มีเรื่องเล่าขานกันว่า ด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาและเพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินไทย ที่เป็นแหล่งทำมาหากินจนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ชาวจีนสามคนที่อพยพมาอยู่ในย่านสำเพ็ง จึงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นในปี 2374 และเรียกชื่อว่า “วัดสามจีน” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยาราม” และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เมื่อ พ.ศ.2499
วัดนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ อาทิ พระพุทธทศพลญาณ พระประธานอันงดงามภายในพระอุโบสถ อีกทั้งภายหลังมีการพบพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียกขานกันว่า “หลวงพ่อทองคำ” เป็นพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย ซึ่งดึงดูดพุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ ให้เดินทางมาสักการบูชา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
เมื่อกาลเวลาผ่านไป การประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในพระวิหารหลังเดิมไม่สมเกียรติภูมิที่กว้างไกล เพราะในแต่ละวันมีผู้คนทั้งในประเทศและทั่วโลก เดินทางมาสักการบูชาจำนวนมาก ทำให้พระวิหารดูคับแคบ
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยความร่วมมือประสานใจระหว่างราษฎร์และรัฐ ทั้งชุมชนเยาวราช ประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ วัดไตรมิตรวิทยาราม และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้มีมติเห็นว่าควรจะร่วมกันจัดทำ “โครงการจัดสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร วัดไตรมิตรวิทยาราม” เพื่อเพิ่มความสง่างามแก่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550
โครงการจัดสร้างพระมหามณฑปฯ เริ่มต้นขึ้นในปี 2550 เป็นการดำเนินงานและควบคุมดูแลออกแบบก่อสร้างร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) การก่อสร้างพระมหามณฑปฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่
ชั้นที่ 1 พื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งเป็นห้องประชุม และสำนักงาน
ชั้นที่ 2 เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของชุมชนเยาวราช ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย
ชั้นที่ 3 นิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ถ่ายทอดเรื่องราวของพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ในแง่มุมต่างๆ ประกอบไปด้วยการจัดแสดงสื่อผสม แสง เสียง และภาพเคลื่อนไหว
ชั้นที่ 4 สถานที่ประดิษฐานพระมหาสุวรรณปฏิมากร โดยบานประตูและหน้าต่าง ทำจากไม้สักทั้งต้น เขียนลายรดน้ำเป็นภาพทวารบาล ประดับด้วยลายแบบสุโขทัยประยุกต์
ซุ้มเรือนแก้วประกอบด้วยเสาทรงแปดเหลี่ยม เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผิวบุหินอ่อน ปลายเสาสอบเข้าหากัน ด้านบนมีซุ้มประตูทำด้วยไม้แกะสลักเป็นลวดลาย ปิดทองประดับกระจกทั้ง 4 ทิศ
ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย แกะสลักจากหินอ่อนไวท์คาร์ราร่า ซึ่งหายากที่สุดในโลก เป็นหินทั้งก้อนนำเข้าจากเหมืองในประเทศอิตาลี โดย
ผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้ก้อนหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเนื้อหินบริสุทธิ์ที่สุด
ลานประทักษิณปูลาดด้วยหินอ่อนสีน้ำตาลอมทองสลับกับสีขาว ส่วนด้านบนมีดาวเพดานทำจากไม้แกะสลักเป็นลวดลายกลีบดอกบัว ปิดทองประดับกระจก
การก่อสร้างพระมหามณฑปฯ และการอัญเชิญพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ประดิษฐานบนพระมหามณฑปฯ ได้รับพระราชทานพระกรุณาจากพระบรมวงศ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นับ
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนแล้วเสร็จ
โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานเทศกาลตรุษจีนไชน่าทาวน์เยาวราช และได้ทอดพระเนตรแบบจำลองพระมหามณฑปฯ
วันที่ 2 กันยายน 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และทรงปิดทองยอดฉัตรของพระมหามณฑปฯ ณ วังไกลกังวล หัวหิน
วันที่ 22 กันยายน 2551 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเป็นประธานในพิธีถอดเกตุมาลาพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ถือเป็นปฐมฤกษ์แห่งการเคลื่อนย้ายองค์พระจากวิหารเดิม
และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯแทนพระองค์ไปทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระมหาสุวรรณปฏิมากร ในโอกาสนี้ ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการภายในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช และนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
ด้วยพุทธบารมีของพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรและพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชจักรีวงศ์ ดลบันดาลให้พระมหามณฑปฯหลังนี้สร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี นับเป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่อลังการงามสง่าคู่แผนดินโดยแท้
วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนได้เข้าสักการะพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรได้ทุกวัน และชมนิทรรศการได้ทุกวันอังคาร ถึง วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 08.00 – 17.00 น.
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)