เกมตู้หยอดเหรียญเป็นความบันเทิงยอดนิยมอย่างหนึ่งของนักเล่นเกมทั้งหลายและคงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย หากเราจะได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของตัวละครเกมในตู้ ซึ่งนั่นก็เป็นจินตนาการสนุกๆของภาพยนตร์แอนิเมชั่นแฝงข้อคิดดีๆจากค่ายดิสนีย์เรื่อง “Wreck-It Ralph” หรือในชื่อภาคภาษาไทยว่า “วายร้ายหัวใจฮีโร่”
หนังปูพื้นฐานให้ผู้ชมได้รู้จักกับอาณาจักรแห่งเกมตู้ ซึ่งครองความนิยมจากเหล่าคอเกมมานาน โดยหนึ่งในนั้น คือ “Fix it Felix Jr.” เกมสำหรับเด็ก กราฟฟิคธรรมดาๆ แต่ก็ยังยืนหยัดอยู่ในร้านเกมมาจนเข้าสู่ปีที่ 30
เกมนี้เล่นไม่ยาก เมื่อหยอดเหรียญเริ่มเล่น ก็จะมีตัวละครชื่อ “ราล์ฟ” บุรุษร่างใหญ่ ผู้มีท่อนแขนขนาดยักษ์ออกมาทุบทำลายตึกแห่งหนึ่งทีละชั้น ผู้เล่นเกมก็ต้องบังคับ “เฟลิกซ์” พระเอกของเกม ให้วิ่งไปซ่อมจุดต่างๆของตึก และเมื่อเฟลิกซ์ซ่อมได้ทันทุกจุด เกมจะจบลงที่ประชาชนที่อาศัยภายในตึก จะโยนร่างของราล์ฟจากดาดฟ้า ลงไปในบ่อโคลนข้างๆตึก
เกม Fix it Felix Jr. จึงดูไม่ยากว่าใครรับบทพระเอกหรือตัวร้าย ดังนั้น เมื่อได้เวลาร้านเกมตู้ปิดบริการ ชีวิตภายในเกมตู้กลายเป็นเรื่องแสนจะเหงาหงอยสำหรับราล์ฟ เพราะด้วยความที่ตนเองต้องรับบทบาทตัวร้าย ทำให้ตัวละครอื่นๆในเกมไม่เคยต้อนรับเขา แม้กระทั่งวันที่เกมครบรอบวันเกิด 30 ปี บรรดาประชาชนบนตึกได้จัดงานเฉลิมฉลองกันครึกครื้น แต่แขกที่ไม่ได้รับเชิญคือราล์ฟ ทั้งๆที่เขาก็ถือเป็นส่วนสำคัญของเกม
ราล์ฟหงุดหงิดมากที่ตนเองต้องรับบทเป็นตัวร้ายมาโดยตลอด ทำให้ตัวละครอื่นๆไม่ชอบเขา บุรุษร่างยักษ์จึงเดินไปในงานเลี้ยง หวังจะให้คนอื่นชวนกินเค้กบ้าง แต่ด้วยความโมโหฉุนเฉียว แถมยังตัวใหญ่เทอะทะ เขาก็ทำให้งานเลี้ยงนั้นกร่อย
แถมยังถูกหยามว่าไม่มีโอกาสได้ “เหรียญทอง” ซึ่งเป็นเหรียญสำหรับฮีโร่ผู้ชนะในเกม (ก็แน่ล่ะ เพราะเขารับบทเป็นตัวร้าย) จากถ้อยคำนั้นทำให้ราล์ฟประกาศกร้าวว่า จะคว้าเหรียญทองเกียรติยศมาอวดทุกคน เพื่อให้ได้รู้ว่า ตัวร้ายแบบเขาก็เก่งกาจสามารถไม่แพ้ตัวละครฝ่ายดี
จอมทุบจึงออกเดินทางไปปรับทุกข์ ถามไถ่เกมตู้แห่งอื่น ว่าเขาจะไขว่คว้าหาเหรียญทองแห่งชัยชนะได้ที่ไหนบ้าง จนกระทั่งได้ข่าวว่า ในเกมแอ็คชั่นสมัยใหม่เกมหนึ่ง ผู้ชนะที่ฟันฝ่ากองทัพแมลงต่างดาวไปจนถึงหอคอยบัญชาการด้านบน ณ ที่แห่งนั้น ก็มีเหรียญทองมอบให้สำหรับฮีโร่
ราล์ฟจึงปลอมตัวแฝงเข้าไปในเกมแอ็คชั่นแนวอวกาศสุดล้ำสมัย แต่ด้วยความทันสมัยที่เป็นคนละรูปแบบกับเกมเชยๆอย่างที่เขาเล่นมา ก็ทำให้ราล์ฟวิ่งวุ่น หนีแมลงต่างดาวเป็นพัลวัน ทำเอาตัวละครอื่นๆในเกมปั่นป่วนไม่น้อย แต่เมื่อสบโอกาส นักทุบตึกก็อาศัยความแข็งแรงของร่างกาย ปีนป่ายขึ้นไปบนศูนย์บัญชาการ และคว้าเหรียญทองแห่งชัยชนะมาได้สำเร็จ
เพียงแต่ทว่า นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายที่ตามมา เพราะแมลงต่างดาววายร้ายในเกมนั้น กระโดดมาเกาะหน้าของราล์ฟ ทำให้เขาตกลงไปในยานฉุกเฉินที่ไม่รู้วิธีบังคับ จนกระทั่งท้ายที่สุดยานลำนั้นก็แล่นฉิวทะลุข้ามไปยังเกมอีกตู้หนึ่ง คือ เกม Sugar Rush
ภายในเกม Sugar Rush ซึ่งเป็นเกมแข่งรถที่เต็มไปด้วยสีสันละลานตาของลูกกวาด อมยิ้ม ครีม และขนมหวาน ราล์ฟได้เจอกับเรื่องวุ่นๆ เมื่อสาวน้อยจอมกวนที่ชื่อ “วาเนโลปี้” พยายามจะช่วงชิงเหรียญทองจากราล์ฟ
แต่ความวุ่นวายต่างๆ ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะการที่ราล์ฟข้ามเขตออกมาจากเกมตัวเองไปที่อื่น ทำให้เมื่อถึงเวลาร้านเปิดให้บริการ เกม Fix it Felix Jr. ก็ไม่มีตัวละครชื่อราล์ฟออกมาทำลายตึกเหมือนเช่นเคย จนเจ้าของร้านคิดว่าเครื่องเสีย และปิดป้ายงดบริการเกมนี้ชั่วคราว โดยหากซ่อมไม่ได้ มันก็อาจถึงเวลาที่ต้องโละเกมนี้ทิ้ง เฟลิกซ์จึงต้องเดินทางออกไปตามหาราล์ฟ ให้กลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม
การเดินทางครั้งนี้ ทำให้เฟลิกซ์เข้าไปในเกมแอ็คชั่นล่าแมลงต่างดาว เขาได้พบกับ “สิบเอกหญิงคาลฮูน” นักล่ามือหนึ่ง ที่แจ้งข่าวร้ายให้ทราบว่า หากแมลงวายร้ายต่างดาวหลุดรอดเข้าไปในเกม Sugar Rush ได้จริงละก็ มันจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และพร้อมจู่โจมทำลายทุกสิ่งในเกมได้ภายในช่วงเวลาอันสั้น คาลฮูนกับเฟลิกซ์จึงร่วมเดินทางไปด้วยกัน โดยฝ่ายหนึ่งออกไปกำจัดแมลงวายร้าย ขณะที่อีกฝ่ายออกไปตามเพื่อนร่วมเกม
ขณะที่ราล์ฟได้ผจญภัยไปกับวาเนโลปี้ จนกระทั่งกลับมาที่เกม Fix it Felix Jr. อีกครั้ง ซึ่งเขาพบว่า เหลือเพียงความว่างเปล่า เพราะตัวละครอื่นๆพากันทำใจที่เกมอาจต้องถูกโละทิ้ง เหรียญทองที่ราล์ฟไปช่วงชิงมาได้ จึงไร้ความหมายใดในเวลานี้ แต่ในชั่ววินาทีหนึ่ง เมื่อมองไปยังตู้เกมฝั่งตรงข้าม ราล์ฟก็ล่วงรู้ความลับว่า เด็กสาวจอมกวนอย่างวาเนโลปี้ คือ ตัวเอกของเกม Sugar Rush แต่ถูกเขี่ยทิ้งด้วยการปรับเปลี่ยนโปรแกรม
ความวุ่นวายทั้งหมดจึงเป็นภารกิจที่ราล์ฟต้องกลับเข้าไปในเกม Sugar Rush เพื่อร่วมแก้ไขให้สถานการณ์อันสงบสุขกลับคืนมา ขณะเดียวกันก็มีเวลาเป็นข้อจำกัดที่จะต้องกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองให้ทัน ก่อนที่เกม Fix it Felix Jr. อาจถูกปิดไปตลอดกาล
Wreck-It Ralph เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นน่ารักๆ หากมองลึกลงไป ก็ได้แง่คิดที่สามารถใช้หลักธรรมมาอธิบายได้ไม่น้อย โดยหลักธรรมที่ฉายภาพให้เห็นชัดเจนที่สุด คือ “หลักธรรมในการทำงาน” หรือ “อิทธิบาท 4” อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
การปฏิบัติงานใดๆนั้น หากมี “ฉันทะ” หรือความพึงพอใจกับงานที่ปฏิบัติ เราย่อมมีความสุข ก็เหมือนกับราล์ฟ ที่แม้ว่าตนเองจะได้รับบทเป็นตัวร้ายก็ตาม และจากนั้น หากเกิด “วิริยะ” ความพากเพียร และเอาใจใส่รับผิดชอบต่อหน้าที่ตน คือ “จิตตะ” ก็ย่อมจะไม่ทำตัวเองให้เกิดปัญหา เพราะหลัก “วิมังสา” คือ การใช้สติปัญญา คิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล เกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานและผลลัพธ์ของงาน
เมื่อราล์ฟเกิดอาการเบื่อหน่ายกับหน้าที่และบทบาทที่เขาได้รับ ก็คล้ายกับการปราศจาก “ฉันทะ” ต่อหน้าที่การงาน ทำให้หลักอีก 3 ข้อที่เหลือก็บกพร่องตามไปด้วย เกิดการละทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบ จนทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนไปตามๆกัน
บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการที่เหล่าตัวละครในเกม Fix it Felix Jr. ต่างคิดและปฏิบัติต่อกันในรูปแบบใหม่ ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และขณะเดียวกันก็เผื่อแผ่ความรักความปรารถนาดีให้แก่กัน โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนทำให้ท้ายที่สุดเกมนี้ (ซึ่งก็เปรียบได้เป็นองค์กรแห่งหนึ่ง) ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)