ในปี พ.ศ. 2555 นี้ หลายท่านคงได้ยิน หรือเริ่มคุ้นชินกับคำว่า “พุทธชยันตี” ที่มีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องด้วยในปีนี้ประเทศไทยได้ร่วมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า “พุทธ” แปลว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับคำว่า “ชยันตี” มาจากคำว่า “ชย” ซึ่งแปลว่า ชัยชนะ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว หมายถึง ชัยชนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มาร และกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ปลดเปลื้องจากกิเลสเครื่องร้อยรัด เป็นอิสรภาพจากพันธนาการทั้งปวง อันทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นในโลก
“พุทธชยันตี” จึงหมายถึง การตรัสรู้ และการบังเกิดขึ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนำมาซึ่งชัยชนะและอิสรภาพ แก่มวลมนุษยชาติ
และด้วยเหตุแห่งชัยชนะต่อกิเลสทั้งปวงของพระพุทธองค์ จึงมีการนำคำว่า “พุทธชยันตี” ไปใช้ในความหมายแห่งชัยชนะและความเป็นอิสรภาพของชาวพุทธอีกด้วย ดังเช่นการได้รับคืนอิสรภาพจากการเป็นเอกราชของศรีลังกา และการประกาศชัยชนะในระบบชนชั้นวรรณะของอินเดีย
ในประเทศไทยนั้น เฉลิมฉลองพุทธชยันตีช้ากว่าอินเดีย และศรีลังกาไป 1 ปีครับ โดยทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุไว้ว่า ไทยได้เริ่มนับพุทธศักราช ที่ 1 จากปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน จนถึงปัจจุบัน นับได้ 2555 ปี แต่ที่อินเดีย และศรีลังกานั้น เริ่มนับ พ.ศ.1 จากวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน และบวกด้วย 45 อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระพุทธองค์ได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ปีนี้ วันวิสาขบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความสำคัญของวันวิสาขบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพาน
พระปลัดชัชวาล ชินสโภ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมจักร ประธานคณะกรรมการ บริหารศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระพุทธวิหาร ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก กล่าวถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไว้ว่า
“ถ้าถามว่า พระพุทธเจ้าประสูติ สิทธัตถะ กุมารอายุได้เท่าไร หรือหากจะถามว่าตอนที่สิทธัตถะกุมารประสูติจากครรภ์พระมารดา สิทธัตถะกุมารเป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง คำตอบคือยัง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจะประสูติต่อเมื่อสิทธัตถะโพธิสัตว์ตรัสรู้ นั่นคือการตรัสรู้อริยสัจ 4 บังเกิดเป็น “ธรรม” ซึ่งถือเป็นรูปร่างของพระพุทธเจ้า ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระวักกลิ ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
อริยสัจ ที่พระปลัดชัชวาลกล่าวถึงนั้น ในความหมายของอริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน อริยสัจมี 4 ประการ คือ
• ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจากการเกิด แก่ และตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ
• สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหาของชีวิต ล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้นคือ ตัณหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
• นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามทางหรือ วิธีแก้ 8 ประการ
• มรรค คือ การปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ
พระปลัดชัชวาล กล่าวเพิ่มเติมว่า พระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระสาวกได้ยืนยันในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1 ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ ว่า
“คำว่า “เห็นธรรม” นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายถึงเห็นนิโรธ ดังนั้นใครก็ตามปฏิบัติธรรมวิปัสสนา ซึ่งแปลว่าเห็นแจ้ง ก็ต้องเห็นทุกข์ เห็นเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด เห็นทุกข์ดับและเห็นวิธีที่ทำให้ทุกข์ดับ นั่นคือทำให้มรรคเกิด เมื่อมรรคเกิดก็จะเห็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อทุกข์ดับลง นิโรธจะเกิดขึ้น นั่นเท่ากับว่า บุคคลใดที่เห็นอริยสัจเกิดครบ เท่ากับว่าบุคคลนั้นได้เห็นรูปร่างของพระพุทธเจ้าองค์จริง ไม่ใช่รูปหล่อ”
นอกจากนี้ พระปลัดชัชวาล ตั้งคำถามว่า “ถ้าหากพระสิทธัตถะไม่ตรัสรู้อริยสัจ เราจะเรียกพระองค์ว่า “พระพุทธเจ้า” หรือไม่ คำตอบคือ เราก็คงไม่เรียก”
“ดังนั้น อริยสัจจึงเป็นรูปร่างของพระพุทธเจ้าองค์จริงที่เกิดขึ้นกับพระสิทธัตถะ ดังนั้น อริยสัจจึงเป็นรูปพระพุทธรูปองค์จริง คือรูปร่างของพระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธรูปทุกวันนี้ เขาเรียกว่าปฏิมากร”
เมื่อพิจารณาในอรรถกถาได้กล่าวถึงปรินิพพานว่า มีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. กิเลสปรินิพพาน ดับกิเลสโดยไม่มีเหลือและไม่เกิดอีก ดับแล้วดับเลย-ดับเสถียร
2. ดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
3. ธาตุปรินิพพาน พระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันนานไปก็สลายหมด ดังนั้นจึงเรียกว่า ธาตุปรินิพพาน
พระปลัดชัชวาลอรรถาธิบายว่า การปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เกิดขึ้นตรงขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ การตรัสรู้นี้พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว การไม่เกิดขึ้นอีกคือ “ปรินิพพาน” จึงเรียกได้ว่า “กิเลสปรินิพพาน” แล้ว
ดังนั้น ในขณะจิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ก็คือขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ และขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ก็คือขณะจิตที่พระองค์ปรินิพพาน ด้วยกิเลสปรินิพพานนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้น อริยสัจจึงเกิดมาพร้อมกับการดับทุกข์ให้เรา เกิดมาพร้อมกับการดับกิเลสให้เรา เกิดมาพร้อมกับการเอากิเลสออก ไม่ใช่นำกิเลสเข้า
ดังนั้น หากใครที่ปฏิบัติธรรมแล้วเห็นอริยสัจ บุคคลนั้นจึงชื่อว่าได้เห็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่มรรคผลนิพพาน นั้นเท่ากับว่าได้เห็น “รอยพระพุทธบาทองค์จริง”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์)