xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อการเรียนรู้ ดูแล แก้ไข ป้องกันโรคภัย ตามแนวทางวิถีพุทธ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านพ้นไปแล้วครับ สำหรับงานอบรมเชิงปฏิบัติการปรับสมดุลสุขภาพกาย พิชิตโรค ปีที่ ๒ โดยพระอาจารย์ชัยณรงค์ อุปสโม แห่งสำนักสงฆ์เขมาภิรโต อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เป็นวิทยากร งานนี้โครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV เป็นเจ้าภาพเช่นเคยครับ

ในการอบรมครั้งนี้ พระอาจารย์ชัยณรงค์ ได้เมตตาให้นำไปผลิตเป็น DVD จำหน่าย เพื่อให้ได้รับองค์ความรู้และเทคนิคในการดูแลตนเอง ให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บกันอย่างทั่วถึง ตามแนวทางวิถีพุทธ

ผมจึงได้สรุปเป็นโครงร่างคร่าวๆ ในการจัดงานอบรม บันทึกภาพและตัดต่อเนื้อหาที่จะถ่ายทอดลง DVD มีอยู่ด้วยกัน ๖ แผ่นครับ ประกอบไปด้วย ๔ ประเด็นหลัก คือ เรียนรู้ ดูแล แก้ไข ป้องกันโรคภัย

๑. เรียนรู้ คือการเรียนเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเหตุแห่งโรคภัยของมนุษย์ปุถุชน อันก่อให้เกิดความทุกข์ ทางร่างกายและจิตใจ ในขณะเดียวกันพึงสังวรณ์ไว้อยู่เสมอ ว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง จึงมิควรอย่างยิ่งที่จะไปยึดติดในร่างกาย รูปลักษณ์ภายนอก

๒. ดูแล เป็นการดูแลกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการนำหลักธรรมะเข้ามาปรับเปลี่ยนความคิดและจิตใจ ปรุง แต่งภายในของตนให้ผ่องใส ปราศจากโรคภัยใดๆ มากล้ำกราย ตลอดจนการหมั่นฝึกฝนด้วยการดึงพลังแฝงในกายและใจ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วย “กายานุปัสสนา” หากดูแลแล้วยังเจ็บป่วยไข้ ต้องยึดตามแนวทางในข้อต่อไป

๓. แก้ไข จะเป็นแนวทางการแก้ไขอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับทางร่างกายด้วยตนเอง โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ สุขภาพ ที่ผสานกับการแพทย์แผนจีนร่วมสมัย ที่พระอาจารย์ชัยณรงค์ได้ศึกษามานานหลายสิบปี และมีประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย

สุดท้าย ๔. ป้องกัน คือแนวทางการป้องกันอาการป่วยกายป่วยใจ ด้วยหลักโภชนาการที่ถูกต้อง โดยใช้ “อาหารเป็นยา” สูตรที่พระอาจารย์ชัยณรงค์ถ่ายทอด กลเม็ดเคล็ดลับของการปรุงอาหารในทุกมื้อให้อิ่มกายสบายใจไม่เจ็บป่วย ตลอดจนการสรรหาวิธีการผ่อนคลายกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำแร่-ขจัดพิษด้วยสมุนไพร และขยับกายสบายชีวีวิถีพุทธ

พระอาจารย์ชัยณรงค์ได้แสดงธรรมบรรยายในหัวข้อ “กายานุปัสสนา” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสติปัฏฐาน ๔ ในขณะที่พระอาจารย์จะเน้นการฝึกดึงเอาพลังแฝงในกายและใจมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

กายานุปัสสนาติปัฏฐานมีอยู่ ๑๔ บรรพะ คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑ และป่าช้า ๙ พระอาจารย์ชัยณรงค์ได้อธิบายรายละเอียดเอาไว้ ดังนี้

อานาปานสติ ๑ คือ ดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เกิดการพิจารณาตามความเป็นจริงว่า มนุษย์เราหากหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หากหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราไม่ประมาท ตามหลักอาณาปานสติ นั่นคือการยังความประมาทในเบื้องต้นนั่นเอง

อิริยาบถ ๑ คือ รู้จัการยืน การเดิน การนั่ง ด้วยการสำรวจ ท่วงท่าอิริยาบถของตนเองในแต่ละขณะจิตว่าเป็นเช่นไร

สัมปชัญญะ ๑ คือ การตื่นรู้อยู่เสมอเมื่อขยับตัว โดยอาศัยหลักของลมหายใจ เข้าเมื่อเคลื่อนมือเข้าหากัน และลมหายใจ ออกเมื่อคลายมือออกจากกัน

ปฏิกูล ๑ คือ การพิจารณาในกายมนุษย์เรา ว่าเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล เหมือนที่พระบวชใหม่ต้องพิจารณา เกศา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (ผิวหนัง) ว่าที่สุดแล้วสิ่งแล้วนี้ล้วนแต่เป็นปฏิกูลด้วยกันทั้งสิ้น

ธาตุ ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๔ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ธาตุ ๔ เป็นหลักธรรมชาติในตน เพื่อให้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ในตัวเราไม่มีตัวเรา มีแต่ธาตุทั้งสี่ที่มาประชุมกัน ร่างกายของเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เอามาผสมกันเข้าเป็นเรือนร่าง

ธาตุดิน ได้แก่ ของที่แข็ง มีหนัง มีเนื้อ มีกระดูก เป็นต้น

ธาตุน้ำ ไ ด้แก่ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น

ธาตุไฟ ได้แก่ ความอบอุ่นในร่างกาย

ธาตุลม ได้แก่ ลมที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจ เป็นต้น

ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้ในกายนี้ ทั้งธาตุแต่ละธาตุก็ต้องมีความแข็งแรงสม่ำเสมอกัน ร่างกายของเราจึงจะมีความสมบูรณ์พูนสุข การที่ร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย แสดงว่าธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งมันบกพร่อง มีการทรงตัวไม่เสมอกัน

ป่าช้า ๙ หรือนวสีวถิกา คือ การพิจารณาความตาย อสุภะเป็นที่ตั้ง คือให้หมั่นพิจารณาดูว่า หากตายหนึ่งวัน ร่างกายเป็นอย่างไร ตายสามวัน ตายเจ็ดวัน ตายหนึ่งเดือน ตายสามเดือน ตายหนึ่งปี ร่างกายจะเป็นอย่างไร ให้พิจารณา ตามความเป็นจริงว่า เราจบชีวิตนี้ไปก็จะเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

พระอาจารย์ชัยณรงค์ อุปสโม อธิบายถึงหลักการดึงพลังแฝงในตนออกมาใช้ว่า

“ปกติแล้ว ในร่างกายมนุษย์จะมีพลังอยู่ ๑๐๐% แต่สามารถดึงออกมาใช้จริงๆ ได้ไม่ถึง ๕% ด้วยซ้ำไป แถมยังเอาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เครียดบ้าง หงุดหงิดบ้าง โมโหบ้าง ทั้งๆ ที่ยังมีพลังอีกกว่า ๙๕% ที่มนุษย์เราไม่ได้นำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์”

ดังนั้น การฝึกดึงพลังแฝงในตนเองออกมา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากต่อชาวพุทธ สำหรับผู้ที่อยากจะฝึกหัดทำ ขอให้เริ่มต้นด้วยการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ให้เกิดรู้ในอารมณ์ของตน รู้ในกายของตน เพื่อให้เกิดสมาธิ เกิดการรวมกายรวมใจ และต้องกระทำคู่ขนานไปกับองค์คุณภาวนาตามแต่ละบุคคลยึดถือ บางท่านอาจจะระลึก พุทโธ พุทโธ คู่ขนานไปกับการหมั่นทดสอบลมหายใจเข้าออกอยู่ทุกขณะจิต ด้วยการหายใจ สังเกตได้ง่ายๆว่า “ถ้าหายใจเข้าให้ท้องป่อง หายใจออกให้ท้องแฟบ”

จากนั้นให้ยกมือขึ้นมาระหว่างอกในท่าพนมมือ แต่ไม่ประกบมือ ผ่อนลมหายใจออกยาวๆ หายใจเข้าขณะดึงมือเข้าหากัน และหายใจออกขณะแยกมือออกจากกัน ให้จับความรู้สึกที่ตรงกลางใจมือในระหว่างการหายใจเข้าออกว่าเป็นเช่นไร ลักษณะดังกล่าวเป็นการหางานให้จิตทำ โดยให้จิตอยู่กลางใจมือ เพื่อเตรียมตัวรู้ให้พร้อมรับรู้อยู่เสมอ

เมื่อหายใจออกจะเหมือนมีแรงผลักออกจากกัน เมื่อหายใจเข้าจะเหมือนมีแรงดึงดูดเข้าหากัน พระอาจารย์ชัยณรงค์ อธิบายว่า นี่เป็นพลังส่วนหนึ่งที่อยู่ในใจของมนุษย์โดยที่เราไม่รู้ตัว ทำเช่นนี้สัก ๕ นาที จะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้น

ต่อมา ให้หงายมือไว้เหนือเข่า จับความรู้สึกที่นิ้วมือของเราในแต่ละนิ้วๆ จะเกิดความรู้สึกซาบซ่าจากปลายนิ้วมือค่อยๆ ไล่เข้าสู่ตัวเรา เกิด “ปราณ” ขึ้น ความรู้สึกนี้ ที่จริงมีอยู่ในจิตเรา เป็นคลื่นที่อยู่ในใจเรา

เหล่านี้เป็นหลักการง่ายๆ ในการฝึกดึงพลังแฝงในตนออกมาใช้ ควบคู่ไปกับกายานุปัสสนาติปัฏฐาน หมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า “บนโลกใบนี้ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่สมมติขึ้นมาทั้งสิ้น ทุกชีวิตเกิดมาบนโลกใบนี้ ล้วนเป็นสิ่งสมมติด้วยกันทั้งสิ้น ทำให้จำได้ หมายให้รู้ไว้” เมื่อกระทำการเรียนรู้เรื่องฝึกจิตและฝึกการพิจารณาได้ดังนั้นแล้ว พลังแฝงที่ออกมาก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดในด้านที่ดี สามารถนำไปใช้ในการดูแลตนเองและผู้อื่นได้ครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย กานต์ จอมอินตา)


กำลังโหลดความคิดเห็น