อาหารเป็นพิษมีสาเหตุสำคัญจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร โดยเฉพาะในสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น นั่นหมายถึงจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเร็วตามไปด้วย
และยิ่งถ้าหากเชื้อแบคทีเรียอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ก็จะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตสารพิษได้อย่างรวดเร็ว จนมีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดอาการป่วย เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ บางรายอาจมีอาการลำไส้อักเสบ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวตามมาด้วย
อาหารที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ได้แก่
• อาหารทะเลปรุงสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเลซึ่งกินโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุก(โดยเฉพาะที่บีบมะนาวใส่ โดยที่เข้าใจว่าอาหารเหล่านี้สุกเพราะสีของเนื้อเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเหมือนเนื้อที่สุกแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด)
• อาหารประเภทปรุงเสร็จแล้ว ไม่มีการผ่านความร้อนก่อนบริโภค เช่น อาหารยำ ส้มตำ สลัด น้ำราดหน้าชนิดต่าง ๆ
• อาหารเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ซาลาเปาไส้ต่างๆ ถ้าจะเก็บไว้รับประทานในมื้อต่อๆ ไปควรเก็บในตู้เย็น เมื่อจะนำมารับประทานต้องอุ่นให้ร้อนจัดอีกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ยังเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์
แต่ถ้ามีอาการท้องเสียมากๆ ร่างกายจะเกิดอาการขาดน้ำ และเกลือแร่ บางรายอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแส โลหิตก็ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษได้ แต่ถ้าพิษนั้นเกิดจากสารเคมีหรือพืชพิษบางชนิด จะมีผลต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
เมื่อเป็นแล้วควรทำอย่างไร
รักษาแบบอาการท้องเดินทั่ว ๆ ไป เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาการท้องเดินมักหายเองภายใน 1-2 วัน ถ้าท้องเสียหรืออาเจียนมาก ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาท (เช่น ชัก หมดสติ) หรือสงสัยว่าจะเกิดจากยาฆ่าแมลงหรือสารพิษอื่นๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
ข้อสำคัญ
อย่ากินยาแก้ท้องเดินเอง เพราะอาการท้องเดินส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ขอให้เข้าใจว่าการขับถ่ายเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องขับของเสียออกจากร่างกายอยู่แล้ว
5 วิธีง่ายๆ รับมือ "อาหารเป็นพิษ"
1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงและกินอาหาร
2. ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
3. หลีกเลี่ยงการกินอาหาร หรือขนมค้างคืนที่ผสมกะทิ
4. ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำไหล (ควรแช่ด่างทับทิมทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง)
5. ไม่ควรทิ้งเนื้อสดๆ ไว้นอกตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ร้อน จะเร่งให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)