xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : ปัญจขันธ์ สมุนไพรอมตะ ต้านโรคร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ่ยชื่อสมุนไพร “ปัญจขันธ์” มักไม่เป็นที่รู้จัก แต่หากเป็น “เจียวกู่หลาน” หลายคนบอกว่าเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าดีอย่างไร

ปัญจขันธ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าGynostemma pentaphyllum Makino. ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Miracle grass (หญ้ามหัศจรรย์) มีชื่อจีนว่า เจียวกู่หลาน เซียนเฉ่า (สมุนไพรอมตะ) และมีชื่อญี่ปุ่นว่า อะมาซาซูรู (ชาหวานจากเถา) เป็นไม้เถาล้มลุก ลำต้นเล็กเรียวยาว เลื้อยไปตามพื้นหรือสิ่งยึดเกาะ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ขอบใบหยัก มีใบย่อย 5 ใบ ดอกเล็ก มีสีเหลืองปนเขียว ผลมีขนาดเล็กคล้ายพวงองุ่น ผลดิบจะมีสีเขียว แต่เมื่อสุกจะมีสีดำ

ในประเทศจีนมีการใช้เจียวกู่หลานมานานแล้ว เพื่อรักษาโรคหลอดลมเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแข็งตัว ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ช่วยในการนอนหลับ ลดอาการตื่นเต้น ลดโคเลสเตอรอล ควบคุมเบาหวาน ชะลอความชรา ยืดอายุเซลล์ รักษาอาการปวดหัวข้างเดียว และควบคุมการแพร่ของเซลล์มะเร็ง โดยนิยมนำต้นส่วนเหนือดินและใบมารับประทานเป็นอาหาร และใช้เป็นชาชง ต่อมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบต่างๆ

และจากการที่จีนได้ศึกษาวิจัยประสิทธิผลของเจียวกู่หลานต่อระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัด และได้รับเคมีบำบัด รวมทั้งฉายแสง พบว่า กลุ่มผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งช้ากว่า และมีอายุยืนกว่า

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนิยมนำสมุนไพรปัญจขันธ์เป็นยาที่ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้อักเสบ บำรุงกำลังและเป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลัง รวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แก้ผมหงอก ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

ในประเทศไทยนั้น สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาวิจัยสมุนไพรเจียวกู่หลาน พบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 protease สารสกัดเอทานอลปัญจขันธ์มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับ ต้านการสะสมของไขมันในตับ และต้านการเกิดอนุมูลอิสระ

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการวิจัย พบว่า ปัญจขันธ์ มีสารต้านอนุมูลอิสระถึง 3 ชนิด ด้วยกัน คือ เควอซิติน (Quercetin) เคมเฟอรอล (Kaempferol) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งสารเหล่านี้ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวายเฉียบพลัน รวมทั้งสามารถเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยบำรุงร่างกายได้

จากข้อมูลการวิจัยของนักวิจัยชาวจีนและญี่ปุ่นพบว่า ปัญจขันธ์มีสารสำคัญอยู่หลายชนิด เรียกกันทั่วไปว่า จิปพีโนไซด์ (Gypenosides) ฤทธิ์ของสารจิปพีโนไซด์ ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับไขมันในเลือด เสริมภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิด ยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด ต้านอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดพิษต่อตับ

ต่อมาได้มีการวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น พบว่า การรับประทานสมุนไพรปัญจขันธ์ในปริมาณมาก จะทำให้มีการเสริมสร้างและการรวมตัวของโปรตีนและกรดไขมันในตับ เสริมสร้างเซลล์ไขมันในกระดูก มีผลต่อการรักษาโรคภายในช่องอกและโรคโลหิตจาง ช่วยในการบำรุงสมอง ระงับประสาท สามารถต้านการเจริญเติบโตของโรคร้ายได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย เก้า มกรา)


กำลังโหลดความคิดเห็น