The Real Steel หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ศึกหุ่นเหล็กกำปั้นถล่มปฐพี” เป็นเรื่องราวในยุคอนาคตซึ่งหุ่นยนต์เหล็กที่บังคับโดยมนุษย์ ถูกนำมาใช้เป็นเกมกีฬาต่อสู้ เพิ่มความมันส์แทนการแข่งขันระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ที่มีขีดจำกัดของสภาพร่างกาย
หนังเปิดประเด็นไปที่ “ชาร์ลี เคนตัน” หนุ่มใหญ่อดีตนักมวยผู้ไร้จุดหมายในชีวิต ที่ปัจจุบันขับรถตระเวนเอาหุ่นยนต์เหล็กเก่าๆคู่ใจ ไปแสดงโชว์การต่อสู้ตามสังเวียนเล็กๆ โดยสังเวียนล่าสุด มีคู่ต่อกรเป็นกระทิงดุ หนักกว่า 200 ปอนด์ และด้วยความประมาท ขาดสมาธิ หุ่นเหล็กของชาร์ลีจึงพลาดท่า ถูกกระทิงขวิดไปจน แทบต้องแยกชิ้นส่วนเอาไปขายทิ้ง
นอกจากต้องอับอายขายหน้า แถมยังติดหนี้คนอื่นอีก แต่โชคชะตายังพอเข้าข้าง คนอย่างชาร์ลี เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาพบเพื่อแจ้งข่าวว่า แฟนเก่าเมื่อหลายปี ก่อนเพิ่งเสียชีวิต แต่เขากับแฟนเก่าพลั้งพลาดมีลูกด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ “แม็กซ์” ดังนั้นในฐานะพ่อตามกฎหมาย แม้จะไม่เคยเจอหน้าหรือเลี้ยงดูลูกตัวเองมาก่อนก็ตาม เคนตันก็จำเป็นต้องเดินทางไปศาล เพื่อเซ็นยินยอมให้ผู้อื่นอุปการะแม็กซ์
เดิมทีหนูน้อยวัย 11 ขวบ ต้องไปอยู่ในอุปการะของ “เดปบรา” ผู้มีศักดิ์เป็นป้า ซึ่งก็เป็นไปตามความต้องการของชาร์ลี อยู่แล้ว แต่ทว่า “มาร์วิน” สามีของเดปบรา มีความจำเป็นต้องเดินทางไกลไปต่างเมือง และยังไม่สะดวกที่จะดูแลหลานรักได้ในระยะเวลาอันใกล้ สถานการณ์จึงพลิกไปเข้าทางชาร์ลี ที่ถือโอกาสเรียกค่าจ้างเลี้ยงดูลูกตัวเองจากมาร์วิน จนกว่าเขาจะพร้อมรับแม็กซ์ไปดูแลในช่วงฤดูร้อน
ชาร์ลี เจรจาธุรกิจค่าจ้างเลี้ยงได้สำเร็จ เขาจึงได้เงินทุนไปซื้อหุ่นยนต์ตัวใหม่ แต่ขณะเดียวกันภาระการเลี้ยงดูลูกก็ต้องตามมาด้วย แม้ว่าพ่อที่ไม่เอาไหนแบบเขาจะไม่เต็มใจ แต่ก็ต้องทำตามข้อตกลงกับมาร์วิน ดังนั้น การไปสังเวียนหุ่นยนต์เหล็ก ต้องมีแม็กซ์ต้องติดสอยห้อยตามไปด้วย
และแล้วด้วยความประมาทอีกครั้ง หุ่นยนต์เหล็กตัวใหม่ที่ชาร์ลีหวังจะทำเงินทำทอง ก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ แถมไม่เหลือสภาพให้ใช้งานได้ สองพ่อลูกจึงต้องเข้าไปในสุสานเครื่องจักรเก่าๆ เพื่อขุดหาอะไรต่อมิอะไร ซึ่งพอจะมาประกอบเป็นหุ่นยนต์เหล็ก เพื่อทำมาหากินต่อไป
แม็กซ์บังเอิญไปเจอหุ่นยนต์เก่าๆตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโบราณที่น่าสนใจ เพียงแต่หุ่นยนต์ที่ขุดขึ้นมาได้นั้น เป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกซ้อม มากกว่าจะนำไปต่อสู้แบบจริงจังบนเวที แต่นั่นก็ไม่ทำให้หนูน้อยหมดหวัง เขานำมันมาเพิ่มเติมโปรแกรมใหม่ๆ ขัดถูจนสะอาดเอี่ยมอ่อง แล้วเรียนรู้เทคโนโลยีที่จำกัดดังกล่าว นำมาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาให้หุ่นยนต์ตัวนี้ ก้าวเข้าสู่สังเวียนได้จริง พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “อะตอม”
จนกระทั่งวันหนึ่ง อะตอมก็มีโอกาสได้เข้าไปสู่สังเวียนเล็กๆ ที่ดูจากหน้าเสื่อแล้ว ไม่มีทางว่าจะชนะได้เลย แต่เด็กน้อยก็มุ่งมั่นบังคับหุ่นยนต์เหล็กร่วมพ่อ จนสามารถเอาชนะได้ตั้งแต่นัดแรก
จากความสำเร็จเล็กๆ ตั้งแต่ครั้งเริ่มต้น นำมาสู่ความพยายามครั้งถัดไป พร้อมกับแปรสภาพให้กลายเป็นความมุ่งมั่นที่จริงจังมากขึ้นของเด็กน้อย โดยแม็กซ์ขอให้ชาร์ลี ซึ่งเป็นอดีตนักมวยเก่าจอมบู๊อยู่แล้ว สอนลีลาท่าทางการชก พร้อมฝึกการบังคับหุ่นยนต์ตัวโปรด ทั้งนี้ เนื่องจากอะตอมมีโปรแกรมพิเศษที่สามารถเลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวของมนุษย์ได้ จึงเป็นเหตุให้หุ่นกระป๋อง สำหรับฝึกซ้อมในสายตาผู้อื่น เริ่มสะสมชัยชนะมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆไปกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก ที่เริ่มมีความผูกพันร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน จนกระทั่งชื่อเสียงของอะตอมเป็นที่ประจักษ์แก่แวดวงสังเวียนหุ่นยนต์เหล็ก และนำไปสู่การได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีเป็นคู่ชกประกอบรายการของการแข่งขันระดับใหญ่ที่สุด คือ WRB (World Robot Boxing)
ก่อนจะขึ้นชกเป็นคู่ประกอบรายการ “ฟาร์ร่า เลมโกว่า” สาวนักธุรกิจชาวรัสเซีย ผู้จัดการหุ่นยนต์แชมป์โลกนามว่า “ซูส” ได้ยื่นข้อเสนอให้แก่สองพ่อลูกว่า จะขอซื้ออะตอมไปเป็นคู่ซ้อมในราคาหลักแสน โดยไม่ต้องขึ้นชกเป็นคู่ประกอบรายการให้เหนื่อย แต่แมกซ์ยืนกรานที่จะไม่รับเงินดังกล่าว
และสุดท้าย อะตอมหุ่นยนต์ไร้อันดับในคู่ประกอบรายการ ก็ได้รับชัยชนะในสังเวียนยักษ์แบบเหนือความคาดหมาย พร้อมๆกับการที่แม็กซ์ขึ้นไปประกาศบนเวทีว่า เขาขอโอกาสท้าชิงแชมป์โลกหุ่นยนต์เหล็กจากซูสในไฟท์ถัดไป
เมื่อคนในวงการต่างจับตาให้ความสนใจ และเอาใจช่วยอะตอม ทำให้เส้นทางการโคจรของหุ่นยนต์ไร้อันดับกับหุ่นยนต์ซูสแชมป์โลก ต้องมาเจอกันในที่สุด ซึ่งโดยสถิติที่ผ่านมา ไม่เคยมีหุ่นยนต์ตัวใด รอดพ้นจากซูสไปได้ในยกแรก
แต่เมื่อสังเวียนการต่อสู้จริงเกิดขึ้น ความพยายามที่ประสานความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างสองพ่อลูก ก็ยืนหยัดต่อสู้กับแชมป์โลกอย่างสมศักดิ์ศรี ชนิดที่หุ่นยนต์ไฮเทคอย่างซูสก็เกือบจะเสียสถิติ แม้ว่าผลสุดท้ายแล้ว ซูสยังเป็นฝ่าย รักษาตำแหน่ง เอาชนะคะแนนไปได้แบบหืดขึ้นคอ แต่เสียงปรบมือของผู้คนนับหมื่นรอบสังเวียน ต่างก็ยกย่องให้อะตอม เป็นผู้ชนะใจผู้ชม
ภาพยนตร์สุดมันส์เรื่องนี้ จบลงที่ความพ่ายแพ้ในการแข่งขัน แต่เอาชนะใจ ผู้ชมและเอาชนะใจตัวเอง คือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของสองพ่อลูกกับหุ่นยนต์เหล็กหนึ่งตัวนั้น หากนำหลักทางพุทธศาสนามาเปรียบ ก็คงมาจากรากฐานสำคัญที่เรียกว่า “อิทธิบาท 4” นั่นเอง
สองพ่อลูก ชาร์ลี-แม็กซ์ เคนตัน ต่างมี “ฉันทะ” พึงพอใจกับภารกิจ หน้าที่ของตน ในการแข่งขันกีฬาหุ่นยนต์เหล็ก ซึ่งเมื่อมีความรักในสิ่งที่ตนกระทำแล้ว จึงนำไปสู่ “วิริยะ” พากเพียรอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฝึกซ้อม แสวงหาเทคโนโลยี และเทคนิคใหม่ๆ ที่จะทำให้งานที่ตนรักนั้นพัฒนาไปเรื่อยๆ
ควบคู่ไปกับ “จิตตะ” ความเอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งความใฝ่ฝันของตนเอง รวมทั้งยังมีสมาธิมุ่งมั่น แน่วแน่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และข้อสุดท้าย คือ “วิมังสา” หรือการสอดส่อง ตรึกตรองในเหตุผลของสิ่งที่กระทำให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะช่วงวัดใจที่สาวรัสเซียนำเงินมายื่นข้อเสนอซื้อหุ่นยนต์ แต่เด็กน้อยมีจิตใจเข้มแข็งชัดเจนในเหตุผลว่า การมีโอกาสที่ได้พิสูจน์ตัวเอง นั่นเป็นความสำเร็จยิ่งกว่าเงินทองหรือชัยชนะใดๆ เสียอีก
The Real Steel จึงเป็นภาพยนตร์ที่สอนข้อคิดเรื่องรากฐานสู่ความสำเร็จกับความพยายามอย่างสุดความสามารถ ซึ่งแม้สุดท้ายจะไม่ได้ชัยชนะในสังเวียน แต่ก็เป็นชัยชนะนอกสังเวียนที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง ซึ่งนับว่ายิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดทั้งปวง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)