xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : กรดยูริกสูง เสี่ยงสารพัดโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายต้องขับออกทางปัสสาวะ เกิดจากการแตกสลายของเซลล์ ซึ่งภายในนิวเคลียสของเซลล์จะมีดีเอ็นเอ และภายนอกนิวเครียสจะมีอาร์เอ็นเอ

สารทั้ง 2 นี้ จะถูกสลายเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อนำไปสร้างเซลล์ของเนื้อเยื่อใหม่ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไป ร่างกายจะมีการสร้างเซลล์หรือเนื้อเยื่อใหม่น้อยลง ส่วนประกอบเล็กๆ เหล่านี้จึงถูกสลายเป็นกรดยูริก ซึ่งถ้าขับถ่ายออกไม่ทันก็จะทำให้กรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงได้ง่าย

เห็นได้ชัดเมื่อเจาะเลือด ค่าของกรดยูริกจะมากกว่า 7 มก./ดล.ซึ่งคนไข้บางรายอาจมีอาการปวดข้อปวดกระดูก ในเบื้องต้นแพทย์ส่วนใหญ่มักให้ยาลดระดับกรดยูริกลง โดยแนะนำให้ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง หากแต่การรับประทานหนังสัตว์และเครื่องในสัตว์ต่างๆ จะทำให้เกิดกรดยูริกและโคเลสเตอรอลในเลือดสูง

ว่ากันว่า การที่มีกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน หรือเรียกว่า “โรคเกาต์” เพศชายเริ่มเป็นเมื่ออายุ 40 ปี ส่วนเพศหญิงมักจะเริ่มเป็นอายุ 55 ปี ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะกลับเป็นข้ออักเสบซ้ำๆ และมีการสะสมของกรดยูริกตามข้อ จนทำให้เกิดเป็นปุ่มเป็นก้อนขึ้นที่ผิวหนัง ระยะนี้เรียกว่า “โรคเกาต์ ระยะมีโทไพเรื้อรัง”

ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ความรู้เรื่องกรดยูริกเปลี่ยนไปมาก รวมทั้งในวงการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่ากรดยูริกที่เพิ่มสูงขึ้นในเลือด อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส หรือน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย) มากเกินไป ซึ่งกลไกนี้ช่วยไขคำตอบคนไข้จำนวนมากที่พยายามควบคุมการรับประทานเครื่องในสัตว์และหนังสัตว์ แต่เมื่อตรวจเลือดกลับมีค่ากรดยูริกในเลือดสูงอยู่

น้ำตาลฟรุกโตส หรือน้ำตาลซูโครส ซึ่งมีน้ำตาลฟรุกโตสเป็นส่วนประกอบนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสลายน้ำตาลฟรุกโตส โดยหน่วยพลังงานในเซลล์ที่เรียกว่า ATP แล้วจะเกิดเป็น ADP

ปกติ ADP มักถูกนำไปสร้างเป็นหน่วยพลังงาน ATP ใหม่ แต่การมีน้ำตาลฟรุกโตสมากเกินไป จะไปหยุดยั้งการสร้างหน่วยพลังงาน ATP ทำให้ ADP ถูกสลายลงเป็นกรดยูริก

จะเห็นได้ว่ากรดยูริกนี้เกิดจากการสลายของ ATP ซึ่งคือแหล่งให้พลังงานในเซลล์ ทำให้เซลล์นั้นทำงานไม่ดีและแก่ตัวเร็ว และยังเพิ่มกรดยูริกในเลือดอีกด้วย

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ค้นพบว่า กรดยูริกในเลือดที่สูงขึ้นนี้ จะทำให้หลอดเลือดแดงที่เข้าสู่ไตมีภาวะหนาตัวขึ้น ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ประกอบกับการรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสมาก ทำให้ร่างกายมีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น ซึ่งจะเร่งให้เกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ง่าย และเมื่อปล่อยให้เนิ่นนานไป จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตกว่าปกติ จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เมื่อร่วมกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบตันจากการมีไขมันในเลือดสูง และเป็นเบาหวาน จึงมีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ง่าย

เมื่อพบว่ากรดยูริกในเลือดสูงให้ผลเสียเช่นนี้ ขอแนะนำให้รักษาทันทีที่ตรวจพบโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดเข่าหรือข้อ ด้วยการรับประทานยาเพื่อลดกรดยูริก ควบคุมอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ รวมทั้งควบคุมน้ำตาลฟรุกโตสที่อยู่ในรูปของน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ผลไม้ และน้ำตาลทราย แล้วดื่มน้ำให้เพียงพอในการขับกรดยูริกออกทางไต ตลอดจนหมั่นตรวจเช็คเลือดเพื่อหาค่ากรดยูริกในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ซึ่งหากคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น ค่ากรดยูริกในเลือดมักจะกลับมาเป็นปกติ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

กำลังโหลดความคิดเห็น