ผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้วจะมีความรู้สึกต่อ (๑) บัญญัติ (๒) สภาวะของธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ (๓) สภาวะของจิต (๔) สภาวะของธรรม ซึ่งในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องสภาวะธรรมไปบ้างแล้ว
ผู้เข้าถึงธรรมนี้แล้ว จะเข้าใจเส้นทางธรรมได้ตลอดทั้งสาย และอาจอุทานด้วยความร่าเริงใจว่า
“เมื่อจิตหลุดออกจากโลกของความคิด
จิตก็รู้รูปนามอันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน
เมื่อจิตรู้รูปนามโดยไม่เติมแต่งสิ่งใดลงในการรู้
จิตก็เห็นเงาของธรรมอันสงบสันติที่แทรกซ้อนอยู่อย่างเร้นลับ
อันเป็นความสงบในท่ามกลางความเคลื่อนไหว
อันเป็นความร่มเย็นในท่ามกลางความเร่าร้อน
และเมื่อกำลังของปัญญาแก่กล้าพอ จิตจะปล่อยวางรูปนาม
แล้วเข้าถึงธรรมอันสงบสันตินั้นเองโดยอัตโนมัติ
เมื่อจะเข้าถึงธรรมอันสงบสันติ จิตก็เข้าถึงของเขาเอง
เมื่อจะทรงอยู่กับธรรมอันสงบสันติ จิตก็ทรงอยู่ของเขาเอง
ไม่ต้องพยายามหรือบังคับให้จิตเข้าถึงและทรงอยู่กับธรรมนี้
หากยังบังคับ หรือเพียงจงใจหมายรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแม้กระทั่งจิต
จิตจะเกิดภพคือการทำงานทางใจ
และห่างไกลจากธรรมนี้ออกไปอีก
ต่อเมื่อรู้แจ้งในความจริงของรูปนาม
จนปล่อยวางรูปนามได้นั่นแหละ
ไม่ต้องทำอะไรเลย ก็เข้าถึงธรรมนี้ได้แล้ว
เมื่อเข้าถึงธรรมอันสงบสันตินี้แล้ว
หากมีกิจที่จะต้องสัมผัส/สัมพันธ์กับโลก จิตก็รู้บัญญัติและรูปนาม
จิตอนุโลมตามโลก คือคล้อยตามสมมุติบัญญัติของโลก
เช่นโลกเขาเรียกว่าผู้หญิง ก็ผู้หญิงกับเขา
โลกเขาเรียกว่าผู้ชาย ก็ผู้ชายกับเขา
แล้วปฏิบัติต่อผู้หญิงและผู้ชายไปตามสมมุติ
หรือตามมารยาทของโลก
ด้วยความรู้เท่าทันว่าผู้หญิงไม่มี ผู้ชายไม่มี
มีแต่รูปกับนาม เป็นต้น
ในการดำรงชีวิตอยู่นั้น เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน
เมื่อร่างกายต้องการขับถ่ายก็ขับถ่าย
เมื่อมีเรื่องขบขันก็ยิ้มแย้ม เมื่อมีเรื่องควรสลดสังเวชก็มีธรรมสังเวช
ไม่เสแสร้งสงบสำรวม แต่มีอาการทางกายและวาจา ไปตามวาสนาที่เคยชิน
ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเพียงกิริยาอาการในความว่างเปล่า
และไม่กระเทือนเข้าถึงธรรมอันสงบสันตินั้นเลย
เมื่อหมดกิจที่จะต้องสัมผัส/สัมพันธ์กับโลก
จิตก็อยู่กับธรรมอันสงบสันติ ซึ่งเป็นอมตธาตุอมตธรรมนั้น
และเมื่อคราวจะตาย
จิตก็ทิ้งความรับรู้รูปนาม หดตัวเข้ามารู้เฉพาะความสงบสันตินั้น
แล้วรูปนามก็ดับไป”
ธรรมเหล่านี้ผู้เขียนเคยได้รับฟังมาจากครูบาอาจารย์ พระป่าหลายรูป เห็นว่าแปลกดีจึงจำมาเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนนักปฏิบัติ
ท่านที่กล่าวถึงธรรมเหล่านี้ก็เช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ หลวงพ่อกิม ธมฺมทีโป วัดป่าดงคู จังหวัดสุรินทร์ และอีกองค์หนึ่งคือหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์
โดยเฉพาะหลวงปู่สุวัจน์ ท่านเล่าประสบการณ์ของท่านให้ฟังว่า ธรรมนี้เป็นของง่าย เมื่อเข้าใจแล้วท่านถึงกับด่าตนเองว่าโง่แท้ ของเท่านี้เห็นก็เห็นอยู่แต่ไม่เข้าใจ แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ท่านบอกว่าจิตใจของท่านมีความสุขมาก ไม่นึกไม่ฝันเลยว่า บวชมาแล้วจะมีความสุขได้มากมายถึงขนาดนี้ เวลานี้ท่านเหล่านี้มรณภาพไปแล้ว หากท่านหมดกิเลส ท่านก็คงสบายไปแล้ว ยังเหลือก็แต่พวกเราจะต้องพากเพียรเจริญสติรู้รูปนามเพื่อเอาตัวรอดกันต่อไป
สรุปแล้ว พวกเรามีหน้าที่ตามรู้รูปนามตามความเป็นจริงต่อไปเนืองๆ จนเห็นรูปนามมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ ไม่ต้องไปคิดถึงสุญญตาใดๆให้เสียเวลารู้สึกตัว ต่อเมื่อเห็นรูปนามเป็นของสูญ อันเป็นการเห็นสุญญตาตามนัยหนึ่งแล้ว ก็จะเข้าใจความหมายของสุญญตา ในอีกนัยหนึ่งได้ด้วยตนเองทีเดียว
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)