• ใช้ผงปรุงรส เสี่ยงป่วยโรคหัวใจ
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลส่วนประกอบของผงปรุงรส หรือก้อนปรุงรส พบว่าส่วนผสมร้อยละ 40 ประกอบด้วยโซเดียมหรือเกลือ รองลงมาคือไขมันปาล์ม ร้อยละ 18-20 และผงชูรส ร้อยละ 15-20 ถ้าเป็นชนิดที่ไม่มีผงชูรส ก็จะเปลี่ยนเป็นเกลือเพิ่มขึ้น และน้ำตาล ร้อยละ 8-10 เพื่อทำให้มีรสชาติกลมกล่อม นอกจากนี้ก็มีเนื้อสัตว์อบแห้งเพื่อเลียนแบบของธรรมชาติ
การเติมส่วนประกอบดังกล่าวลงในอาหาร อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณโซเดียมสูงเกินไป โดยพบว่าก้อนปรุงรส 1 ก้อน มีปริมาณโซเดียม 1,800 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันอยู่ที่ 1,000-1,500 มิลลิกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งการบริโภคแต่ละวันจะได้รับโซเดียมจากแหล่งต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งในผัก ผลไม้ และจากการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ ยิ่งทำให้ได้รับโซเดียมปริมาณเพิ่มขึ้น การได้รับโซเดียมมากสัมพันธ์กับโรคความดัน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ก็จะยิ่งได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก
• ไม่แปรงฟัน... ระวังโรคหัวใจถามหา
นักวิจัยในอังกฤษเปิดเผยว่า แบคทีเรียที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางบริเวณเหงือกที่เป็นแผล หากเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นเข้าไปในกระแสเลือดแล้ว จะทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อน โดยแบคทีเรียจะซ่อนตัวอยู่ในก้อนเลือดนั้น เพื่อหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และฤทธิ์การฆ่าเชื้อของยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ หากเลือดจับตัวเป็นก้อนเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย ก็จะเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดอุดตัน และจะยิ่งอันตรายเพิ่มขึ้น หากเลือดไปจับตัวโตขึ้นบริเวณลิ้นหัวใจ จะทำให้เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า โรคเหงือกมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงการป่วยโรคหัวใจ จึงควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี แปรงฟันให้สะอาด และไม่ปล่อยให้มีปัญหาโรคเหงือกเรื้อรัง
• อาหารแคลอรี่สูง เสี่ยงทำสมองเสื่อม
ทีมนักวิจัยแห่งโรงพยาบาลเมโย คลินิก สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาการควบคุมอาหารของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,233 คน อายุระหว่าง 70-89 ปี โดยไม่มีกลุ่มตัวอย่างคนใดมีภาวะสมองเสื่อม แต่มีผู้ที่มีอาการบกพร่องทางกระบวนการคิดหรือ รับรู้อย่างอ่อนๆ ที่เรียกว่า Mild cognitive impairment (MCI) อยู่จำนวน 163 คน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาการเอ็มซีไอนี้อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการพัฒนาสู่ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจช่วยทำให้ล่วงรู้ได้ด้วยว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะพัฒนาไปสู่อาการหรือโรคที่รุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เช่น โรคอัลไซเมอร์ จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า การที่ร่างกายรับแคลอรี่หรืออาหารที่ให้พลังงานสูง ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เข้าไปมากๆ ในปริมาณตั้งแต่ 2,142-6,000 แคลอรี่ต่อวัน ทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อภาวะเอ็มซีไอเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า
• ผู้สูงอายุทำงานบ้าน ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์
งานวิจัยจาก Rush University Medical Center สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาด หรือซักล้างบ้าง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
โดยนักวิจัยได้ศึกษาจากอาสาสมัครจำนวน 716 คน อายุเฉลี่ย 82 ปี ทุกคนจะมีอุปกรณ์ติดตามตัว รวมถึงระบุว่า ในแต่ละวันทำกิจกรรมใดบ้าง จากนั้นก็ต้องเข้ารับการทดสอบความจำ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เมื่อผ่านไป 3 ปี มีอาสาสมัคร 71 คน ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเมื่อนักวิจัยนำมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมที่แต่ละคนทำแล้ว พบว่า ผู้ที่ไม่ค่อยขยับเขยื้อนมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ มากกว่าคนที่ขยับตัวบ่อยๆ ถึง 2 เท่า ผลสรุปที่ได้ชี้ว่า การที่มนุษย์มีกิจกรรมทำอย่างสม่ำเสมอแม้เข้าสู่วัยชรา ก็สามารถช่วยป้องกันสมองไม่ให้เสื่อมก่อนวัยอันควรได้
• ขยันเดินเล่นวันละครึ่งชั่วโมง
ลดโอกาศ 'มะเร็งลำไส้' 1 ใน 3
นักวิจัยระบุว่า การเดินออกกำลังกายเบาๆ วันละ 30 นาที ช่วยลดโอกาสในการเกิดติ่งเนื้อที่อาจเติบโตกลายเป็นมะเร็งในลำไส้ได้ถึง 1 ใน 3
ในงานศึกษา ที่เผยแพร่อยู่ในบริติช เจอร์นัลออฟ แคนเซอร์ นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบข้อมูลจากงานวิจัยในอดีต 20 ฉบับ พบว่าคนที่ใช้ชีวิตนั่งๆนอนๆ เป็นส่วนใหญ่ มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีติ่งเนื้อในลำไส้ที่อาจกลายเป็นมะเร็ง ขณะที่คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มมีติ่งเนื้อในลำไส้น้อยลง 16% และมีแนวโน้มที่จะมีติ่งเนื้อที่โตขึ้นและกลายเป็นมะเร็งน้อยลง 30%
ซารา ฮอม ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลสุขภาพ แคนเซอร์ รีเสิร์ช ยูเค สำทับว่า “มีหลักฐานเดิมที่แสดงให้เห็นว่าการขยันออกกำลังกาย ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปีละหลายพันคน และการศึกษานี้เพิ่มน้ำหนักให้หลักฐานดังกล่าว โดยแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้ เราแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เช่น เดินเล่น หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณหายใจเร็วและแรงขึ้นเล็กน้อย”
• 'ลดน้ำหนัก' ช่วยเพิ่ม 'พลังสมอง'
ผลวิจัยใหม่ชี้ การรีดไขมันส่วนเกินจะทำให้สมาธิและความจำดีขึ้น
จอห์น กันสตัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเคนต์สเตทในสหรัฐฯ และทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยหลายแห่ง ได้ร่วมกันวิเคราะห์การทดสอบความจำของกลุ่มตัวอย่าง 150 คนที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 136 กก. หลายคนในจำนวนนี้มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานประเภท 2 และอาการนอนกรน ในกลุ่มตัวอย่างนี้ มี 109 คนที่รับการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ
หลังจาก 12 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเข้ารับการทดสอบความจำเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ป่วย ที่ผ่าตัดและลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 22 กิโลกรัม มีความสามารถในการรับรู้หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงความจำและการทำงานบริหารจัดการ เช่น ทักษะด้านองค์กรดีขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดซึ่งน้ำหนักตัวเท่าเดิม มีความจำถดถอยลงเล็กน้อย ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือคือ เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น สมองก็จะดีตามไปด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย ธาราทิพย์)