xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

สังขตลักษณะ

สังขตธรรมดังที่กล่าวมานี้ ย่นลงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเหตุเป็นผล

สิ่งที่เรียกว่าเหตุว่าผลทั้งสิ้นนั้นย่อมเป็นสังขตธรรมทั้งนั้น เพราะต้องปรุงแต่ง ต้องทำเหตุนั้น ต้องปรุงแต่งทำโดยตรง ผลนั้นเป็นผลของเหตุ แต่ก็นับว่าเป็นสังขตธรรมด้วย เพราะเนื่องกับเหตุที่ปรุงแต่งหรือธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น สังขตธรรมทั้งหมดจึงเป็นเหตุและผลซึ่งต้องเกิดต้องดับ เพราะเมื่อเป็นสังขตธรรมหรือเป็นสังขารต้องตกอยู่ในสามัญลักษณะ คือลักษณะที่เป็นสามัญทั่วไปของสิ่งที่ถูกปรุงแต่งทั้งปวง อันได้แก่

อุปฺปาโท ปัญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ
วีโย ปัญฺญายาติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ
ฐีตสฺส อญฺญถตฺตํ ปัญฺญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ความปรวนแปรเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นปรากฏ

เพราะฉะนั้น บรรดาสังขตธรรมทั้งสิ้น ตลอดจนถึงมรรคมีองค์แปด จึงเป็นสิ่งที่ต้องตกในสังขตลักษณะดังกล่าวหรือย่นลงก็คือ ต้องเกิดดับ

ในข้อนี้จะพึงได้ดังตัวอย่างที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงอิทธิบาทสี่ขึ้นมา อิทธิบาทสี่นั้นก็ได้แก่ธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จสี่ประการ

หนึ่ง ฉันทะ ความพอใจใคร่ที่จะทำ
สอง วิริยะ ความเพียร
สาม จิตตะ ความใส่ใจหรือความเอาใจใส่
สี่ วิมังสา ความใคร่ครวญพิจารณา

ท่านพระอานนท์แสดงว่า อิทธิบาทสี่นี้เป็นธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ เมื่อบรรลุถึงความสำเร็จแล้วก็ดับ ท่านยกตัวอย่างว่า เหมือนอย่างว่า

ผู้ที่มาสู่อารามนี้ ก่อนที่จะมาก็ต้องมีฉันทะที่จะมา มีวิริยะที่จะมา มีจิตตะที่จะมา มีวิมังสาที่จะมา และก็อาศัยอิทธิบาทสี่นี้มา ครั้นมาถึงอารามแล้ว ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นั้นก็ดับคือเสร็จกิจไป เป็นอันว่าดับไปเลิกไปดังนี้

ฉะนั้น บรรดาสังขตธรรมทั้งสิ้นจึงมีเกิด มีดับ ด้วยประการฉะนี้ และเมื่อเรียกว่าเหตุผล เหตุผลทั้งปวงก็เป็นสังขตธรรม คือเป็นสิ่งที่เกิดที่ดับ

อสังขตธรรมหรือวิสังขาร

ส่วนอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งนั้น ก็หมายถึงที่พ้นจากสังขตธรรมดังกล่าว หรือที่พ้นจากมรรคมีองค์แปดดังกล่าว อันเป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องปรุงแต่งไม่ต้องทำ ไม่ต้องปฏิบัติ

ธรรมที่เป็นอสังขตธรรมนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งเรียกว่า นิพพาน ในที่นี้ แต่ว่านักวิจารณ์ธรรมได้วิจารณ์ว่า จะไม่หมายถึงนิพพานอย่างเดียว ก็เพราะว่าท่านใช้คำเป็นพหุวัจนะ คือใช้ว่าอสังขตธรรมทั้งหลาย ซึ่งหมายความว่ามีมากกว่าหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งดังกล่าวนี้จึงมีมาก และธรรมเหล่านี้จะพึงเห็นได้ดังตัวอย่างที่เคยแสดงในครั้งก่อนๆแล้ว โดยเทียบกับภูมิประเทศ เช่นว่า การมาสู่อารามนี้

การมานั้นเป็นสังขตธรรม คือผู้มานั้นต้องทำต้องปรุงต้องแต่ง ต้องอาศัย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ส่วนตัวอารามซึ่งเป็นที่มาถึงนั้น ผู้มาไม่ได้ปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นที่มาถึง เป็นที่บรรลุ

ฉะนั้น การมาก็เทียบกับสังขตธรรม อารามที่เป็นที่ถึงเป็นที่บรรลุก็เทียบกับอสังขตธรรม เพราะผู้มาได้ ได้ปรุงแต่งขึ้นมา แต่ว่าเป็นที่บรรลุเป็นที่มาถึง

ตามตัวอย่างนี้ก็อาจจะเข้าใจได้อย่างคร่าวๆว่า อสังขตธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือสังขตธรรมขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง หรือจะกล่าวว่า เป็นที่บรรลุเป็นที่ถึงของสังขตธรรมก็ได้

และเมื่อเป็นดั่งนี้ ท่านจึงได้แสดงว่าอสังขตธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องปรุงแต่งคือต้องทำ เหมือนอย่างเหตุ คือการมา คือต้องปรุงแต่งการมาสู่อาราม ผลคือการถึง

เหตุและผลคือการมาและการถึง ส่วนตัวอารามเองเป็นที่ถึงที่บรรลุนั้นอยู่เหนือเหตุผลดังกล่าว

เพราะฉะนั้น ท่านผู้วิจารณ์ธรรมจึงได้กล่าวว่า ธรรมนั้นเป็นธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลขั้นหนึ่ง และเป็นธรรมที่อยู่เหนือเหตุผลอีกขั้นหนึ่ง ก็โดยอธิบายดังกล่าว และเมื่อทราบแล้วก็อาจจะพอเข้าใจในเนื้อความที่กล่าวนี้ได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น