• วิธีดูน้ำผึ้งแท้เพื่อสุขภาพที่ดี
น้ำผึ้งมีประโยชน์ต่อร่างกาย และมักนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรตำรับต่างๆ แต่น้ำผึ้งที่ว่านั้นจะต้องเป็นน้ำผึ้งแท้เท่านั้น
การดูว่าน้ำผึ้งแท้หรือน้ำผึ้งเทียมสามารถดูได้จากการนำน้ำผึ้งที่ซื้อมาแช่ตู้เย็น ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้จะไม่แยกชั้น แต่ถ้าเป็นน้ำผึ้งเทียมผสมน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอื่นๆจะแยกชั้น เพราะเมื่อเจอความเย็นมันจะกลับสู่สภาพเดิมหรือตกผลึกนั่นเอง
อีกวิธีหนึ่งในการทดสอบคือ นำขวดบรรจุน้ำผึ้งมาเขย่า สังเกตที่คอขวด ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้จะมีฟองอากาศหนาไม่เกินครึ่งเซนติเมตร และที่สำคัญควรสังเกตที่ฉลากว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานหรือไม่
• น้ำยาบ้วนปาก ใช้มากอันตราย
ผู้ที่มีปัญหากลิ่นปากมักเลือกใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อช่วยระงับกลิ่นปากให้ลดน้อยลง ซึ่งประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
แต่จริงๆแล้ว ทันตแพทย์ได้แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากสำหรับคนที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุง่าย เป็นโรคเหงือก ฯลฯ ส่วนผู้ที่มีสุขภาพช่องปากดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะการใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้ช่องปากเสียสมดุล อาจเกิดเชื้อราเป็นอันตรายต่อช่องปาก จนก่อให้เกิดโรคทางช่องปากได้ เพราะในน้ำยาบ้วนปากมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ หากจำเป็นก็ควรใช้เป็นครั้งคราว ทางที่ดีควรหมั่นพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของช่องปาก
ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก ควรป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำความสะอาดฝ้าขาวบนลิ้น การใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน และการแปรงฟันอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 นาที
• กินหวานมาก สมองเฉื่อย ความต้านทานต่ำ
จากข้อมูลทางโภชนาการและสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินควร นอกจากนำมาซึ่งปัญหาโรคอ้วนและโรคฟันผุแล้ว การรับประทานน้ำตาลมากๆ มีอันตรายต่อสุขภาพหลายประการ โดยน้ำตาลซูโครส หรือฟรุกโตส จะทำให้ระดับไขมัน กลูโคส อินซูลินและกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเบาหวาน
ผู้ที่ชอบกินหวานจัดบ่อยๆ จะทำให้ระบบความสมดุลของแร่ธาตุในร่างกายเสียไป ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายลดต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือทำให้ติดเชื้อง่าย นอกจากนี้ การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายบ่อยๆ ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ เมื่อบริโภคเป็นเวลานานจะก่อให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
อีกทั้งการรับประทานน้ำตาลซูโครสมาก ทำให้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตฟาน ถูกเร่งเข้าสู่สมองมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมอง ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง
• กินผลไม้มากไป ไม่ดีอย่างที่คิด
แม้ว่าผลไม้จะดีต่อสุขภาพ เพราะอุดมด้วยวิตามิน เส้นใยอาหาร และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ แต่การรับประทานมากเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และฟันผุ
เออร์ซูลา เอเรนส์ จากสมาคมโภชนาการแห่งอังกฤษ ชี้ว่าเป็นเพราะผลไม้อุดมด้วยฟรุกโตสที่ไม่ทำให้ท้องอิ่ม เราจึงกินผลไม้ได้เรื่อยๆ
ดร.คาเรล เลอ รูซ์ ที่ปรึกษาด้านระบบเผาผลาญอาหารของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เสริมว่าน้ำหนักตัวขึ้น ไม่ใช้ปัญหาสุขภาพเพียงอย่างเดียวที่เกิดจากการกินผลไม้มากเกินไป แต่ยังรวมถึงระดับไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันในเลือดที่เพิ่มขึ้นและเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ดังนั้น คนที่โคเลสเตอรอลสูงหรือเป็นโรคเบาหวานจึงต้องควบคุมการกินผลไม้ด้วย
รายงานจากมหาวิทยาลัยโคโรลาโด เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 4,500 คนที่ไม่มีประวัติความดันโลหิตสูง นักวิจัยพบว่า คนที่กินฟรุกโตสวันละเกิน 74 กรัม (เท่ากับแอปเปิล 10 ผล หรือส้ม 10 ผล) มีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 87%
ดร.เลอ รูซ์ แนะนำว่า ทางที่ดีเราควรกินผัก-ผลไม้วันละ 5 ส่วนแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือโรคหัวใจ ควรจำกัดผลไม้ไว้ที่ส่วนเดียว อีก 4 ส่วนเป็นผักทั้งหมด
• เชอร์รี่ ผลไม้ลดซึมเศร้า เพิ่มสุข
เชอร์รี่ ผลไม้ลูกเล็กๆสีแดงๆ ซึ่งมีรสเปรี้ยวอมหวานนั้น อุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีมากกว่าส้มถึง 30-80 เท่า ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส ชะลอความแก่ และช่วยต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากนี้เชอร์รี่ยังมีคุณสมบัติช่วยให้ผู้รับประทานอารมณ์ดีขึ้นด้วย เพราะจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่าการกินเชอร์รี่มากถึง 20 ผลจะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้มากกว่าการกินยา เนื่องจากในผลเชอร์รี่ มีสารที่ชื่อว่า แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ทำให้ผลไม้ชนิดนี้มีสีสันสดใส และมีสรรพคุณที่สำคัญคือ ทำให้คนกินมีความสุข ด้วยเหตุนี้แพทย์ตะวันตกจึงเรียกเชอร์รี่ว่าเป็น “แอสไพรินธรรมชาติ”
• หมอแนะ 5 วิธี รับมือวัณโรครีเทิร์น
นายแพทย์โกวิท พรรณเชษฐ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาโรคติดต่อที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข และอาจกลับมามีปัญหาใหม่อีกครั้งคือวัณโรค
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกรายงานว่า พบผู้ป่วยวัณโรค 16-20 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ โดยร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน
นายแพทย์โกวิทได้แนะวิธีป้องกันวัณโรคสำหรับประชาชนว่า 1) ให้วัคซีนบีซีจีป้องกันแต่แรกเกิดจะช่วยป้องกันการเกิดวัณโรค ที่รุนแรงและวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง 2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังไอ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยาวัณโรค 3) ผู้ป่วย ควรปิดปากหรือสวมหน้ากากอนามัย ปิดจมูกเวลาไอ จาม และควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากไอ จาม
คำแนะนำในการควบคุมวัณโรคสำหรับญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย คือ 4) การติดตามการกินยาของผู้ป่วยให้ได้รับยาสม่ำเสมอ และครบตามสูตรยาที่รักษา รวมทั้งติดตามผลการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 5) ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย แล้วนำไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อพิจารณาให้การรักษาและเฝ้าระวังป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ธาราทิพย์)