การนวดไทยเป็นศาสตร์และศิลป์ด้านการแพทย์แผนไทย ที่รู้จักกันดีในสายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ ในอดีตการนวดไทยสามารถรักษาโรคได้ และผู้ที่ทำการนวดมีบรรดาศักดิ์
การนวดไทยในปัจจุบันได้รับความนิยมและมีผู้ใช้บริการจำนวนมากในระดับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน
ปัจจุบันการนวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การนวดแบบราชสำนัก เป็นการนวดที่เน้นการรักษาโรคในระบบกล้ามเนื้อและข้อกระดูก กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และอีกประเภทหนึ่งคือ การนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นการนวดที่เน้นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ประโยชน์ของ
การนวดไทยเพื่อสุขภาพ
1. มีต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดและน้ำเหลืองถูกบีบออกจากบริเวณนั้น ช่วยลดอาการบวม และมีเลือดและน้ำเหลืองใหม่มาแทน ระบบไหลเวียนจึงทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. มีต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดอาการเมื่อยล้า ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนลง ผ่อนคลายความเกร็ง ลดอาการบวมและบรรเทาความเจ็บปวด บรรเทาอาการขัดยอก ช่วย ขจัดของเสียที่คั่งค้างอยู่ตามกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น โดยทำให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นแข็งแรงและยึดเกาะติดกันแน่น ช่วยลดสาเหตุของการพองตัวหนาขึ้นของบาดแผล ในรายที่มีพังผืดเกิดภายในกล้ามเนื้อ การนวดจะทำให้พังผืดอ่อนตัวลง ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นดีขึ้น อาการเจ็บปวดจะลดลง
3. มีต่อผิวหนัง ทำให้เลือดมาเลี้ยงผิว หนังบริเวณนั้นมากขึ้น ทำให้ผิวหนังเต่งตึง ทำให้ตัวยาดูดซึมได้ดีขึ้นทางผิวหนัง หลังการนวดที่นานพอควร การคลึงในรายที่มีแผลเป็น ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น ทำให้แผลเป็นอ่อนตัวลงหรือเล็กลง
4. มีต่อระบบทางเดินอาหาร เพิ่มความตึงของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายเป็นระบบ
5. มีต่อจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายกายและใจ รู้สึกแจ่มใส กระฉับกระเฉง ลดความเครียดและความวิตกกังวล
6. การนวดสามารถช่วยลดอาการต่างๆ ดังนี้ คอแข็งและไหล่เคล็ด เจ็บที่ปีกไหล่ เอ็นอักเสบ การปวดน่องปวดสะโพก เส้นเลือดพอง โรคไซนัส ไซนัสอักเสบ นำไปสู่อาการเจ็บปวดในศีรษะและหน้า การนวดจะช่วยได้มากโดยการนวดลากลงไปตามจมูกแล้วข้ามไปที่แก้ม เส้นเลือดขอดจะมีอาการเจ็บปวด และรู้สึกปวดๆเมื่อยๆ ขาบวม ซึ่งสามารถช่วยได้โดยการนวดขาเบาๆ ให้กล้ามเนื้อน่องคลายตัว
(ข้อมูลจากสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย)
ข้อควรระวัง
สำหรับการนวด
ควรระวังในผู้ที่มีประวัติกระดูกเปราะบาง กระดูกพรุนที่รุนแรง หรือต้องกินยารักษาอาการกระดูกพรุน เพราะจะทำให้กระดูกหักได้ง่าย
รวมทั้งมีอาการเนื้องอกที่กระดูก หรือเนื้องอกในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคหรืออาการทาง ระบบประสาทที่ยังไม่ชัดเจน หรือกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทต่างๆ อาการข้อต่อหลุดหลวม อาจจะทำให้ข้อเคลื่อนมากขึ้นได้ โรครูมาตอยด์ ข้อเกิดการติด แข็งเกร็ง อาจจะทำให้หักได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)