xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ชีวิตดี ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นมัสการหลวงปู่ ครับ/ค่ะ”

“วันนี้ลมอะไรหอบมาวัดล่ะ ทั้งพ่อทั้งลูกเลย”

“ก็ลูกสาวผมซิครับ อยากเปลี่ยนชื่อใหม่ บอกว่าเพื่อนๆ ที่ไปเปลี่ยนชื่อแล้วได้ดีกันทุกคน เลยรบเร้าให้ผมพามากราบขอความอนุเคราะห์จากหลวงปู่”

“ว่าไงล่ะเรา เพื่อนที่เขาเปลี่ยนชื่อแล้วได้ดีน่ะ ได้ดีอะไรบ้างล่ะ”

“มีคนหนึ่งหางานมาตั้งนานไม่ได้ พอเปลี่ยนชื่อแล้วไปสมัครงาน ก็ได้งานเลย ส่วนอีกคนเปลี่ยนแล้ว ขายของดีขึ้นกว่าเก่า บางคนเปลี่ยนชื่อแล้วได้แต่งงาน แล้วก็อีกหลายคนนะคะที่เปลี่ยนชื่อแล้วได้ดีกันถ้วนหน้าเลย หนูก็เลยอยากเปลี่ยนชื่อบ้าง เผื่อจะได้รวยมากๆ เจริญๆ”

“แล้วหนูชื่ออะไรล่ะ”

หทัยชนกค่ะ”

“ชื่อไพเราะดีนะ แปลว่า “ดวงใจพ่อ” ใครเป็นคนตั้งให้ล่ะ”

“พ่อค่ะ แม่บอกว่าพ่อรักหนูมาก หนูเป็นแก้วตาแก้วใจของพ่อ พ่อก็เลยตั้งชื่อนี้ให้ค่ะ”

“แล้วคิดจะเปลี่ยนชื่อ ไม่คิดถึงใจของพ่อบ้างหรือ ที่ตั้งใจตั้งชื่อหนูตั้งแต่เกิด เพื่อให้หนูได้รู้จักทำตนให้เป็นคนดี สมกับที่เป็นดวงใจของพ่อ”

“พ่อบอกว่าตามใจหนู หนูก็คิดว่าเปลี่ยนแล้วน่าจะดี”

“ครับ ผมตามใจลูก เพราะเขาโตแล้ว ผมเองก็เคยคิดแบบลูกเหมือนกัน”

“หนูอยากเปลี่ยนชื่อจริงๆ นะคะหลวงปู่ จะได้เป็นมงคล และทันสมัยเหมือนคนอื่นๆ”

“ก่อนจะเปลี่ยนชื่อ หลวงปู่จะเล่าเรื่องนามสิทธิชาดกให้ฟัง เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่คิดอยากจะเปลี่ยนชื่อเหมือนกัน ลองฟังดูนะ”

“ค่ะ”

“เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งพุทธกาลมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ท่านชื่อพระปาปกะ ถ้าเรียกในสมัยนี้ก็คงชื่อว่า “พระบาป” เมื่อใครๆเรียกชื่อท่าน ท่านก็ไม่ชอบใจชื่อของตนเอง รู้สึกว่าไม่เป็นมงคล วันหนึ่งท่านจึงเข้าไปหาพระอาจารย์ เพื่อขอให้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ โดยอ้างว่าชื่อตนไม่เป็นมงคล

พระอาจารย์จึงบอกว่า ชื่อเป็นแค่นามบัญญัติ เพื่อใช้เรียกกันเท่านั้น ความสำเร็จในประโยชน์ใดๆ ก็ไม่เกี่ยวกับชื่อเลย แต่พระปาปกะก็ไม่ยอม รบเร้าให้พระอาจารย์เปลี่ยนชื่อตนให้ได้ จนหมู่พระสงฆ์นำเรื่องราวไปโจษขานทั่วพระเชตวันวิหาร

วันหนึ่งในธรรมสภา พระพุทธเจ้าได้สดับเรื่องนี้เข้า พระพุทธองค์จึงทรงเมตตาเล่าอดีตกาลของพระปาปกะให้แก่ธรรมสภาฟังว่า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนมานพจำนวน ๕๐๐ คน ในนครตักสิลา ศิษย์คนหนึ่งชื่อปาปกะได้เข้าไปหาพระอาจารย์ เพื่อขอให้เปลี่ยนชื่อใหม่แก่ตน เพราะคิดว่าชื่อของตนเป็นอัปมงคล

พระอาจารย์จึงให้ปาปกะไปแสวงหาชื่อที่เป็นมงคลถูกใจตนมา แล้วจะทำพิธีตั้งให้ใหม่ ปาปกะก็จัดเสบียงออกเดินทางไปหาชื่อมงคลตามต้องการ

เมื่อมาถึงนครแห่งหนึ่ง มีชายชื่อว่าชีวกะ(แปลว่าผู้มีชีวิตอยู่) ได้ตายลง พวกญาติๆกำลังหามศพชายผู้นี้ไปป่าช้า เขาจึงถามว่า ชายผู้นี้มีชื่อว่าอะไร ชาวบ้านก็ตอบว่าชื่อชีวกะ

ปาปกะเอ่ยถามขึ้นว่า ชื่อชีวกะก็ต้องตายหรือ ญาติของชีวกะได้ตอบว่า จะชื่อว่าชีวกะหรืออชีวกะ(ผู้ไม่มีชีวิตอยู่) ก็ต้องตายเหมือนกันหมด ชื่อเป็นเพียงบัญญัติไว้เรียกกันเท่านั้น เจ้านี่ถามอะไรโง่ๆ ปาปกะฟังแล้วก็รู้สึกเฉยๆ ในเรื่องชื่อ แล้วก็เดินทางกลับมาหาพระอาจารย์

ระหว่างทาง เขาเห็นนายทุนกำลังทุบตีหญิงลูกหนี้อยู่ จึงเดินเข้าไปถามนายทุนว่าหญิงนางนี้ชื่อว่าอะไร นายทุนตอบว่านางชื่อว่าธนปาลี(คนมีทรัพย์) เขาจึงถามต่อไปว่าเมื่อชื่อว่าธนปาลี ทำไมไม่มีเงินใช้หนี้ แม้กระทั่งดอกเบี้ยเลยหรือ

นายทุนจึงตอบว่าจะชื่อธนปาลี หรืออธนปาลี(คนไม่มีทรัพย์) ก็เป็นคนเข็ญใจได้เหมือนกัน ชื่อเป็นเพียงบัญญัติไว้เรียกกันเท่านั้น เจ้านี่ถามอะไรโง่ๆ ปาปกะฟังแล้วก็รู้สึกเฉยๆในเรื่องชื่อยิ่งขึ้น แล้วก็เดินทางต่อไป

ก่อนจะถึงสำนักของพระอาจารย์ เขาพบเห็นชายผู้หนึ่งกำลังหลงทาง จึงเดินเข้าไปถามว่าท่านชื่ออะไร ชายผู้นั้นตอบว่า เราชื่อปันถกะ(ผู้ชำนาญทาง) เขาได้ถามต่อไปว่า ขนาดชื่อปันถกะ ยังหลงทางอีกหรือ?

คนหลงทางกล่าวว่า จะชื่อปันถกะหรือชื่ออปันถกะ (ไม่ชำนาญทาง) ก็มีโอกาสหลงทางได้เท่ากัน ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน ท่านเองเห็นจะโง่แน่ๆ ปาปกะได้ยินเช่นนั้น เลยวางเฉยในเรื่องชื่อ แล้วกลับไปสู่สำนักของพระอาจารย์

เมื่อเขาเข้าพบพระอาจารย์ ท่านถามว่าได้ชื่อที่ถูกใจหรือยัง ปาปกะจึงเรียนว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ธรรมดา คนเราถึงจะชื่อว่าชีวกะและแม้จะชื่ออชีวะ คงตายเท่ากัน

ถึงจะชื่อ ธนปาลี และแม้จะชื่อ อธนปาลี ก็เป็นคนเข็ญใจได้ทั้งนั้น

ถึงจะชื่อปันถกะ และแม้จะชื่ออปันถกะ ก็หลงทางได้เหมือนกัน

ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน ความสำเร็จเพราะชื่อมิได้มีเลย ความสำเร็จมีได้เพราะการกระทำเท่านั้น พอกันทีเรื่องชื่อสำหรับกระผม กระผมขอใช้ชื่อเดิมนั่นแหละต่อไป

พระอาจารย์จึงกล่าวขึ้นว่า เพราะเห็นคนชื่อชีวกะตาย นางธนปาลีตกยาก นายปันถกะหลงทางในป่า เจ้าปาปกะจึงกลับมา

ตั้งแต่นั้นมาปาปกะก็ไม่ใส่ใจในเรื่องชื่อของตนอีกเลย

พระพุทธเจ้าทรงสรุปไว้ตอนท้ายว่า ปาปกะได้มาเกิดเป็นพระปาปกะในชาตินี้ ส่วนพระอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็คือพระพุทธองค์เอง ครูบาอาจารย์ที่ท่านแปลชาดกเรื่องนี้เป็นภาษาไทย ท่านให้ชื่อเรื่องว่า ชื่อไม่เป็นของสำคัญ”

“หลวงปู่คะ นี่ก็แสดงว่าความคิดจะเปลี่ยนชื่อ มีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้วสิคะ”

“ก็ใช่น่ะสิ ท่านถึงบันทึกไว้ว่า ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้น ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อหรอก แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเอง หนูรู้ไหม ชื่อของคนเรานั้นมีสิ่งที่สำคัญแฝงอยู่ด้วยนะ”

“อะไรคะหลวงปู่”

“คุณธรรมประจำชื่อไง อย่างชื่อของหนู “หทัยชนก” ลองคิดสิว่ามีคุณธรรมอะไรแฝงอยู่”

“หนูว่าการทำตนให้เป็นที่รักของพ่อแม่ค่ะ เพราะชื่อหนูแปลว่าดวงใจพ่อ”

“แล้วหนูคิดว่าทำตัวอย่างไร ถึงจะเป็นที่รักของพ่อแม่ล่ะ”

“ต้องเป็นลูกที่กตัญญูกตเวที พ่อแม่จะได้ปลื้มใจและรักหนูเพิ่มมากขึ้นค่ะ”

“รู้ไหมว่า การเป็นลูกที่กตัญญูกตเวที ต้องทำอย่างไร?”

“ทราบค่ะ เพราะหลวงปู่สอนให้ท่องทุกครั้งที่พ่อแม่พามากราบหลวงปู่ คือต้องมีสติ รู้ตัว มีสัมปชัญญะ ความระลึกได้ เพราะจะทำให้เรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งจะช่วยให้เราเป็นผู้ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรม

มีขันติ อดทนอดกลั้นต่อการกระทบกระทั่งจากผู้อื่น รักษากายของตนให้มีความงดงามอยู่เสมอ ด้วยสำนึกระลึกถึงคุณบิดามารดาไว้เสมอว่า ถ้าเราผิดพลาดไปในชีวิต พ่อแม่จะเสียใจมากที่สุด


ขอขอบพระคุณหลวงปู่มากค่ะ หนูรู้แล้วว่าจะต้องทำตนอย่างไร จึงจะมีคุณธรรมสมชื่อที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งให้”

“ดีแล้ว แต่หลวงปู่อยากให้หนูจำเพิ่มเติมไว้อีกสักนิดนะ คือทุกครั้งที่หยิบเงินมาใช้จ่าย ให้ดูพระบรมฉายาลักษณ์ในเหรียญหรือธนบัตร แล้วระลึกไว้ในใจว่านี่คือในหลวงของเรา พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเรามาก

พระนามของพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯพระราชทานพระนามว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" สมเด็จย่าทรงรับสั่งกับในหลวง ถึงความหมายของพระนาม "ภูมิพล" ไว้ว่า "อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน"

ต่อมา ในหลวงมีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จย่าทรงเคยรับสั่งว่า"เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน"

“หนูเข้าใจแล้วค่ะหลวงปู่ ว่าแต่ละชื่อเป็นความปรารถนาของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้พบความสำเร็จในชีวิต จึงตั้งชื่อที่มีความหมายงดงามไว้ เมื่อลูกเติบใหญ่ขึ้นมา ได้ทราบถึงความหมายของชื่อตนแล้ว ก็จะได้มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำตนให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

อย่างชื่อหนูนี่ หทัยชนก แปลว่าดวงใจของพ่อ แสดงถึงความรักที่พ่อแม่มีให้แก่หนู ดังนั้น ถ้าหนูประพฤติดีงาม สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล พ่อแม่ก็จะได้มีความภูมิใจในตัวหนู ถ้าหนูทำไม่ดีประพฤติชั่ว พ่อแม่ก็จะเศร้าใจ เท่ากับว่าหนูเป็นคนอกตัญญู”

“แล้วยังคิดจะเปลี่ยนชื่ออีกมั้ยล่ะ”

“ไม่เปลี่ยนแล้วค่ะ เพราะทราบแล้วว่าชื่อไม่ได้ทำให้ดีหรือรวย แต่หนูยังอยากรู้ว่าทำยังไงถึงจะรวยคะ”

“คงต้องถามพ่อของหนูดูนะ เพราะเขาสร้างตัวเองมาจากที่ไม่เคยมีอะไร กระทั่งตอนนี้มีโรงสีใหญ่โต”

“โอ..จริงด้วย หนูลืมไป แล้วคุณพ่อทำอย่างไรคะ จึงสามารถประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของโรงสีใหญ่ในจังหวัดเราตั้งหลายแห่ง”

“พ่อก็เหมือนลูกแหละ คิดจะเปลี่ยนชื่อที่ปู่ตั้งให้ว่า ก้อนทอง เพราะเพื่อนชอบล้อ แต่ปู่บอกว่าตั้งชื่อนี้ให้พ่อ เพราะปู่อยากให้พ่อเป็นเศรษฐี ปู่เลยให้พ่อมาบวชเป็นสามเณรอยู่วัดนี้ เพื่อจะให้หลวงปู่ได้อบรมสั่งสอน

หลวงปู่ก็สอนเรื่องการมีสติสัมปชัญญะ ความอดทนอดกลั้น เหมือนที่สอนลูกน่ะแหละ พอพ่อจำได้แล้ว หลวงปู่ก็สอนให้รู้จักการปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ คือ

๑. ต้องมีความพอใจในหน้าที่การงานของตน ฐานะของตน ที่เรียกว่า ฉันทะ

๒. ต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องไม่ท้อแท้ ในการทำงานในหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ ที่เรียกว่า วิริยะ

๓. ต้องไม่ทอดทิ้งการงานหน้าที่รับผิดชอบ คอยเอาใจใส่สิ่งที่เป็นการงานหน้าที่รับผิดชอบ ที่เรียกว่า จิตตะ

๔. ต้องหมั่นสำรวจการงานหน้าที่รับผิดชอบของตนอยู่เสมอ เพื่อจะได้พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกว่า วิมังสา


หลวงปู่ให้พ่อหัดทดลองทำตนตามหลักอิทธิบาท ๔ จนเข้าใจ จากนั้นพอพ่อสึกออกมาทำการงาน ท่านก็คอยเป็นกำลังใจให้พ่อเสมอ พ่อก็ตั้งใจทำตนให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานตลอดมา ยิ่งเมื่อมีลูกด้วยแล้ว ก็ยิ่งขยันขึ้นเป็นสองสามเท่าเลย กระทั่งมีวันนี้อย่างที่ลูกเห็นนี่แหละ”

“หลวงปู่กับคุณพ่อทำให้หนูตาสว่างแล้วค่ะ ว่าชื่อไม่สำคัญเท่ากับการปฏิบัติตนในกรอบของธรรมะ ซึ่งจะให้ผลสำเร็จตามที่เราปรารถนา กราบขอบพระคุณหลวงปู่กับคุณพ่อมากๆๆ ค่ะ”

“ตกลงไม่เปลี่ยนชื่อแน่ๆนะลูก”

“แน่ซิคะพ่อ เพราะปาปกะยังยอมใช้ชื่อเดิมเลย แต่หนูชื่อหทัยชนก ไพเราะกว่าเยอะ ทำไมจะต้องเปลี่ยนล่ะคะ เพราะตอนนี้หนูก็ฉลาดเหมือนปาปกะแล้วนะคะ”

“ดีแล้วลูก ถ้าอย่างนั้นเรากราบลาหลวงปู่กันเถอะ ท่านจะได้พักผ่อน รบกวนท่านนานแล้ว”

“ขอให้เจริญสุขนะ ทั้งพ่อทั้งลูก”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น