ม.นิวยอร์กใช้เทคโนโลยีดิจิตอล จัดแสดงนิทรรศการหมู่วัดถ้ำเซียงตังชาน
• สหรัฐอเมริกา : สถาบันเพื่อการศึกษาโลกยุคโบราณแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกำลังจัดแสดงนิทรรศการ “Echoes of the Past : The Buddhist Cave Temples of Xiangtangshan” (สะท้อนภาพอดีต : หมู่วัดถ้ำเซียงตังชาน) ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล นำเสนอโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ โดยจัดแสดงจนถึง 6 มกราคม 2013
หนี่งในไฮไลท์สำคัญของงานคือ พระพุทธรูปประทับนั่ง หลังพระเศียรมีประภามณฑลเป็นแผ่นกลมขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นรายละเอียดการแกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม
อนึ่ง หมู่วัดถ้ำเซียงตังชาน มีความหมายว่า “ภูเขาแห่งเสียงสะท้อน” มีจำนวน 30 ถ้ำ ตั้งอยู่บริเวณเหมืองถ่านหินในชนบทตอนใต้ของมณฑลเหอเป่ย์ ประเทศจีน สร้างเสร็จในสมัยราชวงค์ฉี (คศ. 550-577) เพื่อจำลองดินแดนสรวงสวรรค์แห่งพระพุทธองค์ วัตถุโบราณหลายชิ้นที่อยู่ภายในถ้ำถูกทำลายหรือถูกขโมยตั้งแต่ปี 1909 เป็นต้นมา ด้วยเหตุความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ พระพุทธรูปส่วนใหญ่ที่หลงเหลือ ก็อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์
(จาก The Epoch Times)
เศรษฐกิจย่ำแย่ คนญี่ปุ่นหันมาทำศพแบบประหยัด
• ญี่ปุ่น : ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน ทำให้คนญี่ปุ่นหันมารัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งการจัดพิธีศพ
เจ้าหน้าที่ในสถานรับจัดพิธีศพ “อิโตะ” ในเมืองโยโกฮามา ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเช่ารถมิยะอันหรูหราไว้ใช้บรรทุกศพในขบวนพิธี แต่ปัจจุบัน มักเลือกใช้รถลิมูซีนแบบตะวันตกที่ค่าเช่าถูกกว่า นานๆครั้งจึงจะมีลูกค้ามาเช่ารถมิยะ
“ในอดีต รถมิยะจะถูกนำมาใช้ในพิธีศพทางพุทธศาสนา ส่วนรถลิมูซีนจะใช้ในพิธีศพทางคริสต์ศาสนาหรือคนที่ไร้ศาสนา แต่ปัจจุบัน มีคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆที่อยากจัดพิธีศพแบบเรียบง่าย” ทาคาชิ อิโตะ ประธานบริษัท กล่าวและเสริมว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ลูกค้าจะเช่ารถแวนธรรมดาเพื่อใช้ขนศพจากโรงพยาบาลไปยังสถานที่เก็บศพหรือที่บ้านเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้มีการนำรถแวนมาใช้ในขบวนพิธี เสียค่าเช่าราว 14,000 เยน (6,000 บาท)ในเขตโตเกียว หากเป็นรถมิยะ ค่าเช่าจะพุ่งเป็น 51,000 เยน (20,000 บาท)
และอีกหนึ่งสาเหตุที่ความนิยมใช้รถมิยะลดลง เป็นเพราะครอบครัวคนตายเกรงว่าเป็นการรบกวนเพื่อนบ้าน และพิธีเผาศพในปัจจุบันมักไม่อนุญาตให้ใช้รถมิยะ อีกทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย เพราะแทนที่จะจัดพิธีศพในห้องโถงขนาดใหญ่ มีอาหารและเครื่องดื่มบริการแขกที่มาร่วมงาน ก็เลือกที่จะจัดงานเฉพาะในหมู่ญาติสนิทเท่านั้น
(จาก The Asahi Shimbun)
กินเนสส์บุ๊คบันทึก “บุโรพุทโธ” เป็นวัดพุทธใหญ่ที่สุดในโลก
• อินโดนีเซีย : เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ หรือกินเนสส์บุ๊ค ได้ประกาศรับรองให้มหาสถูปบุโรพุทโธ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมาเกลัง ทางตอนกลางของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เปอร์โนโม ซิสโวปราเสตโจ ประธานกรรมการบริษัท PT Taman Wisata Candi (TWC) ซึ่งดูแลจัดการมหาสถูปบุโรพุทโธ กล่าวว่า ทางบริษัทได้รับคำบันทึกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2012 ซึ่งเขาหวังว่า การบันทึกนี้จะส่งผลดีทางการตลาดที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังมหาสถูปบุโรพุทโธ ผ่านกิจกรรมที่จัดโดยกินเนสส์บุ๊คในประเทศต่างๆทั่วโลก
มหาสถูปบุโรพุทโธ เป็นวัดทางพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างในศตวรรษที่ 9 ด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุต บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร สูง 403 ฟุต เป็นรูปทรงแบบปิรามิด ในปี 1991 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก
(จาก The Jakarta Post)
เปิดมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งใหม่ ใจกลางเมืองเบิร์กลีย์
• สหรัฐอเมริกา : “Dhamma College” หรือ “มหาวิทยาลัยธรรมะ” ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2012 นับเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งล่าสุดในสหรัฐอเมริกา
โดยในปี 2009 ลามะ ทาร์ตัง ตุลกู รินโปเช ซึ่งลี้ภัยจากทิเบตมายังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1959 ได้ซื้อสถานที่ที่เคยเป็นวิทยาลัยธุรกิจ เพื่อเปิดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมะ โดยได้รับเงินบริจาคจากชุมชนชาวพุทธ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆเป็นครั้งแรก อาทิ “จิตที่สับสนคือศัตรูของเรา” (เรียน 6 สัปดาห์ ค่าเล่าเรียนราว 85-95 ดอลลาร์) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาไม่ได้รับปริญญาบัตร เนื่องจากสถาบันยังมิได้รับการรับรองวิทยฐานะ
(จาก Shambhalasun.com)
วัดดังศรีลังกา เปิดพิพิธภัณฑ์โบราณคดี
• ศรีลังกา : นายมหินธา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดตันติริมาลีราชมหาวิหาร ท่ามกลางพระเถระชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการระดับสูงเข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ กองโบราณคดีใช้เงินราว 4 ล้านบาท สร้างพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ อาทิ พระพุทธรูปปางสมาธิ รูปปั้นดินเหนียว ยอดเจดีย์ ภาชนะดินเหนียว ฯลฯ
วัดตันติริมาลีราชมหาวิหารตั้งอยู่ห่างจากเมืองอนุราธปุระ 41 กม. เป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงของประเทศศรีลังกา สร้างขึ้นราว 300 ปีก่อนคริสตกาลในยุคอาณาจักรโบราณอนุราธปุระ เชื่อกันว่า เมื่อครั้งโบราณ ภิกษุณีสังฆมิตตาได้หยุดพักที่วัดแห่งนี้ ระหว่างการเดินทางนำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิไปยังเมืองอนุราธปุระ ต่อมาเมื่อสิ้นสุดยุคอนุราธปุระ วัดนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้าง
(จาก Daily News)
จีนทุ่มงบ 1,500 ล้านบาท บูรณะใหญ่วัดดังในทิเบต
• จีน : คณะสงฆ์ทิเบตให้ความร่วมมือในโครงการบูรณะครั้งใหญ่วัดลาบรัง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ อยู่ในเขตเซียะฮี มณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยได้รับเงินจากรัฐบาล 305 ล้านหยวน (ราว 1,500 ล้านบาท) เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 7-8 ปี
โซนัม เจ หัวหน้ากองวัฒนธรรมเขตเซียะฮี บอกว่า การบูรณะต้องทำอย่างรอบคอบและได้รับความเห็นชอบจากกองวัฒนธรรมท้องถิ่นและคณะสงฆ์วัดลาบรัง เพราะถ้าทำอย่างเร่งด่วน อาจทำให้วัดที่มีอายุ 303 ปี ซึ่งเป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวทิเบต ที่อาศัยอยู่ในมณฑลกานซู ชิงไห่ และเสฉวน เสียหายได้
หัวหน้ากองวัฒนธรรมเขตเซียะฮี เล่าว่า วัดลาบรังถูกทำลายในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-1976) อีกทั้งการท่องเที่ยว การกัดกร่อนโดยธรรมชาติ และการทะนุบำรุงที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุให้วัดเสื่อมโทรมลง ทั้งนี้ ค่าแรงงานและวัสดุที่เพิ่มขึ้น อาจเกินงบบูรณะที่ได้รับ
อนึ่ง วัดลาบรังเป็น 1 ใน 6 วัดที่มีชื่อเสียงของนิกายเกลุกปะ (นิกายหมวกเหลือง) ในพุทธศาสนาแบบทิเบต และเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งมีระบบการสอนพุทธศาสนาแบบทิเบตที่ดีที่สุด โดยวัดลาบรังอยู่ภายใต้โครงการคุ้มครองโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี 1982
(จาก Xinhua)
องค์กรพุทธบรรเทาทุกข์สากล ประกาศเดินการกุศลช่วยผู้หิวโหย
• สหรัฐอเมริกา : องค์กรพุทธบรรเทาทุกข์สากล (Buddhist Global Relief) จัดงาน “เดินการกุศลช่วยผู้หิวโหย” ประจำปี 2012 เพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้หิวโหยและขาดแคลนอาหารทั่วโลก
งานนี้เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2010 ที่เซาท์ ออเรนจ์ รัฐนิวเจอร์ซี ปีต่อมาเพิ่มเป็น 3 เมือง และครั้งนี้ซึ่งเป็นปีที่ 3 มีการจัดงานใน 9 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2012
“เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่งานนี้ขยายวงกว้างออกไป ที่ผ่านมา การเดินอย่างพร้อมเพรียงกันนี้ เพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม และเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำผู้คนมากมายมารวมกัน เพื่อเดินบนเส้นทางแห่งการช่วยเหลือผู้อื่น” คิม เบฮัน ผู้อำนวยการบริหารองค์กรพุทธฯกล่าว
(จาก buddhistglobalrelief)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย เภตรา)