xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ทางเลือกใหม่แพทย์แผนจีน "ศาสตร์ทุยหนา" พิชิตโรคเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในบรรดาศาสตร์แพทย์แผนจีนที่มีอยู่หลายแขนง “การฝังเข็ม การจับชีพจร (แมะ)” จัดเป็น 2 ศาตร์การแพทย์แผนจีน ที่คนไทยคุ้นเคยมานาน อย่างไรก็ตาม ยังมีการแพทย์แผนจีนอีกแขนงหนึ่งที่บรรดาหมอจีนใช้ในการรักษาโรคผู้ป่วย เช่นกัน บางครั้งใช้รักษาควบคู่ไปกับการฝังเข็มและการจับชีพจร แต่อาจไม่ถูกกล่าวขานถึงมากเช่นเดียวกับการฝังเข็ม และการจับชีพจร นั่นคือ “ทุยหนา” ศาสตร์นวดเพื่อการจัดกระดูก เป็นวิชาที่สืบทอดกันในประเทศจีนมานานนับพันปี โดยมีหลักฐานต้นตำรับทางการแพทย์ปรากฏอยู่ในบันทึก “หวงตี้เน่ยจิง” โดยจุดเด่นของวิชานี้ คือ การบำบัดรักษาโรคกล้ามเนื้อหดลีบ อ่อนแรง อันเกิดจากความผิดปกติของเลือดลม

กระทั่งปัจจุบัน ได้มีการใช้ศาสตร์ทุยหนารักษาโรคทางด้านอายุรเวช ศัลยกรรม สูตินรีเวช กุมารเวช การบาดเจ็บของร่างกายและความผิดปกติหู ตา ปาก จมูก ลิ้น และมีการปรับใช้กับการแพทย์แขนงอื่นๆรวมทั้งมีการเรียบเรียงศาสตร์ดังกล่าวขึ้นมาใหม่

ขณะที่ทางด้านวิชาการศาสตร์ทุยหนาได้ถูกยกระดับเป็นวิชาการแพทย์แผนจีน อีกแขนงหนึ่งของมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีน ให้กับนักศึกษาแพทย์จีนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ทำให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับเมืองไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับว่าการแพทย์แผนจีนและหมอจีนได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ทุยหนาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ ศาสตร์แพทย์แผนจีนอย่างเป็นทางการ พร้อมกับความสามารถตอบโจทย์รักษาโรคต่างๆที่เกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท จนเกิดอาการผิดปกติทางร่างกายแบบเรื้อรัง หาหมอรักษาและรับประทานยาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ก็ไม่หายขาด

“ศาสตร์การแพทย์แผนจีนทุยหนา เป็นศาสตร์นวดจัดกระดูกให้เข้าที่หรือเป็นปกติ โดยการนวดด้วยมือ เข้ามาเมืองไทยนานมากแล้วพร้อมกับการฝังเข็ม จับชีพจร แต่สาเหตุไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากหมอจีนรุ่นเก่าไม่สามารถอธิบายการรักษาโรคออกมาเป็นระบบหรือเป็นศาสตร์ กระทั่งแพทย์จีนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาวิชาทางการแพทย์และศึกษาวิชาการรักษาทั้งฝังเข็มและทุยหนา จากสถาบันอย่างเป็นระบบ ทำให้กลายเป็นศาสตร์การรักษาที่สามารถอธิบายอย่างชัดเจน และเป็นที่กล่าวขานรู้จักกันในแพทย์แผนจีนมากขึ้น” หลินตันเฉียน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา ด้วยศาสตร์ทุยหนาในเมืองไทยมานานนับสิบปี และอุปนายกสมาคมแพทย์จีนในประเทศไทย บอกเล่าถึงที่มาของการแพทย์แผนจีนว่าด้วยศาสตร์ทุยหนา

จากประสบการณ์ในฐานะแพทย์แผนจีนในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2537 ที่โรงพยาบาลเทียนฟ้า แถวเยาวราช หมอหลิน บอกด้วยว่า การรักษาแพทย์แผนจีนแบบทุยหนาในเมืองไทย ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นรองการแพทย์แผนจีนแบบฝังเข็มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

แต่การฝังเข็มไม่สามารถรักษาโรคบางชนิดได้ เช่น กระดูกเบี้ยว หรือกระดูก ทับเส้นประสาท หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากกระดูกคอ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัว ไมเกรน แม้กินยาแก้ปวดคลายเส้นเท่าไหร่ก็ไม่หาย หรือบางรายกินยารู้สึกดีขึ้น แต่เมื่อหยุดกินยา อาการโรคก็กำเริบอีก แต่อาการโรคดังกล่าว ทุยหนาสามารถรักษาให้หายได้

“ปัจจุบันศาสตร์ทุยหนาเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับจากผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน โดยผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้วยทุยหนา ทั้งที่คลินิกและโรงพยาบาลหัวเฉียว ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีปัญหากระดูกคอ กระดูกสันหลัง โดยกระดูกคอ (มี 7 ข้อ) หากไปกดทับเส้นประสาท ก่อให้เกิดอาการปวดหัว นอนไม่หลับ วิงเวียน ไมเกรน จมูกอักเสบ หูอื้อ สาเหตุอาจเกิดจากการนั่งก้มทำงานที่โต๊ะคอมพิวเตอร์นานๆ โดยผู้ป่วยรับประทานยาแผนปัจจุบันแก้ปวด หรือคลายกล้ามเนื้อ ก็ไม่หายขาด เพราะเกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท แก้ไขด้วยการจัดกระดูกให้กลับเป็นปกติ”

ทั้งนี้ กระดูกคอหรือกระดูกสันหลัง หากผิดปกติ อาจมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น มีเสียงในหู ความดันตาสูง ภูมิแพ้ ปากเบี้ยว อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวไหล่ติดขัด กระดูกเอวเคลื่อน หรือกระดูกข้อสันหลังเข่าเสื่อม ปวดเอว ปวดเข่า หรือปวดประจำเดือน เรื้อรังยาวนาน รับประทานยาและรักษาเท่าไหร่อาการไม่ดีขึ้น ก็มารักษาด้วยทุยหนา โดยอาการต่างๆดังกล่าว มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของกระดูก ไม่ว่ากระดูกคอ กระดูกสันหลัง หรือเอว ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมีปัญหาอันเนื่องมาจากกระดูกบริเวณนั้นๆกดทับเส้นประสาท

อุปนายกสมาคมแพทย์แผนจีน กล่าวว่า การแพทย์แผนจีนเป็นการรักษาโรคแบบองค์รวม เป็นศาสตร์การรักษาที่ละเอียดและลึกซึ้ง ดังนั้น หากผู้ป่วยเป็นโรคก็จะทำการวินิจฉัยรักษาอย่างครบวงจร โดยได้นำศาสตร์การรักษาแพทย์แผนจีนที่มีจุดเด่นๆในแต่ละด้าน มาร่วมกันรักษาและป้องกันอย่างเต็มที่ โดยในแง่ระยะเวลาการรักษาโรคนั้น หมอหลินบอกว่า ขึ้นอยู่กับอาการของโรค ว่าเป็นมากหรือน้อยขนาดใด

สำหรับขั้นตอนการรักษาโรคแบบศาสตร์การแพทย์ทุยหนากับโรคที่เกิดจากกระดูกส่วนต่างๆของร่างกายผิดปกติ หมอหลินอธิบายว่า

ขั้นแรก สอบถามอาการของผู้ป่วย และจับชีพจร (แมะ)เพื่อวินิจฉัยโรค หากมีผู้ป่วยบางรายเคยรักษาโรคจากที่อื่นๆมาก่อน และมีการเอ็กซเรย์ ก็จะนำผลมาประกอบ (ยิ่งมีรายละเอียดชัดเจนมากก็จะทำให้การรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น) ขั้นสอง เป็นขั้นตอนเตรียมพร้อมร่างกาย ประกอบด้วยอบยาสมุนไพร เพื่อคลายกล้ามเนื้อคลายเส้นให้สภาพร่างกายพร้อม ฝังเข็มเพื่อจี้จุดคลายเส้นให้เลือดลมไหลเวียนในเชิงลึก และครอบแก้ว เพื่อตรวจสอบเลือดลม และขั้นสุดท้าย นวดทุยหนา เพื่อจัดกระดูก

“ก่อนเข้ารับการจัดกระดูกด้วยศาสตร์แบบทุยหนา จะให้ผู้ป่วยเข้าเตรียมการรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนจีนแบบอื่นๆประกอบไปด้วย เช่น การจับชีพจร การครอบแก้ว การฝังเข็ม อบสมุนไพร ซึ่ง ขั้นตอนดังกล่าวเปรียบเสมือนตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพการรักษาให้หายเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช้การรักษาแบบแพทย์แผนจีนอื่นๆเข้ามาช่วยเสริม แต่ใช้รักษาด้วยวิธีการจัดกระดูกด้วยศาสตร์ทุยหนาอย่างเดียว ก็สามารถรักษาโรคดังกล่าวให้ได้หาย แต่อาจไม่สมบูรณ์และใช้เวลานานกว่า”

ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษา กรณีรักษาที่คลินิกการแพทย์แผนไทยหลินตันเฉียน มีอัตราค่าบริการดังนี้ ค่าวินิจฉัยโรค 200 บาท อบสมุนไพร 100 บาท หัตถการ ครอบแก้ว 400 บาท ฝังเข็ม 300 บาท และค่าอัตราบริการพิเศษ 600 บาท ทั้งวินิจฉัยโรค + อบยา + หัตถการ + ครอบแก้ว + ฝังเข็ม ส่วนค่ายาคิดตามราคาของยา

หมอหลินเล่าในตอนท้ายว่า มีผู้ป่วยชายรายหนึ่ง อายุ 12 ปี ป่วยเป็นโรคอาการ สั่นทั้งตัว ปวดตามเนื้อตามตัว และมีการเจ็บองคชาติ ก่อนมาเป็นคนไข้เข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนแบบทุยหนากับหมอหลิน เคยไปรักษากับโรงพยาบาล อื่นๆ โดยครั้งนั้นแพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท จึงรักษาด้วยยาระงับประสาท โดยใช้เวลานานประมาณ 6 ปี แต่อาการยังป่วยเรื้อรังไม่ดีขึ้น กระทั่งเข้ามารักษาเป็นคนไข้ของหมอหลินตันเฉียนที่โรงพยาบาลหัวเฉียวและคลินิกฯอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบการรักษาแบบแพทย์ แผนจีนแบบองค์รวม

“สาเหตุที่มีอาการดังกล่าวมาจากความผิดปกติของกระดูกคอข้อ 2 และข้อ 6 บิดเบี้ยวไปข้างซ้าย และกระดูกคอข้อที่ 4-5-6 ถอยหลังทับเส้นประสาท เมื่อเวลาจับมักเสียงดังก๊อกตรงบริเวณดังกล่าว จึงเข้ารับการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนแบบองค์รวม โดยมีศาสตร์ทุยหนานวดจัดกระดูกที่ผิดปกติ รักษาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ครั้ง โดยระยะแรกมาวันเว้นวัน ต่อมาปรับเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันอาการดังกล่าวทุเลาลงมาเกือบหายเป็นปกติ”

"หลินตันเฉียน" หมอห้ตถ์เทวดา

นายแพทย์จีนหลินตันเฉียน หรือ “หมอหลิน” วัย 59 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตรการแพทย์แผนจีนแบบทุยหนา ระดับแถวหน้าของวงการ เกิดและเติบโตที่เมืองจีน เมื่ออายุ 17 ปี มีโอกาสไปเล่าเรียนวิชาจัดกระดูกทุยหนาและการจี้จุดกับซือแป๋ “ท่านหวงเซ่าเหมย” หมอยาจีนชื่อดังของจีนทางตอนใต้ ผู้ที่มีความรู้ทั้งทางการแพทย์และวิชายุทธกังฟู

การเล่าเรียนวิชาทุยหนาใน ยุคแรกๆนั้น หมอหลินบอกว่า ต้องผ่านบททดสอบของอาจารย์ ซึ่งให้พักและช่วยงานบ้านอาจารย์ โดยไม่ได้สอนวิชาใดๆเลยประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นอาจารย์จึงได้สอนวิชาชี่กง กังฟู และการฝึกกำลังภายใน พร้อมกับการติดตามอาจารย์ไปรักษาโรคในตอนกลางคืน ช่วยงานทำบันทึกและอ่านตำราอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นปีที่ 3 ก็ได้เรียนรู้การวินิจฉัยโรค รวมระยะเวลา 3 ปี จึงจบการศึกษาได้ใบรับรองประกาศนียบัตร

หลังจบหลักสูตรจากอาจารย์แล้ว เขาตัดสินใจเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีสาขาแพทย์แผนจีนในปี 2529 ที่มหาวิทยาลัยแพทย์จีนกว่างโจว จนจบการศึกษา จากนั้นเข้าเรียนต่อจนจบปริญญาโทในสาขาและมหาวิทยาลัยเดียวกัน

หลังจากสำเร็จการศึกษา หมอหลินได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแพทย์จีน อำเภอเหยาผิง เป็นแพทย์เฉพาะทางกระดูกเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา โดยได้สั่งสมประสบการณ์และใช้วิชาความรู้ในศาสตร์นวดแผนจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หมอหลินเชี่ยวชาญทางด้านศาสตร์ทุยหนาและจัดกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระดูกสันหลัง โรคกระดูกเสื่อม รวมกระทั่งถึงโรคอายุรเวช และสูตินรีเวช หมอหลินก็ชำนาญเป็นพิเศษเช่นกัน

กระทั่งเมื่อปี 15 ที่ผ่านมา หมอหลินตัดสินใจเดินทางมาเมืองไทย และลงหลักปักฐานด้วยการทำงานรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลเทียนฟ้าเป็นแห่งแรก ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่แผนกแพทย์จีน โรงพยาบาลหัวเฉียวในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน

ด้วยความรู้ความสามารถที่โดดเด่น ทำให้หมอหลินได้รับเชิญในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแพทย์แผนจีนทุยหนา ไปให้ความรู้ตามสมาคมและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ สมาคมแพทย์จีนในประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมกับการตรวจรักษาฟรีให้กับผู้สนใจที่บ้านพระอาทิตย์

ไม่เพียงเป็นหมอรักษาคนไข้ หมอหลินยังมีความสามารถในงานเขียน โดยมีผลงานเขียนหนังสือตามสื่อต่างๆหลายสื่อด้วยกัน เช่น เป็นเจ้าของคอลัมน์ จงอีเอี้ยวอวี๋เป่าเจี้ยน (แพทย์แผนจีนกับการดูแลรักษาสุขภาพ) ในหนังสือพิมพ์ซินจงหยวน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับหนึ่งในกรุงเทพ และครั้งหนึ่งเคยเป็นคอลัมนิสต์เกี่ยวกับการนวดทุยหนาทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ขณะเดียวกัน ก็ได้รับเชิญไปบรรยายทางสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง เช่น ไอทีวี และเอเอสทีวี เป็นต้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย เฌอร์รี่)




กำลังโหลดความคิดเห็น