เมตตา คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีไมตรีจิตต่อคนและสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า จัดเป็นแหล่งเกิดแห่งความสุขอีกอย่างหนึ่งทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ผู้มุ่งเจริญในธรรมพึงหมั่นเจริญอบรมเมตตาให้เกิดในใจอยู่เสมอ เพราะเมตตากรุณาเป็นที่อยู่อันประเสริฐของใจ (พรหมวิหารธรรม)
• วิธีเจริญเมตตาพรหมวิหาร
ผู้จะเจริญเมตตาพรหมวิหาร พึงอยู่ในที่สงัด (ถ้าเป็นไปได้) แม้ไม่ได้ที่สงัดก็เจริญเมตตาได้ แต่อาจทำได้เพียงขณิกสมาธิ(ความสงบชั่วขณะ)
เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว พึงพิจารณาถึงโทษของโทสะ และพิจารณาให้เห็นคุณของเมตตา ทำจิตให้อ่อนโยน แล้วแผ่เมตตาถึงตนเองก่อนว่า
“ขอเราจงมีความสุข ปราศจากทุกข์เถิด”
ทั้งนี้เพื่อเอาตนเป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่น สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
ต่อจากนั้น พึงแผ่เมตตาไปถึงท่านผู้มีอุปการคุณ เช่น มารดา บิดา ครู อาจารย์ เป็นต้น แล้วแผ่ไปยังคนที่ตนรัก คนที่เฉยๆ และคนที่เป็นศัตรูคู่เวรต่อกัน
ในการแผ่เมตตาให้ศัตรูคู่เวรนั้น อาจมีอุปสรรคมาก ยากที่จะทำใจให้ละมุนละไมได้ พอนึกถึงคนเช่นนั้น ความเคียดแค้นชิงชังจะเกิดขึ้นเสียก่อน ถ้าเป็นดังนั้น พึงปฏิบัติดังนี้ คือ
1. ระลึกถึงเนืองๆ ซึ่งพระโอวาทของพระศาสดาที่ตรัสถึงโทษของความโกรธและความพยาบาท ถ้ายังไม่หายพึงปฏิบัติในข้อ 2
2. พึงระลึกถึงพระจริยาของพระศาสดาทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ทรงอดทน อดกลั้น ถ้ายังไม่หายพึงทำตามข้อ 3
3. พึงระลึกถึงความสัมพันธ์กันในอดีตระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏว่า อาจเคยเป็นมารดาบิดาเป็นต้นกันมา ถ้ายังไม่หายโกรธเกลียดพึงปฏิบัติตามข้อ 4
4. พึงระลึกถึงอานิสงส์แห่งเมตตา 11 ประการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ถ้ายังไม่หายพึงปฏิบัติตามข้อ 5
5. แยกธาตุ เช่น เราโกรธเกลียดอะไรเขา คนทุกคนเป็นประมวลแห่งดิน น้ำ ไฟ ลม เราเกลียดอะไร เกลียดดินหรือน้ำ ไฟหรือลม เป็นต้น ถ้ายังไม่หายพึงปฏิบัติตามข้อ 6
6. พึงให้ของแก่เขา หรือรับของจากเขา ก็ทำให้จิตใจอ่อนโยนลงได้
เมื่อใจสงบลงแล้ว พึงแผ่เมตตาให้มีขอบเขตกว้างขวางออกไป คือทำใจให้สม่ำเสมอในคนทุกจำพวก คือตัวเราเอง คนที่เรารัก คนที่เฉยๆ และคนที่เป็นศัตรูคู่เวรกัน
ท่านเรียกเมตตาชนิดนี้ว่า เมตตาสีมสัมเภท แปลว่า ทำลายแดน ไม่มีเขตแดน มีเมตตาเสมอกันในคนทั้งปวง จิตอย่างนี้เป็นจิตที่ไม่มีเขตแดน มีเมตตาเสมอกันในคนทั้งปวง จิตอย่างนี้เป็นจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง
การแผ่เมตตามีอยู่ 2 วิธี คือ แผ่เจาะจง (โอธิสสผรณา) เช่น ออกชื่อว่า “ขอให้...(ออกชื่อ) มีความสุข อย่าได้มีเวรต่อกัน อย่าได้เบียดเบียนกัน”
อีกอย่างหนึ่งคือ แผ่ไม่เจาะจง (อโนธิสสผรณา) คือ แผ่รวมๆ เช่น “ขอสัตว์ทั้งหลาย ขอบุคคลทั้งหลาย จงมีความสุข อย่าได้มีเวรต่อกัน อย่าได้เบียดเบียนกันเลย” ดังนี้เป็นต้น
• อานิสงส์ของเมตตา
ผู้เจริญเมตตาพึงระลึกถึงอานิสงส์ของเมตตาบ่อยๆ และแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ ให้ระลึกถึงอานิสงส์ของเมตตาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้
แต่ผู้ที่เจริญเมตตาแล้วจะได้อานิสงส์ 11 ประการนี้ จะต้องเป็นเมตตาเจโตวิมุติ
คำว่า “เจโตวิมุติ” หมายถึงว่า เป็นอัปปนา คำว่า “อัปปนา” คือได้ถึงขั้นฌาน ถ้าได้เจริญเมตตาจนถึงได้ฌานเพราะมีเมตตาเป็นอารมณ์ ก็จะได้อานิสงส์ 11 ประการ ครบถ้วนเต็มรูปเต็มบริบูรณ์
ถ้าเจริญเมตตาไม่ถึงฌาน เจริญเมตตาอย่างคนธรรมดา จะได้อานิสงส์เหมือนกัน แต่อานิสงส์จะเพลาลง ไม่เต็มรูป เหมือนกับว่าเรามีคุณสมบัติพร้อม ก็จะได้อานิสงส์พร้อม ถ้ามีคุณสมบัติไม่พร้อม อานิสงส์ที่ได้ก็กระพร่องกระแพร่งหน่อย แต่ก็ได้ตามสมควรแก่การปฏิบัติ
• อานิสงส์ของเมตตา 11 ประการ
1. หลับเป็นสุข
2. ตื่นเป็นสุข
3. ไม่ฝันร้าย
4. เป็นที่รักของมนุษย์
5. เป็นที่รักของอมนุษย์
6. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
7. ไฟก็ตาม ยาพิษก็ตาม ศัสตราอาวุธก็ตาม จะไม่กล้ำกราย จะไม่ทำร้าย
8. ผู้มีเมตตาจิตย่อมเป็นสมาธิได้เร็ว
9. ผู้มีเมตตาย่อมมีสีหน้าผ่องใส
10. ไม่หลงตาย (ทำกาลกิริยา)
11. ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นไป ก็จะได้ไปสู่พรหมโลก
• คำแผ่เมตตา
คำแผ่เมตตาสำหรับตนเอง
อหํ สุขิโต โหมิ นิทฺทุกฺโข อเวโร อพฺยาปชฺโฌ อนีโฆ สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ
ขอข้าพเจ้าจงถึงความสุข ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความคับแค้นใจ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด ฯ
คำแผ่เมตตาไปสู่ผู่อื่น
สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ นิทฺทุกฺขา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ฯ
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงถึงความสุข ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความคับแค้นใจ จงมีความสุขการสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด ฯ
คำแผ่เมตตาแบบทั่วไป
สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อพฺยาปชฺฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด ฯ
(สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย อ.วศิน อินทสระ)