xs
xsm
sm
md
lg

น้อมส่งเสด็จ สู่สวรรคาลัย สมเด็จพระเจ้าภคีนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เจ้าฟ้าผู้ทรงธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ทรงเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิริพระชันษา 85 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป

ครั้นถึงอวสานแห่งการพระราชกุศลพระศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพออกสู่พระเมรุ ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 9 เมษายน 2555 ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามที่ทรงดำรงอยู่ทุกประการ

• เจ้าฟ้าผู้ทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักธรรมอย่างเคร่งครัด


พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพระหฤทัยอยู่ตลอดพระชนมชีพ ทรงบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน และทรงสวดมนต์ทุกวัน โปรดสดับพระพุทธมนต์ สดับพระธรรมเทศนา ทรงอ่านหนังสือธรรมะและทรงศึกษาธรรมะ ได้เคยเสด็จไปทรงศึกษาธรรมะกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นานนับปี และทรงศึกษาพระอภิธรรมอย่างจริงจัง

ทรงแจ่มแจ้งในหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง และมีพระโอวาทสั่งสอนเตือนสติข้าราชบริพารอยู่เสมอ เช่นครั้งหนึ่งเคยรับสั่งสอนธรรมะด้วยอุปมาโวหาร กับข้าราชบริพารซึ่งเป็นคนโมโหง่าย ว่า

"โทสะนั้นเหมือนไฟ เช่นตะเกียงที่จุดไฟ ถ้ารุนแรงขึ้นเมื่อใดก็ให้ระงับเสีย เหมือนเราดับตะเกียง คือค่อยๆ หรี่ตะเกียงลง แล้วโทสะก็จะดับหายไปเอง"

แต่ละปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินยังพระอารามต่างๆ ทั้งแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และของส่วนพระองค์เป็นประจำทุกปี ทั้งยังเสด็จไปในการเททองหล่อพระพุทธปฏิมา พิธีพุทธาภิเษก การตัดลูกนิมิต ยกช่อฟ้าสมโภชพระอาราม ตามคำกราบทูลเชิญ เป็นประจำ

ทรงมีพระศรัทธาปสาทะพระราชทานเงินบำรุงวัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนา ทรงอุปการะกิจการอันเนื่องในพระพุทธศาสนาเสมอมามิได้ขาด และทรงรับองค์กรมูลนิธิต่างๆ อันมีวัตถุประสงค์ทางพระพุทธศาสนาไว้ในพระอุปถัมภ์ ด้วยพระทัยศรัทธา

เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็โปรดทรงบาตร และเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศลทรงเวียนเทียน ณ พระอารามต่างๆ เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เป็นต้น

• ขัตติยนารีแห่งราชจักรีวงศ์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯทรงมีพระดำรัสพระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา พ.ศ.2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความว่า

"ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ

ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้จนชั่วชีวิต"


พระเมรุ

เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงมณฑปแปลง มีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ ความสูงถึงยอดฉัตร 35.59 เมตร มุขหน้าด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ

มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้าน มีบันไดทางขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ

เครื่องยอดพระเมรุนี้ ประกอบด้วยชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น กึ่งกลางของเชิงกลอนแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อนสองชั้น ที่มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวกลุ่ม 5 ชั้น ปลียอดแบ่งเป็นสองส่วนคั่นด้วยลูกแก้ว ที่ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น)

ภายในพระเมรุตั้งพระจิตกาธาน ประดิษฐานพระโกศไม้จันทน์

การตกแต่งพระเมรุ ใช้งานศิลปกรรมแบบซ้อนไม้ทดแทนการแกะสลักไม้จริง เป็นลักษณะพิเศษที่ใช้ในงานพระเมรุ อันถือเป็นงานลำลองสำหรับอาคารใช้งานชั่วคราว งานพระเมรุครั้งนี้ มีแนวคิดที่ลดการใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุหายาก จึงเสริมบางส่วนที่เป็นงานซ้อนไม้ด้วยวิธีการหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส การประดับตกแต่งส่วนอื่นๆ ใช้การปิดผ้าทองย่นสาบกระดาษสี แทนการปิดทองประดับกระจก

พระโกศจันทน์

พระโกศจันทน์มีโครงภายในเป็นเหล็กไร้สนิมและกรุด้วยลวดตาข่าย ใช้ไม้จันทน์ฉลุตกแต่งลวดลายขนาดใหญ่น้อยให้ได้สัดส่วนที่งดงาม ขัดแต่งผิวลับคมและเสี้ยนให้เรียบ นำลายแต่ละชิ้นมาจัดดอกตามชุด โดยแยกสีเนื้อไม้อ่อนแก่มาประกอบกันเพื่อให้เกิดมิติที่สวยงาม ประกอบด้วยลายกระจัง ลายหน้ากระดาน ลายท้องไม้ ลายเส้นลวด ลายบัวกลีบขนุน ลายเฟื่อง ลายอุบะ ลายบัวคว่ำ บัวหงาย กระจังปฏิญาณ ลายยอดกลีบพระโกศ ดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว ทั้งหมด 57 ลักษณะลาย มีชิ้นส่วนลวดลายจำนวนทั้งสิ้น 8,320ชิ้น สูง 203เซนติเมตร ฐานกว้าง 50 ซม.

พระโกศพระอัฐิ (ทองคำลงยา)

ชั้นในเป็นถ้ำศิลาทรงพระอัฐิและทำจากหินอ่อนกลึงกลม พระโกศภายนอกทำจากแผ่นทองสลักดุนลาย ลงยาสี ประดับพลอย ประดับด้วยเฟื่องดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว และยอดพุ่ม ยอดพระโกศเป็นสุวรรณฉัตรเจ็ดชั้น (ขณะอัญเชิญอยู่ในพระราชพิธี) และแบบพุ่มข้าวบิณฑ์เงินประดับพลอย (ขณะประดิษฐานในพระวิมาน) พร้อมแป้นไม้กลึงปิดทองสำหรับรองรับฝาพระโกศ และฐานไม้กลึงปิดทองสำหรับรองรับยอดพระโกศพุ่มข้าวบิณฑ์หรือสุวรรณฉัตรเมื่อมีการถอดผลัดเปลี่ยนกัน

ฉากบังเพลิงชั้นนอก

ฉากบังเพลิงชั้นนอกด้านหน้า เป็นภาพเทวดายืนพนมมือไหว้บนแท่น เครื่องแต่งกาย เครื่องทรงคล้ายการแต่งกายละคร เครื่องประดับตกแต่งร่างกายเป็นพวงมาลัยดอกไม้ ตอนบนของภาพเทวดามีซุ้มลอย โดยใช้ต้นแบบความคิดมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์วรวิหาร จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 ตามแนวความคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุฯ (พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น) แต่ละด้านจะมีภาพเทวดาด้านละ4 องค์ ติดตั้ง 4 ทิศ ของพระเมรุฯ รวมทั้งหมด 16 องค์

ลายกรอบตอนล่าง ออกแบบเป็นลวดลายดอกไม้ประดิษฐ์ อยู่ในโครงสร้างรูปดอกบัวตูม 3 ดอก หรือรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีนัยหมายถึง ดอกบัวสำหรับสักการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีทั้งหมด 16 ชิ้น

ฉากบังเพลิงชั้นนอกด้านหลัง

เป็นภาพลายเถากุหลาบ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงโปรด ทั้งกรอบใหญ่และเล็ก ใช้ลายกุหลาบเป็นชุดเดียวกัน รวมทั้งหมด32 ชิ้น

ฉากบังเพลิงชั้นในด้านหน้า

เป็นภาพเทวดาเหาะพนมมือไหว้บนก้อนเมฆ มีขนาดตัวภาพแตกต่างกันตามระยะ เพื่อให้เกิดมิติใกล้ไกล โดยใช้ต้นแบบความคิดเทวดาเหาะจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์วรวิหาร จังหวัดนครปฐมเช่นเดียวกัน

ลายกรอบตอนล่าง เป็นลวดลายเทพพนมประกอบลายดอกกุหลาบอยู่ในโครงสร้างรูปดอกบัวตูม 3ดอก หรือรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีนัยหมายถึง หมู่เทพบนสรวงสวรรค์เฝ้ารับเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

ฉากบังเพลิงชั้นในด้านหลัง

เป็นดอกไม้ร่วงลายดอกกุหลาบ ด้านหลังนี้จะติดตั้งใกล้กับฉากบังเตาที่ไม่ปรากฏแก่สายตาของบุคคลทั่วไป

ศิลปกรรมรอบพระเมรุ

เทวดาประดับรอบพระเมรุครั้งนี้มีจำนวน 30 องค์ แบ่งเป็นเทวดานั่งถือโคม 14 องค์ เทวดานั่งถือบังแทรก 6 องค์ เทวดายืนถือโคม 2องค์ เทวดายืนถือฉัตรผ้า 8 องค์

สัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุในครั้งนี้ จะมีขนาดเล็กลงกว่าครั้งที่ผ่านมา แต่ละตัวจะสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร มีจำนวนทั้งสิ้น 160 ตัว ติดตั้งอยู่บริเวณเขามอหรือภูเขาหินที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ โดยรอบฐานพระเมรุ ครั้งนี้จะจัดสร้างด้วยเทคนิคการปั้นปูนสด มีสัตว์หิมพานต์นานาชนิด ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก เช่น นรปักษาไกรสร คชปักษ์สินธุ์ สินธพกุญชร คชสีห์ มังกรสกุณี เหมราอัสดร พยัคฆ์ไกรสร ฯลฯ

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระพระศพ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555


• คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเรื่องการกำหนดวันหยุดและการไว้ทุกข์งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินิเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยกำหนดให้วันที่ 9 เมษายน 2555 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

และในห้วงวันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ให้ทุกหน่วยงานลดธงครึ่งเสา พร้อมทั้งให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ไว้ทุกข์ ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2555 รวม 3 วัน และขอความร่วมมือสถานบริการต่างๆ ให้งดหรือลดการแสดงเพื่อความบันเทิง

ส่วนสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ วิทยุชุมชน เสียงตามสาย หอกระจายข่าว และสถานีเคเบิลทีวี ขอให้ควบคุมรายการที่ออกอากาศให้มีความเหมาะสม

• กรมการศาสนาได้นิมนต์สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต วัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติหน้าที่ในการอ่านพระอภิธรรมบนเสลี่ยงกลีบบัวและราชรถน้อย นำริ้วบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนริ้วขบวนพระศพ สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

• กรุงเทพมหานครได้จัดซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง 5 ซุ้ม ได้แก่ ซุ้มฝั่งทิศเหนือ 3 ซุ้ม ท่าช้าง 1 ซุ้ม ฝั่งตรงข้ามพระแม่ธรณีบีบมวยผม 1 ซุ้ม รวมทั้งพื้นที่วัด 46 วัด ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับพิธีถวายดอกไม้จันทน์ เวลา 16.00 น.

• กระทรวงมหาดไทยได้จัดพื้นที่วัด 878 วัด ใน 76 จังหวัด สำหรับพิธีถวายดอกไม้จันทน์ โดยให้มีการจัดซุ้มดอกไม้จันทน์ ประดับพระฉายาลักษณ์ พร้อมตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม และจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนา จัดแสดงมหรสพ จัดนิทรรศการฯ รวมทั้งเชิญชวนข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมในพิธี โดยได้จัดเตรียมดอกไม้จันทน์ให้จังหวัดละ 10,000 ดอก และอำเภอละ 5,000 ดอก รวมทั้งสิ้น 4,700,000 ดอก

• การจัดแสดงมหรสพสมโภชถือเป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จึงได้เตรียมจัดการแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ ใน 3 เวทีหลัก ประกอบด้วย เวทีใหญ่ บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า มีการแสดงโขน 12 ตอน และหนังใหญ่ ซึ่งเรียกว่าเบิกหน้าพระ หรือเบิกโรงหนังใหญ่ จับลิงหัวค่ำ

เวทีที่ 2 บริเวณหน้าศาลฎีกา มีการแสดง 3 ชุด ได้แก่ การแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี ละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 การแสดงละครนอกเรื่องพระสังข์ทอง

และเวทีที่ 3 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการบรรเลงดนตรีสากล ของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และคณะนักร้องประสานเสียงจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ ในพระอุปภัมภ์ฯ

การแสดงจะเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 9 เมษายน จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 10 เมษายน ใช้ผู้แสดงกว่า 1,400 คน

• กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์แผ่นพับพระประวัติ พระกรณียกิจ และความรู้เกี่ยวกับพระเมรุ 2 ล้านแผ่น แจกตามซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนที่มาชมพระเมรุระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย กองบรรณาธิการ)


พระเมรุ
พระโกศจันทน์
พระโกศพระอัฐิ (ทองคำลงยา)
ฉากบังเพลิงชั้นนอก
ฉากบังเพลิงชั้นนอก
ฉากบังเพลิงชั้นนอก
ฉากบังเพลิงชั้นนอก
ฉากบังเพลิงชั้นนอก ด้านหลัง
ฉากบังเพลิงชั้นใน ด้านหน้า
ฉากบังเพลิงชั้นใน ด้านหลัง
ศิลปกรรมรอบพระเมรุ
ศิลปกรรมรอบพระเมรุ
กำลังโหลดความคิดเห็น