xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใช้น้ำยาบ้วนปากนานๆ..อันตราย

หลายคนมักใช้น้ำยาบ้วนปากหลังแปรงฟันทุกครั้ง เพื่อให้ช่องปากจะสะอาด ลมหายใจหอมสดชื่น

แต่รู้หรือไม่ว่า น้ำยาบ้วนปากนั้นช่วยลดกลิ่นปากได้แค่ 3 ชั่วโมง และทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้สำหรับคนที่สุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุง่าย เป็นโรคเหงือก เป็นต้น ส่วนคนที่ไม่มีปัญหาในช่องปาก ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะการใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้ช่องปากเสียสมดุล อาจเกิดเชื้อราเป็นอันตรายต่อช่องปาก จนก่อให้เกิดโรคทางช่องปากได้ เพราะในน้ำยาบ้วนปากมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ

ดังนั้น ถ้าอยากให้เกิดความมั่นใจในการพูดคุยสนทนา ก็ควรใช้เป็นครั้งคราว แต่ทางที่ดีควรป้องกันกลิ่นปากด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำความสะอาดฝ้าขาวบนลิ้น การใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน และการแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 นาที

เกษียณจากงานส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ

แม้ว่าการเกษียณอายุจากงานประจำ จะทำให้สบาย แต่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพ

เพราะงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่โดยสถาบันด้านเศรษฐกิจ(IEA)ของอังกฤษ พบว่า การเกษียณอายุจากการทำงาน ส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพกายและใจทั้งในระยะกลางและยาว

โดยระบุว่า คนที่เพิ่งเกษียณจากงานใหม่ๆ จะมีสุขภาพดีขึ้นทันที แต่จะเริ่มแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป และจะเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าถึง 40% และเจ็บป่วยทางกายถึง 60% รวมถึงโอกาสเจ็บป่วยจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากมีเวลาหลังเกษียณยาวนาน ซึ่งผลเสียนี้เกิดขึ้นทั้งในเพศชายและหญิง

ผู้อำนวยการ IEA แนะนำว่า รัฐบาลควรยกเลิกกฎเกษียณอายุ เพื่อให้คนทำงานได้นานขึ้น พร้อมทั้งได้แนะนำให้คนที่เกษียณแล้ว หางานเล็กๆน้อยๆทำต่อไป เพราะไม่เพียงช่วยให้สุขภาพกายใจดี แต่รวมถึงสถานะการเงินที่ดีด้วย

ตะลึง.. “เท้า” แหล่งรวมเชื้อราเกือบ 200 ชนิด

หน้าฝนนี้ ใครที่มักเดินลุยน้ำท่วม น้ำขังอยู่ตามพื้น ต้องระวังล้างเท้าให้สะอาด เพราะทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยพันธุกรรมมนุษย์แห่งชาติ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า มีเชื้อราเกือบ 200 ชนิดบริเวณเท้า มากกว่าส่วนอื่นๆตามร่างกายคน ซึ่งนับเป็นการวิเคราะห์เชื้อราตามร่างกายมนุษย์ที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

โดยศึกษาในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี 10 คน จัดลำดับดีเอ็นเอของเชื้อราที่อยู่ตามผิวหนังและส่วนอื่นๆของร่างกาย ด้วยการนำตัวอย่างเชื้อราจากหลังหู ซอกนิ้ว แผ่นหลัง เล็บเท้า ขาหนีบ หน้าอก แขนช่วงล่าง รูจมูก ส้นเท้า และฝ่ามือ พบว่า ร่างกายคนส่วนที่มีเชื้อรามากที่สุดคือส้นเท้า ซึ่งมีเชื้อราต่างๆ 80 ชนิด ตามด้วยเล็บเท้า มีเชื้อรา 60 ชนิด และนิ้วเท้า มีเชื้อรา 40 ชนิด ขณะที่บริเวณศีรษะ มีเชื้อราน้อยที่สุดเพียง 10 ชนิด

ในบรรดาเชื้อราทั้งหมด มีชนิดของเชื้อราเพียงครึ่งหนึ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งมักอาศัยตามบริเวณผิวหนังและอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ติดเชื้อได้

โยคะ ไทเก๊ก ทำสมาธิ ช่วยลดความถี่ปวดไมเกรน

ผู้ป่วยไมเกรนจำนวนมากหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เพราะการออกแรงมากอาจเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม มีการออกกำลังกายบางอย่างที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยไมเกรน นักวิจัยจากสถาบัน Sahlgrenska มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ได้พัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายที่ช่วยให้ผู้ป่วยไมเกรนออกกำลังได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ไปกระตุ้นอาการไมเกรนให้เกิดขึ้น

ดร.ชีเลอร์ ผู้วิจัยเรื่องนี้เชื่อว่า การออกกำลังกายสามารถป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนได้ โดยแนะนำให้เล่นโยคะ มวยไทเก๊ก หรือบริหารกายและจิตใจ เพราะมีผลพิสูจน์แล้วว่า การเล่นโยคะและทำสมาธิช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน

เทคนิคการเลือกซื้อผักที่สดใหม่

การเลือกซื้อผักนั้น ความสดของผักเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการรับประทานผักที่มีความสดใหม่จะได้คุณค่ามากกว่าผักที่เริ่มเหี่ยวแห้ง

วิธีการเลือกซื้อผักที่ยังสดใหม่และมีคุณภาพดี คือ สังเกตบริเวณก้านใบ ก้านดอกหรือโคนต้น ต้องไม่มีสีขาวหรือสีเทา เพราะเป็นสีของเชื้อรา สำหรับผักที่ทานใบ ใบต้องสด ไม่แห้ง ช้ำ เหลือง หรือมีราขึ้น ผักควรมีใบติดแน่นกับโคนต้น ผักที่ทานผล เช่น มะเขือ แตงกวา ให้เลือกที่ขั้วติดแน่น สีสดใหม่ ผิวตึง ไม่แห้ง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป และควรซื้อผักตามฤดูกาลจะได้ผักคุณภาพดี ราคาถูก

ใช้สมาร์ทโฟนบนเตียง อาจทำให้นอนไม่หลับ

เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่หันมาใช้สมาร์ทโฟน เพราะสะดวก ถือง่าย ใช้ที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งบนเตียงนอน

ดร.โลอิส คราห์น จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับแห่งเมโยคลินิก เมืองสกอตส์เดล รัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา บอกว่า การใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตบนเตียงนอน อาจทำให้นอนไม่หลับ เพราะไดโอดเปล่งแสงจ้าบนหน้าจอที่ช่วยให้ผู้ใช้มองเห็นได้ในห้องสลัวๆ จะรบกวนการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นตามธรรมชาติ

โดยทีมนักวิจัยได้ทดลองนำแท็บเล็ต 2 เครื่อง และสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง วางในห้องมืด ใช้มิเตอร์ที่มีความไวสูงสุดคอยวัดแสงสว่างที่อุปกรณ์เหล่านี้ปล่อยออกมา ขณะอยู่ห่างจากใบหน้าผู้ใช้ในระดับต่างๆกัน พบว่า เมื่อความสว่างอยู่ในระดับต่ำ และอุปกรณ์อยู่ห่างจากใบหน้าผู้ใช้เกิน 1 ฟุต จะลดความเสี่ยงที่แสงสว่างจะหยุดยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินและทำให้นอนไม่หลับ

นักวิจัยแนะนำว่า หากต้องการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตบนเตียงนอน ให้ลดความสว่างบนหน้าจอลง และถืออุปกรณ์ห่างจากใบหน้าอย่างน้อย 14 นิ้วขณะใช้งาน ก็จะช่วยลดการรบกวนระดับฮอร์โมนเมลาโทนินและการนอนหลับได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย ธาราทิพย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น