xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : 9 วิธีป้องกัน“อัลไซเมอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ จะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงสนทนาต่างๆ แต่เมื่อถามว่า อัลไซเมอร์เป็นอย่างไร อาการแบบไหน ใช่ ไม่ใช่..อัลไซเมอร์ ฯลฯ ก็มักจะเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ ดังนั้น คำอธิบายจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้น่าจะให้คำตอบกับทุกคนได้ดีที่สุด

พญ.อุมามน พวงทอง จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของกลุ่มอาการสมองเสื่อม (dementia) ในประเทศไทย มีการศึกษาถึงความชุกของภาวะสมองเสื่อม โดยพบว่า คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 75 จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2 เท่า ตามอายุของผู้ป่วยในทุกๆ 5 ปี เพศชายและเพศหญิง มีโอกาสเกิดโรคได้เท่าๆกัน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่จากการวิจัยทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมบางตัว ความผิดปกติทางชีววิทยาในสมอง คือ มีการสะสมของโบรตันอะมัยลอยด์ (Amyloid plaques) และใยโปรตีน (Neuro fibrillary tangles) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีนที่เรียกว่า เทาว์โปรตีน (tau) “Tau protein” ที่ก่อให้เกิดการพันกันยุ่งเหยิงของเซลล์ประสาท นำไปสู่การล่มสลายของโครงสร้างเครือข่ายเซลล์ประสาทในการที่จะติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน

นอกจากนั้น ปัจจัยด้านพันธุกรรมก็มีส่วนทำให้เกิดโรคด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

พันธุกรรมในโรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มอาการตั้งแต่อายุน้อย คือ โรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มแสดงอายุตั้งแต่ช่วง 40-60 ปี ซึ่งพบได้น้อยมาก มียีนที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ตัวหลัก คือ พรีซีนิลิน 1 พรีซีนิลิน 2 และอะมัยลอยด์พรีเคอร์เซอร์โปรตีน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติว่าพ่อแม่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว

ส่วนพันธุกรรมในโรคอัลไซเมอร์ที่มีอาการเมื่ออายุมาก คือยีนหลักที่เกี่ยวข้อง อะโปไลโบรโปรตีนอี ที่เชื่อว่า เป็นตัวหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ จะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดโรค แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มียีนตัวนี้ จะต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์แน่นอน

การดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ เป็นการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทอย่างช้า แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีความแตกต่างระหว่างบุคคล หมายความว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีอาการแบบเดียวกันเสมอไป อาการอาจมีการขึ้นๆลงๆได้ และการดำเนินโรคช้าเร็วต่างกันได้ ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 3-20 ปี โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 8 ปี ขึ้นกับระยะเมื่อได้รับการวินิจฉัยและภาวะสุขภาพทางกายโดยรวมของผู้ป่วยนั้นๆ ด้วย

สำหรับอาการหลักที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น เป็นอาการหลงลืมที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลงลืมเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไปจนถึงไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ นึกคำพูดหรือประโยคไม่ออก เรียกชื่อสิ่งของผิด สับสนเรื่องเวลา สถานที่ รวมถึงอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า วิตกกังวล ระแวง เห็นภาพหลอน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวัน

โดยสรุปแล้วผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความบกพร่องในด้านต่างๆ 4 ด้านหลัก ได้แก่

1. ความบกพร่องด้านความจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น คือ ความจำหลังจากรับรู้สิ่งเร้าแล้วเพื่อนำมาใช้งาน ความจำนี้จำได้นาน 20-30 วินาที ความจำระยะสั้นนี้จะสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลาจึงจะรักษาไว้ได้ ทำโดยการท่องซ้ำๆ เช่น เรากำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนเพื่อขอเบอร์ของเพื่อนอีกคน เมื่อเพื่อนบอกหมายเลขโทรศัพท์แต่เราไม่มีสมุดจด ก็ท่องไว้ในใจ และรีบวางสายเพื่อต่อสายถึงเพื่อนคนนั้น แต่ในขณะที่เรากำลังกดเบอร์โทรศัพท์นั้นอยู่ ปรากฏว่ามีใครพูดแทรกขึ้นมา หรือชวนคุย ก็อาจทำให้เราลืมหมายเลขโทรศัพท์นั้นไปได้ทั้งๆที่ยังกดหมายเลขไม่จบ

2. ความบกพร่องด้านการใช้ภาษา การใช้เหตุผล รวมถึงอาจสับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่

3. บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น มีพฤติกรรมซ้ำๆ หรือพูดซ้ำๆตลอด มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้ป่วยอาจจะจำใครไม่ได้เลย หรือจำเรื่องราวบางสิ่งได้เป็นนาที และลืมภายในไม่กี่นาที

4. ความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น การรับประทาน อาจเคี้ยวหรือกลืนอาหารเองไม่ได้ หรือการขับถ่าย รวมไปถึงเรื่องการดูแลความสะอาดของร่างกาย

ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาจทำให้ลูกหลาน คนดูแล สมาชิกในครอบครัวรู้สึกรำคาญ เหน็ดเหนื่อย ท้อใจได้ ซึ่ง พญ.อุมามน ให้คำแนะนำที่จำเป็นหลักๆ ดังนี้

• แบ่งความรับผิดชอบให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ บ้าง เรื่องการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ทั้งในด้านกำลังกาย กำลังใจ และทุนทรัพย์

• เมื่อมีปัญหาในการดูแลผู้ป่วย ควรบอกเล่าให้สมาชิกในบ้านได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ หาทางปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ป่วย ในบางครั้งถ้าปัญหามากเกินกว่าที่ผู้ดูแลจะรับมือไหว ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการร่วมปรับยา และให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย

9 วิธีป้องกัน “อัลไซเมอร์”

นอกจากนี้ ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการสมองเสื่อม ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จิตแพทย์แนะนำ 9 ข้อสำคัญ ดังนี้

1. ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมอง

2. ควรระวังเรื่องการใช้ยา ไม่ควรรับประทานยาสุ่มสี่สุ่มห้า ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาทุกครั้งและควรนำยาที่รับประทานเป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งยาซ้ำซ้อน

3. ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนศีรษะ

4. สำหรับผู้สูงอายุที่เดินลำบากควรมีคนดูแล เช่น เวลาเข้าห้องน้ำควรมีคนไปเป็นเพื่อน เพราะอาจเกิดการลื่นหกล้มหัวฟาดในห้องน้ำได้

5. เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และไม่ควรลืมเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง

6. ตรวจเช็คความดันเลือดสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมได้

7. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้สูงอายุไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดโทษได้

8. ควรหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หมั่นเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามสมควร

9. เมื่อสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการหลงๆลืมๆ มากผิดปกติ หรือมีอาการบ่งชี้อื่นๆที่น่าสงสัย ก็ควรรีบไปพบประสาทแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุทันที

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)


กำลังโหลดความคิดเห็น