xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : สำรวจกาย ระวังใจ นำไปสู่การอยู่กับธรรมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อย่าเอาชีวิตมาฝากกับอาตมา แต่จงนำพาชีวิตของตัวเอง เรียนรู้วิธีแห่งความรู้แจ้งในกาย ในใจ ของตัวเองก่อนเบื้องต้น”

นี่เป็นคำกล่าวของพระอาจารย์ชัยณรงค์ อุปสโม สำนักสงฆ์เขมาภิรโต อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ที่กล่าวกับผู้เข้ารับการอบรมปรับสมดุลสุขภาพกายพิชิตโรค เรียนรู้ ดูแล แก้ไข ป้องกันโรคภัย ซึ่งก่อนที่ทุกท่านจะเข้ารับการอบรมนั้น ต่างคาดหวังว่า อาการเจ็บป่วยของตนเองและคนใกล้ชิดที่มีจะหายไป เพียงแค่มาเข้าฟังบรรยายและลองปฏิบัติด้วยตนเองในเวลา 2-3 วัน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เป็นไปไม่ได้เลยครับ

เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับหรือหายไปนั้น ก็มีโอกาสที่จะเวียนว่ายกลับมาเป็นได้ใหม่ หากผู้นั้นไม่รู้จักหาวิธีป้องกันอย่างถูกต้อง หรือกระทั่งการกลับไปดำรงชีวิตประจำวันในแบบเดิม การรักษาด้วยแพทย์แผนไหน ยาขนานใด ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงต่อโรคภัยนั้นได้

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมนุษย์เรา “ไม่รู้จักตนเอง” นั่นเองครับ

การใช้หลักวิถีแห่งพุทธะ คือหลักแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่ควรนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน คือ การรู้เนื้อรู้ตัวในการปฏิบัติทั้งทางกายและทางจิต

หากใครเคยไปที่สำนักสงฆ์เขมาภิรโต ที่บ้านคา ราชบุรี จะได้เห็นแผ่นป้ายขนาด 6x12 นิ้ว มีข้อความว่า “ระวังจิต” ติดอยู่ทั่วไป เพื่อหวังให้ผู้ที่อ่าน ได้พึงระลึกถึงจิตแห่งการตื่นรู้ อยู่กับปัจจุบันขณะ และตั้งมั่นกระทำในสิ่งที่ดี อีกทั้งยังเป็นการเตือนให้คอยระมัดระวังมิให้จิตเดินหลงไปในทางใดทางหนึ่ง ดังธรรมบรรยายโดยพระอาจารย์ชัยณรงค์ ตอนหนึ่งที่ว่า

“คำว่าระวังจิต ที่ติดทั่ววัดเลยเนี่ยะ พอเห็นปั๊บสติมันเกิดทันที หยุดคิดทันทีจิตมันตื่นขึ้นมาทันที มันเป็นสติเกิดขึ้นมาชั่วปัจจุบันขณะจิต ก็ไม่ต้องไปคิดไปปรุงไปแต่งอะไรเลย”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเคยกล่าวในการอบรมจิต เรื่อง “สัญมะ ทมะ ความสำรวมระวังจิต ความข่มฝึกจิต” ความตอนหนึ่งว่า

“สัญมะ คือ ความสำรวมระวังจิตคือมีสติรักษาประตูใน และประตูนอกของจิต ประตูในก็คือมโน คือใจ ประตูนอกก็คือตา หู จมูก ลิ้นและกาย ประตูในคือมโน ใจ ซึ่งเปิดรับอารมณ์คือเรื่องเข้าสู่จิตอยู่ตลอดเวลา

ทมะ คือ ความข่มใจ หรือความฝึกใจ อันมุ่งหมายถึงฝึกใจข่มใจให้ละกิเลสทุกอย่าง แม้ว่าผู้ปฏิบัติทำสัญมะคือความสำรวมระวัง แต่ก็มีเวลาที่จะเผลอสติ เมื่อเผลอสติอารมณ์ก็เข้ามา จิตก็จับอารมณ์เป็นสัญโญชน์ขึ้น ก็เกิดราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นในอารมณ์ และบุคคลสามัญทั่วไปก็ยังมีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยดองจิตสันดานอยู่ กำหนดดูที่ใจก็จะเห็นได้”


อนุมานจากคำสอนดังกล่าว เราจะพบว่า กิเลสก็ดี ราคะ โลภะ โทสะ โมหะก็ดี ล้วนแต่เกิดขึ้นด้วยการเอาจิตไปจับที่อารมณ์ดังกล่าว การระวังจิตด้วยการกำหนดใจ มีสติเหมือนเห็นป้ายคำว่า “ระวังจิต” ติดไว้อยู่ทั่วใจ จึงเป็นหลักการง่ายๆ ที่มนุษย์พึงกระทำ

หากเราลองมาสำรวจกายสำรวจใจกันก่อน ด้วยวิธีการง่ายๆ ซึ่งพระอาจารย์ชัยณรงค์ ได้แนะนำไว้ว่า เริ่มต้นให้นั่งหลังให้ตรง ดำรงสติ เตรียมพร้อมรับรู้ดูว่า วันนี้เราพร้อมหรือไม่ในการที่จะเรียนรู้ข้อของใจ ข้อของกายเราเอง ด้วยการนั่งสมาธิ เพื่อสำรวจตัวเองดูว่า ขณะนี้กายและใจเป็นอย่างไร

สำรวจกายด้วยการรู้เท่าทันอิริยาบถการนั่งของตนเองว่านั่งอย่างไร บางท่านอาจนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งขาซ้ายทับขาขวา ขาขวาทับขาซ้าย มือวางอย่างไรให้รู้เท่าทันความรู้สึกในปัจจุบัน

ต่อด้วยการสำรวจใจ ด้วยการพิจารณาว่า กำลังฟุ้งซ่านอยู่หรือไม่ ให้นำความรู้สึกนึกคิด ณ ขณะเวลานี้ ให้อยู่กับปัจจุบันขณะจิต หลับตาดูแล้วพิจารณาตัวเองว่าเป็นอย่างไร พร้อมกับการฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออก

“ลองดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออกว่า เวลาหายใจเข้าเป็นเช่นไร หายใจออกเป็นเช่นไร ดูตามความเป็นจริง ดูเข้าไปซื่อๆ ตรงๆ ไม่ต้องปรุงต้องแต่งทั้งสิ้น

ดูด้วยความอ่อนน้อม อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ ถ้าเราหายใจเข้ารู้สึกอึดอัดขัดเคือง รู้ได้เลยว่าเรากำลังข่มลมหายใจอยู่

ลองดูวิธีการดูลมหายใจใหม่ หายใจเข้าช้าๆ สบายๆ หายใจได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ต้องไปข่มเขา เพราะว่าถ้าไปข่มลมหายใจ หายใจเข้ากักเก็บเอาไว้เยอะแยะ หายใจออกผ่อนคลายยาว จนกระทั่งต้องมานั่งดูเวลาเนี่ย ถือว่าเราไปข่มลมหายใจเข้า ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิไม่ใช่สัมมาสมาธิ”


เมื่อสำรวจจิตด้วยการนั่งสมาธิและภาวนาไปแล้ว ต่อมาให้ลองสำรวจกายของตนดูบ้างว่า นั่งไปนานๆ มีอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ตรงส่วนไหนของร่างกายบ้าง ศูนย์กลางแกนกายตรงไหนบ้างที่ผิดรูป พิจารณาถึงสาเหตุของการเจ็บปวดกายา เพื่อทำความเข้าใจว่า นี่เป็นเรื่องของ “กรรม” ที่แปลว่าการกระทำ ไม่ใช่เรื่องของ “กรรมเวร” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจและมักกล่าวโทษ

มนุษย์ควรฝึกฝนในการรู้จักรักและเข้าใจตนเองก่อนเป็นอันดับแรกหากตนยังไม่เข้าใจในตน คงเป็นการยากที่จะเข้าใจบุคคลอื่นได้

เมื่อมนุษย์เข้าใจและรู้จักยอมรับในข้อดีข้อเสียของตนเอง และปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว จะทำให้เรารู้จักและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตนเองอย่างมีความสุข ซึ่งนั่นหมายถึงการกลับไปสู่ “ธรรม” ซึ่งเป็นจุดเริ่มของทุกสรรพสิ่งนั่นเอง

สนใจสั่งซื้อ DVD ปรับสมดุลสุขภาพกายพิชิตโรค ชุด เรียนรู้ ดูแล แก้ไข ป้องกันโรคภัย โดยพระอาจารย์ชัยณรงค์ อุปสโม สำนักสงฆ์เขมาภิรโต อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ติดต่อได้ที่ โทร. 02-629-2211 ต่อ 2423, 2493 หรือ 08-6785-6828, 08-3297-8352

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย กานต์ จอมอินตา)

กำลังโหลดความคิดเห็น