พลูคาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Houttuynia cordata Thunb. และชื่อพื้นเมืองอื่นๆได้แก่ : คาวตอง, คาวทอง, ก้านตอง, เข้าตอง, คาวตอง, คาวปลา เป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย
ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก สูง 15-30 ซม. ลำต้นกลม สีเขียว รากแตกออกตามข้อ มีกลิ่นคาวทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีใบประดับสีขาว 4 ใบ ที่โคนช่อดอก ปลายมน ดอกเล็กจำนวนมาก สีขาวออกเหลือง ผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้ เมล็ดรูปรี
ทั้งต้น ราก และใบ ของพลูคาว สามารถใช้ประโยชน์ได้หมด เรียกว่าเป็นยาสมุนไพรทั้งต้น โดยนำมาต้มเพื่อดื่มเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร หรือนำมาปรุงอาหารก็ได้
สรรพคุณทางยาของพลูคาวมีมากมาย ได้แก่
กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก และช่วยต้านความเสื่อมของร่างกายได้ ดอกพลูคาวช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ ยอดและใบมีสารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยทำให้แผลอักเสบหายเร็วขึ้น รักษาโรคหืด และบำรุงผิวให้ดูอ่อนเยาว์
นอกจากนี้ยังพบสารสำคัญชื่อ เควอซิติน ที่มีส่วนช่วยในการไหลเวียนโลหิตในร่างกายเป็นไปตามปกติ จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และสารรูติน ป้องกันการเกิดเส้นเลือดฝอยแตก
พลูคาวยังช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร โรคหัด และบรรเทาอาการโรคผิวหนังหลายชนิด บำรุงระบบน้ำเหลือง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการหอบ ไอ ขับเสมหะ และขับปัสสาวะ
ปัจจุบัน มีการสกัดสารสำคัญของพลูคาวมาช่วยในการบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อีกด้วย
สารสำคัญจากส่วนเหนือดินของพลูคาวมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง 5 ชนิด ในหลอดทดลองได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งรังไข่ เซลล์มะเร็งสมอง เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และเซลล์มะเร็งผิวหนัง
ในประเทศจีนมีการใช้พลูคาวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาผงสำหรับรับประทาน เพื่อรักษาโรคมะเร็งทางเดินอาหารและมะเร็งทางเดินหายใจ รวมไปถึงเนื้องอกในรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด และใช้พลูคาวเป็นส่วนประกอบในตำรับยารับประทานสำหรับยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็งและเพิ่มภูมิต้านทาน รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาจีนที่รักษาอาการข้างเคียงจากรังสีรักษาและเคมีบำบัด
แม้ยังไม่มีการศึกษาถึงผลเสียหรือความเป็นพิษของพลูคาว แต่ถ้าพิจารณาจากสารบางชนิดที่มีอยู่ในต้นพลูคาวแล้ว หากร่างกายได้รับสะสมในปริมาณมากเกิน สารที่มีประโยชน์ย่อมสามารถเกิดผลเสียในทางลบได้เช่นกัน จึงควรรับประทานสลับสับเปลี่ยนกับพืชผักชนิดอื่น เพื่อลดการสะสมของสารมากเกินความจำเป็น
ข้อควรระวัง :
ห้ามรับประทานมากเกินไป จะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย เก้า มกรา)