xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคิดชวนทำ : 10 กลยุทธ์จุดประกายความคิดสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนยังจำช่วงเวลาอันแสนวิเศษในวัยเยาว์ได้ดี ที่ได้อ่านนิทานสนุกๆ ได้เล่นสมมติตามจินตนาการที่โลดแล่น ซึ่งช่วยก่อรากฐานทางอารมณ์และพัฒนาการทางความคิดให้กว้างไกล อันเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นในตนเอง

ครั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ภาระหน้าที่การงานบางอย่างที่ต้องทำต้องคิดในเรื่องเดิมๆ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้ไม่ได้บริหารความคิดจินตนาการสร้างสรรค์ใหม่ๆ

แต่ไม่ใช่ว่า เราต้องอยู่กับความคิดเดิมๆไปจนตลอดชีวิต เพราะยังมีหนทางหรือวิธีการที่จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้อีกครั้ง

ลองทำ 10 กลยุทธ์ต่อไปนี้ เพื่อบอกลาคุณคนเก่าและความคิดเก่าๆไปพร้อมกับปี 2555

1. ดูรูปภาพในมุมกลับ

หยิบรูปถ่าย ภาพเขียน หรือภาพอะไรก็ได้ที่คุณเห็นเป็นประจำ แล้วมองดูในมุมกลับ ใช้เวลาพิจารณาในมุมมองใหม่ๆที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน เพื่อสังเกตรายละเอียด รูปร่าง รูปแบบ หรือแนวคิดของภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ คุณไม่เคยสนใจ เชื่อเถอะว่า วิธีง่ายๆเช่นนี้ มันจะช่วยจุดประกายไอเดียใหม่ๆให้กับคุณ

2. คิดแบบเด็ก 6 ขวบ

เมื่อมีปัญหาหรืออยู่ในสถานการณ์ลำบากที่ยังแก้ไม่ตก ให้จินตนาการว่าคุณเป็นเด็ก 6 ขวบ เพราะความคิดของเด็กเล็กนั้น มองสิ่งที่เห็นอย่างที่มันเป็น ไม่สลับซับซ้อน

เพราะบ่อยครั้งที่เราเสียเวลามัวแต่ครุ่นคิดหาวิธีการที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหา โดยมองข้ามวิธีการง่ายๆและใช้ได้ผลไปอย่างน่าเสียดาย

3. ลิ้มรสอาหารแปลกใหม่

ขอเพียงหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ เป็นวันลิ้มรสชาติอาหารแปลกใหม่ ที่ไม่เคยรับประทาน เช่น ขนม ผลไม้ หรือหากชอบทำอาหาร ก็ลองเข้าครัวปรุงเมนูสูตรใหม่ หรือไปทานอาหารนอกบ้านบ้าง

เมื่อได้ลิ้มลองรสชาติแล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะผลที่ได้คือ เมื่อคุณเปิดตัวเองให้กับประสบการณ์ใหม่ๆ ก็จะได้มุมมองใหม่ๆ ที่จะทำให้ความรู้สึกเบื่อหน่าย จำเจ ลดน้อยลง

4. สะกดจิตตัวเอง

การสะกดจิตตัวเอง อาจนำมาใช้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวได้ ด้วยการทำตัวเองให้ผ่อนคลาย หลับตาลงและจินตนาการว่า กำลังอยู่ในสถานที่ที่สวยงาม เป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นที่ใดก็ตาม ตามจิตใต้สำนึกคุณจะบงการ

พยายามรู้สึกว่าคุณอยู่ ณ สถานที่นั้นจริงๆ เพื่อค้นหากล่องที่ซุกซ่อนไว้ เพราะภายในนั้นมีของขวัญล้ำค่า ที่เป็นสัญลักษณ์ของวิธีการหรือแนวคิดในการแก้ปัญหา เมื่อเจอกล่องนั้นแล้ว ขอให้นั่งลงเพื่อตรวจดูรายละเอียดของของขวัญ และเมื่อคุณกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงด้วยการลืมตาขึ้น ก็เขียนบันทึกไอเดียทั้งหมดที่คุณเห็นมา

5. มองภาพคนหรือทิวทัศน์

จงมองภาพที่มีคนหรือทิวทัศน์อย่างละเอียด และจินตนาการว่า คุณได้ก้าวเข้าไปอยู่ในภาพนั้น และเดินสำรวจไปทั่วๆ แล้วคิดว่าพวกคนในภาพเป็นใคร ทำไมจึงกำลังทำสิ่งนั้นๆอยู่ พวกเขากำลังคิดอะไร และทางเดินนั้นนำไปสู่ที่ใด มีอะไรอยู่อีกฝากหนึ่งของประตู แม่น้ำ ฯลฯ

จงปล่อยตัวเองให้เดินเที่ยวเล่นภายในภาพอย่างอิสระ และรอดูว่า จิตใต้สำนึกของคุณจะบอกอะไรแก่คุณบ้าง

6. นึกถึงไอดอลในดวงใจ

ลองนึกถึงใครสักคนที่คุณรักและชื่นชอบ ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ มีพลัง และมีทัศนคติที่ดี รวมทั้งมีคุณลักษณะที่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณ ซึ่งคนนั้นอาจมีตัวตนจริงหรือเป็นเพียงตัวละครในนิยายเล่มโปรด

แล้วเขียนสิ่งที่คุณชื่นชมและชื่นชอบอย่างยิ่งในตัวเขา รวมทั้งสิ่งที่อยากเป็นเหมือนเขา ลงบนกระดาษ จากนั้น จงคิดถึงปัญหาหรือสถานการณ์ที่คุณยังแก้ไขไม่ได้ และถามตัวเองว่า “ถ้าฉันเป็นเขา ฉันควรทำเช่นไร” เพราะด้วยวิธีนี้จะทำให้คุณหลุดจากความคิดในกรอบเดิมๆของตัวเอง และมีความคิดใหม่ๆเข้ามาแทนที่

7. ทำสมาธิ

การทำสมาธิเป็นประจำ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ และยังทำให้สมองทั้งสองข้าง (ด้านที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และความมีเหตุผล) ทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี

บางคนอาจอ้างว่าไม่มีเวลาทำสมาธิ แต่ขอบอกว่า เพียงวันละ 5 นาที คุณก็สามารถทำสมาธิอย่างง่ายๆได้ แค่เฝ้าสังเกตลมหายใจเข้า-ออก คือ เข้าก็รู้ ออกก็รู้ โดยไม่มีความคิดอื่นใดมาแทรก แล้วคุณจะรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย มีสติรู้ตัว และเมื่อทำทุกวัน ความคิดสร้างสรรค์จะผุดขึ้นมา

8. นึกถึงนิทานสมัยเด็กๆ

คงมีนิทานสักเรื่องที่คุณเคยฟังในวัยเด็กและจำได้ขึ้นใจแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คราวนี้ลองเลือกตัวร้ายหรือตัวรองในนิทาน เช่น ถ้าเป็นเรื่องสโนไวท์ ให้เลือกคนแคระคนหนึ่ง และเขียนเรื่องสโนไวท์ในมุมมองของคนแคระ

แต่หากนิทานที่คุณชอบ ตัวร้ายเป็นผู้ชนะในตอนจบ คุณอาจเปลี่ยนเรื่องให้ตัวเอกเป็นผู้ชนะแทน หรือใช้ตัวละครเดิม แต่แต่งเรื่องขึ้นใหม่ทั้งหมด ให้โลดแล่นไปตามจินตนาการของคุณ

9. หวนทำสิ่งที่ชอบ

จำได้มั้ยว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณวาดรูป ระบายสี เต้นรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี ทำงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย นานแค่ไหนแล้ว?

ที่ถามอย่างนี้ เพราะอยากให้คุณใช้เวลาสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง หันมาทำในสิ่งที่คุณเคยชื่นชอบ เพราะการได้หวนกลับมาทำกิจกรรมที่เคยชอบอีกครั้งหนึ่ง ในวันเวลาที่ผ่านไป จะช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “เวลาเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน”

10. อยู่เงียบๆ

คนทั่วไปมักต้องการหลีกหนีจากความเงียบ เพราะดูเหมือนมีบางอย่างที่น่ากลัว แต่จริงๆแล้วความเงียบมีพลังอย่างล้ำลึก ที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง

ลองหาที่สงบๆนั่งเงียบๆคนเดียว โดยปราศจากเครื่องมือสื่อสาร หรือสิ่งเร้าทุกรูปแบบ พยายามอยู่กับความคิดตัวเองอย่างสงบเป็นเวลา 1 ชม. และเมื่อครบเวลาที่กำหนด ก็จดบันทึกความคิดสำคัญต่างๆที่ผุดขึ้นในช่วงเวลานั้นไว้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย ประกายรุ้ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น