่ตอกย้ำให้ลุงชัยเชื่อว่า เป็นเพราะกรรมที่ลุงกุ่ยทำไว้กับหมูนั่นเอง

ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์จริงเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม เขียนเล่ามาเป็นธรรมทานในการเตือนสติแก่เพื่อนร่วมโลกให้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ และตั้งอยู่ในความดีงามตลอดไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 แพรว บ้านแพ้ว)

กำลังโหลดความคิดเห็น