xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคิดชวนทำ : 10 ปรัชญาชีวิต จากสุดยอดดารากังฟู "บลูซ ลี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครที่ชื่นชอบศิลปะการต่อสู้สไตล์กังฟู คงนึกถึง “บรูซ ลี (Bruce Lee)” อดีตดาราดังฮ่องกงผู้ล่วงลับ ซึ่งได้กลายเป็นตำนานโลกที่นำศิลปะการต่อสู้ของจีนไปเผยแพร่ยังซีกโลกตะวันตกช่วงยุคปี 60-70

บรูซ ลี มีชื่อเสียงทั้งการเป็นนักแสดง ผู้กำกับ ผู้สร้าง ผู้เขียนบท และศิลปินกังฟู ผู้คิดค้นท่ามวย “จีทคุนโด้” จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดด้านศิลปะการต่อสู้แห่งศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ เขายังเป็นนักคิดนักเขียน ที่มักสอดแทรกปรัชญาผ่านบทสนทนาของตัวละครในภาพยนตร์หลายเรื่องของตัวเอง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปได้ตระหนักว่า เราไม่ต้องฟังคำบงการจากใคร ชีวิตเป็นของเรา เราคือผู้กำหนดโชคชะตาด้วยตัวเอง

สุดยอดดารากังฟู บอกถึงปรัชญาชีวิตไว้ดังนี้

1. เป้าหมาย

“เป้าหมาย..ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ต้องไปให้ถึงเสมอ บ่อยครั้งที่มันเป็นแค่เพียงสิ่งที่เราเล็งไว้เท่านั้น"

เป้าหมายคือสิ่งที่เราตั้งใจทำให้บรรลุ แต่อย่ายึดติดตรงที่ว่าต้องทำให้สำเร็จเท่านั้น เพราะหากทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็จะเกิดความทุกข์

ดังนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ เรื่องความสุข ความพึงพอใจที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางไปถึงจุดหมาย

ถ้าคุณชอบการปีนเขา เป้าหมายของคุณคือ ไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ไม่ได้หมายความว่า ระหว่างทางคุณจะหยุดเดินชมความงามของดอกไม้ริมทาง หรือเปลี่ยนเส้นทางเดินไม่ได้ ดังนั้น คุณควรเปิดรับสิ่งใหม่ๆและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

2. มีความยืดหยุ่น

“จงสังเกตดู ต้นไม้ที่มีลำต้นแข็งแรงมักหักโค่นง่าย ในขณะที่ต้นไผ่หรือต้นหลิวมักยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยการลู่ไปตามแรงลมพายุ”

คนที่มีความสุขที่สุดในโลก เป็นคนที่ยืดหยุ่นในชีวิต ไม่ดื้อรั้น หรือพยายามควบคุมและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อทำให้ตนเองมีความสุข ในทางตรงกันข้าม พวกเขายอมรับในสิ่งที่มันเป็น และมุ่งอยู่แต่ปัจจุบันขณะ

หากคุณต้องการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข สมหวัง จงมีความยืดหยุ่นและยอมรับสภาพเป็นจริงของสิ่งต่างๆ

3. ไม่ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

“หากคุณรักชีวิตตัวเอง อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเวลาคือส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ”

กาลเวลาที่ล่วงผ่านไปทุกขณะได้กลืนกินสรรพสิ่งสรรพชีวิตไปสู่จุดหมายสุดท้าย คือความตาย ความสลายไป ผุพังไป พร้อมทั้งกินตัวเองให้หมดไปทุกขณะด้วย

เพราะฉะนั้น อย่ามัวปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่าๆ ขณะที่เวลากลืนกินเรา เราก็ต้องพยายามใช้เวลาที่สิ้นไปให้คุ้มค่า ด้วยการใช้ชีวิตให้ดีที่สุด เกิดประโยชน์ที่สุดแก่ตนเองและผู้อื่น

4. การมีชีวิตเพื่อผู้อื่น

“การมีชีวิตที่แท้จริง คือ การมีชีวิตเพื่อผู้อื่น”

ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย เพราะการมีชีวิตเพื่อผู้อื่น ได้ช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่ดีงาม เป็นชีวิตที่ประเสริฐ

เช่น ถ้าคุณมีความสามารถในงานฝีมือ ก็สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นนำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณค้นพบคุณค่าของตนเอง และใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์

5. มีจิตใจแน่วแน่

“ผมไม่กลัวคนที่ฝึกเตะครั้งละ 10,000 ท่า แต่ผมกลัวคนที่ฝึกเตะท่าเดียวถึง 10,000 ครั้ง”

คนที่ฝึกเตะครั้งละ 10,000 ท่า เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนคนที่ฝึกเตะท่าเดียวถึง 10,000 ครั้ง ก็เปรียบเหมือนคนที่มีใจจดจ่อในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนเชี่ยวชาญและประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม

แต่ว่าคนส่วนใหญ่มักเลิกล้มความพยายามเร็วเกินไป และยอมแพ้ก่อนที่จะเห็นผลสำเร็จ ฉะนั้น จงอย่าเป็นเหมือนคนเหล่านั้น

6. มีความคิดสร้างสรรค์

“ใช้การไร้หนทางเป็นหนทาง ใช้การไร้กฎเกณฑ์เป็นกฎเกณฑ์”

คุณเป็นคนตั้งกฎเกณฑ์ให้ตัวเอง แม้บรรดาผู้รู้ทั้งหลายจะบอกว่า บางเรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้ ก็ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง เหตุผลก็คือ ทุกคนต่างเป็นเพียงมนุษย์เดินดินเช่นเดียวกับคุณนั่นแหละ

จำไว้ว่า บุคคลสำคัญส่วนใหญ่ ต่างถูกบอกให้เชื่อว่า ไม่มีทางทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปจนเห็นผลในที่สุด

ฉะนั้น จงฟังเสียงของตัวเอง และทำในสิ่งที่คุณอยากทำ

7. มีความเรียบง่าย

“ความเรียบง่ายคือกุญแจสู่ความสุข”

ท่ามกลางกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่ไหลบ่าเข้าสู่สังคมปัจจุบัน ส่งผลให้วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เรียบง่ายของมนุษย์เปลี่ยนไป ทุกคนต่างตะเกียกตะกายไขว่คว้าหาวัตถุมาสนองความสุขความพอใจของตัวเอง โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำเช่นนั้นไม่ก่อให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืน

เพราะความสุขที่แท้จริงมาจากภายในใจ มิใช่จากสิ่งของภายนอก การดำเนินชีวิตเรียบง่ายทำให้ใจเราบริสุทธิ์และเกิดความสงบ ดังนั้น จงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ลดละสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตให้มากที่สุด

8. ค้นหาตัวตน

“ซึมซับสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละทิ้งสิ่งไร้ค่า เติมเต็มสิ่งที่เป็นตัวคุณ”

ขั้นแรก คุณอาจเรียนรู้จากคนที่คุณยึดถือเป็นแบบอย่าง ต่อมาเมื่อคุณทำได้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จมากกว่า ค่อยเก็บสิ่งที่ดีไว้ และโยนสิ่งที่ไม่ใช่ทิ้งไป

แต่ละคนมีความพิเศษเฉพาะตัว ดังนั้น คุณต้องค้นหา และหันมาฟังเสียงหัวใจคุณ ว่าจะนำพาไปทางไหน

9. ลงมือทำ

“แค่รอบรู้ยังไม่พอ คุณต้องนำไปใช้ … แค่เต็มใจยังไม่พอ คุณต้องลงมือทำ”

คุณมีข้อมูลพร้อมในการทำงาน แต่ถ้าไม่เคยลงมือทำสักที ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณจะไม่เข้าใจงานนั้นๆ อย่างกระจ่างชัด จึงต้องคาดเดาอย่างสับสนและไม่มั่นใจ

คุณอาจต้องการคำยืนยันว่า สิ่งที่คุณคิดจะทำนั้น สำเร็จแน่นอน แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครยืนยันเช่นนั้นได้ คุณจึงต้องเริ่มต้นทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

10. ขจัดอัตตา

“ศิลปะการป้องกันตัวคือการเข้าถึงตัวตนของเราในท้ายที่สุด การชกหรือเตะนั้น ไม่ใช่เพื่อสยบคู่ต่อสู้ตรงหน้า แต่เพื่อขจัดอัตตา และความกลัว หรือสิ่งที่คั่งค้างในใจของตัวเองให้หมดไป”

ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนเราทำลงไป ล้วนเกี่ยวข้องกับอัตตาของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะยิ่งมีอัตตามากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงการยึดความสำคัญในตนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และความมีอัตตานี่แหละที่ไปเพิ่มทิฐิความอวดดื้อถือดี

ขณะเดียวกันความกลัวที่เกิดขึ้นในใจ ก็จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดความไม่กล้าในการทำสิ่งใหม่ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย

จำไว้ว่า..ชีวิตมีไว้เพื่อใช้ แต่จงใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้สมกับการมีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ประกายรุ้ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น