xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : กายป่วย ใจไม่ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความเจ็บไข้ของคนเรามีสาเหตุจาก 2 ประการ คือ การได้รับเชื้อโรคจากภายนอก มลภาวะต่างๆ และการที่ร่างกายขาดภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายผิดปกติไป จึงเกิดการเจ็บไข้ขึ้น

หนทางป้องกันและแก้ไข คือ การหลีกเลี่ยงจากการรับเชื้อโรคจากภายนอก และการสร้างภูมิต้านทานภายในร่างกายให้ดี เพื่อปิดโอกาสแก่การเจ็บไข้

จิตใจและร่างกายของคนเรายังมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อร่างกายมีความผิดปกติขึ้น บางครั้งก็มีผลทำให้จิตใจพลอยเจ็บไข้ไปด้วย ในทำนองเดียวกัน เมื่อจิตใจห่อเหี่ยวและอ่อนแอ ก็เป็นเหตุให้ร่างกายเจ็บไข้ได้เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อร่างกายต้องเจ็บไข้ขึ้นมา พึงพยายามทำจิตใจให้แช่มชื่นเข้มแข็ง และรู้เท่าทันความจริง เพื่อจะได้มีกำลังใจไว้ต่อสู้ต้านทานความเจ็บไข้ทางร่างกาย ตามหลักที่ว่า “ป่วยแต่ร่างกาย จิตใจไม่ป่วยด้วย” ก็จะช่วยให้เกิดภูมิต้านทานภายในขึ้นทางหนึ่ง

พร้อมกันนั้นก็ถือเอาภาวะที่ร่างกายเจ็บไข้และเป็นทุกข์นี้ เป็นเหตุและอุปกรณ์ในการศึกษาธรรมให้เข้าใจความจริง โดยธรรมชาติที่แสดงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้เกิดสติปัญญาและความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจต่างๆ

ภาวะที่ต้องเจ็บไข้ก็กลับกลายเป็นคุณแก่จิตใจ คือทำให้ได้ศึกษาเข้าใจธรรม และเกิดการปล่อยวาง คลายความยึดมั่น อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทางใจ ทำให้จิตใจเกิดกำลังและภูมิต้านทานต่อสู้กิเลสตัณหาอุปาทาน และมีผลทำให้ร่างกายมีความปกติขึ้น โดยยึดหลักที่ว่า “แสวงหาความสุขได้จากความทุกข์” และใช้ธรรมโอสถช่วยเยียวยาด้วยอีกทางหนึ่ง

ในร่างกายของพวกเราแต่ละคนนี้ ญาติโยมทุกคนอย่านึกว่าปลอดภัยนะ เราไม่รู้หรอกว่ามีอะไรอยู่ในตัวของเราบ้างเวลานี้ มีเชื้อโรคชนิดไหนอยู่ที่ลำไส้ ที่ตับที่ไตที่กระเพาะ หรือว่าที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เราก็ไม่รู้ เพราะว่ามันไม่แสดงอาการรุนแรง หรือเพราะความต้านทานของร่างกายเรายังดีอยู่

ตราบใดที่ความต้านทานยังดีอยู่ เราก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไรร่างกายเราอ่อนแอ ไม่มีความต้านทานเพียงพอ เราก็รู้สึกว่าเป็นโรค ไม่สบาย แล้วไปหาหมอ

บางทีเมื่อไปหาหมอ หมอบอกว่า แหม มันมากเสียแล้ว ไม่สามารถรักษาได้ เช่น โรคมะเร็ง มันมาแอบซุ่มทำร้ายร่างกายเราอยู่ตั้งนาน พอเกิดเจ็บปวดก็อาการหนักเต็มทีแล้ว พอไปหาหมอก็เรียกว่าเข้าขั้นโคม่า ไม่สามารถจะรักษาได้แล้ว เราก็ถึงแก่กรรมตายไปตามๆ กัน อันนี้มันเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใด ก็ได้

เพราะฉะนั้น เราจึงควรจะได้คิดไว้ล่วงหน้าในเรื่องอย่างนี้ ว่างๆ ก็พูดกับตัวเองเสียบ้างว่า “เออ! อย่าประมาทนะ อย่าเพลิดเพลินนักนะ ร่างกายนี่มันเป็นของเปราะ”

สมัยนี้การศึกษาค้นคว้าเจริญก้าวหน้า เราก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงต้องศึกษา สนใจไว้ ถ้าเห็นว่ามีอาการผิดปกติ ก็จะได้รีบรักษา หรือว่าถ้าไม่มีอาการผิดปกติ เราก็จะได้หาทางป้องกันไว้ เช่น ไม่ดื่มของเป็นพิษเข้าไปในร่างกาย ไม่สูดดมของเป็นพิษเข้าไปในร่างกาย ไม่กินอาหารประเภทที่จะเป็นพิษเป็นภัย

คนไม่ประมาทเขาก็นึกป้องกันอย่างนั้น สถานที่ใดที่ไปแล้วมันจะมีการเกิดโรคเกิดภัย เรารักชีวิตรู้คุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ว่ามันมีค่าอย่างไร เราก็ไม่ไปในสถานที่นั้น คนใดมีโรคติดต่อเราก็ไม่เข้าใกล้บุคคลนั้น

แต่ว่าคนเรานี้ถึงจะระมัดระวังสักเท่าใด ก็มีเวลาเผลอ เมื่อเผลอเข้ามันก็เป็นได้ เพราะสมุฏฐานมันมีมากมายหลายเรื่องหลายประการ เราระวังอยู่แล้วล่ะ แต่ก็ยังเผลอจนได้

เวลาเราเจ็บไข้นี่ก็เหมือนกัน เราได้ศึกษาเรื่องชีวิตของเรา เราศึกษาจิตใจของเรา ได้ทดลองสอบไล่ตัวเอง ว่าอย่างนั้นเถิด ได้สอบไล่ตัวเองว่าที่เราเรียนธรรมะ เราปฏิบัติธรรมะ เป็นเวลานานๆ ปีนี่ มันใช้ได้ไหม มันเป็นประโยชน์แก่เรา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่

นี่แหละเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจว่าเข้มแข็งขนาดไหน มีความวิตกกังวลหวาดกลัวอะไรกันบ้าง หรือมีอะไรแทรกแซง เป็นโรคซ้อนเข้ามาในจิตใจของเราบ้าง

เมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย มันดีตรงนี้ จะได้พิจารณา จะได้ศึกษาเรื่องชีวิตของเราขณะที่เรานอนอยู่ เพราะว่าเวลาป่วยไม่ได้ทำอะไร เขาให้นอนเฉยๆ ให้รับประทานยาบ้าง ฉีดยาบ้างไปตามเรื่อง

เราควรจะใช้เวลานั้นเพื่อศึกษาชีวิตร่างกายสภาพจิตใจของเราว่ามันมีความรู้สึกอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเราบ้าง เป็นความทุกข์ ความวิตกกังวล หรือว่าความเฉยๆ หรือว่าสติปัญญาพอจะมองเห็นอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายได้อย่างถูกต้อง นี่เราจะได้รู้ว่าเรามีสภาพอย่างไร

อีกประการหนึ่ง ยังจะรู้ต่อไปว่า ญาติ มิตรเพื่อนฝูงทั้งหลาย เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ เขารู้สึกอย่างไร มีความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่ หรือเอาใจใส่ต่อเราขนาดไหน ช่วยเหลือเราประการใดบ้าง เราก็รู้ เพราะเขาว่ายามยากก็เห็นใจมิตร เราจะได้รู้ว่าญาติโยมทั้งหลาย เพื่อนฝูงมิตรสหายมีความรู้สึกอย่างไร

ในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะได้รู้ ปกติก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร พอมีเรื่องขึ้นก็ได้เห็นว่า อ้อ! มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ ทำให้เกิดประโยชน์แก่จิตใจหลายแง่หลายมุม ที่เราจะได้ศึกษาเรื่องนั้นๆ จากความเจ็บไข้ได้ป่วย

เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องแพ้เขา แต่ก็รักษากันไปตามเรื่อง หมอมีหน้าที่รักษาร่างกาย เรามีหน้าที่รักษาจิตใจของเรา จิตใจเรานั้น คนอื่นรักษาให้ไม่ได้ เราต้องรักษาของเราเองให้มันมีความสงบใจ

โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้น ถ้าเราใจดี ใจสงบ มันจะหายไว แต่ถ้าใจมีความวิตกกังวลทุกข์ร้อนเรื่องอะไรต่างๆ โรคมันจะหนักลงไป

ยิ่งโรคบางโรคเกี่ยวข้องกับกำลังใจที่สุด เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างกำลังใจ เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา จะทำให้เราสบายใจ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)

กำลังโหลดความคิดเห็น