xs
xsm
sm
md
lg

ความกลัวทำให้เสื่อม : Real Steel/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ภายใต้ภาพลักษณ์ของความเป็นหนังแอ็กชั่นฟาดฟันระหว่างหุ่นยนต์เหล็ก นี่คือหนังที่สวยงามด้วยเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวความสัมพันธ์พ่อลูกซึ่งทำให้ Real Steel กลายเป็นหนังดราม่าครอบครัวที่ซึ้งตรึงใจและยิ้มทั้งน้ำตาได้อีกเรื่องหนึ่ง

อันที่จริง บอกตามตรงครับว่า ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ผมนึกไปถึงหนังเก่าหลายต่อหลายเรื่อง ทั้ง Rocky, Crazy Heart, The Wrestler ฯลฯ ทั้งนี้ เนื่องมาจากบุคลิกและตัวตนของชาร์ลี เคนตัน เป็นหลัก เพราะมันชวนให้นึกถึงเหล่า Loser หรือพวกขี้แพ้ในหนังที่ผมพูดมาเหล่านั้น เขาเหมือนกับ “ร็อกกี้” (Rocky) และ “แรนดี้ โรบินสัน” (The Wrestler) ที่เคยผงาดบนเวที แต่ดวงกำลังตกและหาทางที่จะกอบกู้ศักดิ์ศรีของตัวเองกลับคืนมา และคล้ายๆ กับ “แบ็ด เบลก” ศิลปินเพลงคันทรี่ใน Crazy Heart ซึ่งมีความรุ่งโรจน์ในวันเก่าๆ เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกนึกถึง แต่ก็พยายามที่จะ “กลับมา” เพื่อหาที่อยู่ที่ยืนให้กับตัวเองอีกครั้ง

จะว่าชอบก็ใช่ ไม่ปฏิเสธ เพราะในด้านหนึ่ง ผมรู้สึกว่า หนังแบบนี้นี่แหละครับ สัจธรรมของชีวิต มีขึ้นก็มีลง และตัวเอกในหนังทุกเรื่องที่อ้างถึง ก็ล้วนแล้วแต่เคยมีช่วงเวลาที่เป็น “ขาขึ้น” ของตัวเองมาทั้งนั้น มันจึงเป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อชีวิตต้องเจอกับ “ขาลง” พวกเขาจะประคับประคองหรือพยุงตัวเองให้ลุกขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่อย่างไร หรือว่าจะ “แพ้แล้วแพ้เลย” กลายเป็นไอ้ขี้แพ้ เมาหยำเป ไปตลอดกาล

ในสายการงาน ชาร์ลี เคนตัน (ฮิวจ์ แจ็คแมน) คือนักชกตกกระป๋องซึ่งเสียพื้นที่ให้กับการต่อสู้แบบใหม่ของพวกหุ่นยนต์เหล็กที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้อดีตนักค้ากำปั้นอย่างเขาต้องก้าวเข้าไปเล่นในเกมนี้ด้วย ด้วยการนำหุ่นยนต์กระจอกๆ มาแข่งขัน ซึ่งการณ์ก็เป็นไปแบบไม่เหนือความคาดหมาย เพราะลงแข่งคราใดก็พ่ายไปเสียทุกครั้ง ชาร์ลีกลายเป็นคนที่หมดลายในสายตาของผู้คน และหมดสิ้นแม้กระทั่งเครดิตในหมู่นักแข่งด้วยกันเอง เพราะพอแพ้ทีไร เขาก็พร้อมจะชิ่งหนีได้ทุกเมื่อเพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าเกมการแข่งขัน

ในด้านชีวิต ชาร์ลี เคนตัน คือพ่อหม้ายที่ทิ้งเมียและลูก อย่างคนที่ปราศจากความรับผิดชอบ และเขาก็คงจะตายไปแบบไอ้ขี้แพ้ที่ทิ้งลูกทิ้งเมียเช่นนั้น ถ้าเพียงแต่วันหนึ่ง บุคคลที่เป็นอดีตไปแล้วสำหรับเขา อย่างลูกชายวัย 11 ขวบ (แม็กซ์) จะไม่โคจรย้อนกลับเข้ามาในชีวิต

ก็อย่างที่หลายคนจะคาดเดาได้นั่นแหละครับว่า ชีวิตของชาร์ลีนั้น เหมือนว่ากำลังรอ “เงื่อนไข” บางอย่างที่จะเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนให้กับเขา ซึ่งตามเนื้อเรื่องก็คือ ลูกชายที่พร้อมจะปั่นป่วนความคิดความเชื่อและพฤติกรรมห่วยๆ ของเขาตลอดเวลา

ผมคิดว่า ศักยภาพของหนังอย่างหนึ่งของหนังที่ปฏิเสธได้ยาก คือ การดีไซน์คาแรกเตอร์ของตัวละครหลักให้มีความขัดแย้งกันสูง และตัวละครเหล่านี้ก็ต้องมาอยู่ร่วมกัน ชาร์ลี เคนตัน นั้นคือพวกขี้แพ้ ออกอาการแหยและขลาดกลัวเสมอเมื่อจะต้องลงทุนลงแรงกับอะไรสักอย่าง ตรงกันข้ามกับลูกชายที่คิดกันคนละขั้ว ตระหนักในศักดิ์ศรี และไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ แต่ขอได้ออกแรงฟัดให้เต็มที่สักตั้ง ก็ภาคภูมิคุ้มค่าเป็นนักหนาแล้ว

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงหุ่นยนต์เหล็กอย่างเจ้า “อะตอม” เอาเข้าจริง ดูจากความจงใจของหนังในหลายๆ ฉากที่ทำราวกับว่ามันมีชีวิตมีความรู้สึกด้วยแล้ว เช่น เต้นรำได้ (แต่ฉากที่ผมรู้สึกว่าน่าขนลุกที่สุดก็คือตอนที่อะตอมวิ่งมาหยุดยืนแล้วมองตรงมุมกำแพง ซึ่งทำให้นึกว่านี่เอ็งมีชีวิตจริงๆ หรือเปล่าครับ?) ก็ยิ่งทำให้คิดว่า เป้าหมายการใช้หุ่นยนต์เหล็ก อาจไม่ใช่เพียงแค่ตัวเสริมทัพในด้านแอ็กชั่นเพียงอย่างเดียว หากยังเกาะเกี่ยวเป็นภาพสะท้อนว่า ขณะที่สิ่งมีชีวิตอย่างชาร์ลี เคนตัน ดูจะไร้หัวจิตหัวใจซะเหลือเกิน แต่สิ่งที่ไร้วิญญาณอย่างหุ่นยนต์ กลับดูเหมือนว่าจะสะท้อนภาพของความเป็นคนที่มีความรู้สึกรู้สาได้ดีกว่า

กับความเป็นหนังแอ็กชั่นการต่อสู้ ผมเชื่อว่าทุกๆ คนคงเอนจอยตามสมควรกับงานของผู้กำกับชอว์น เลวี่ เรื่องนี้ แม้พูดกันอย่างถึงที่สุด เราจะเคยได้เห็นหุ่นยนต์เป็นกองทัพฟาดปากกันมันระห่ำมาแล้วในหนังของไมเคิล เบย์ อย่าง Transformer แต่ฉากที่ Underdog หรือ “มวยรอง” อย่างเจ้าอะตอมต้องขึ้นประหมัดกับหุ่นยนต์ตัวเทพ ถือเป็นฉากปิดท้ายที่มันได้ใจไม่น้อยไปกว่าตอนที่ร็อกกี้ (ภาค 1) ขึ้นดวลกำปั้นกับอพอลโล ครีท หรือตอนที่แรนดี้ขึ้นเวทีไปเป็นกระสอบทรายให้ฝ่ายตรงข้ามตะบันทุบราวกับลูกกระท้อนในตอนท้ายของ The Wrestler

แต่ถ้าถามว่าชอบอะไร เชื่อครับว่า ร้อยทั้งร้อยจะชอบเด็กน้อยในเรื่องอย่าง “แม็กซ์” เด็กชายใจเด็ด นี่ถือเป็นบทแจ้งเกิดอย่างสมบูรณ์แบบ ของ “ดาโกต้า โกโย” เขาสามารถทำให้คนดูยิ้มทั้งน้ำตาได้ในหลายฉากหลายซีน

Real Steel เป็นหนังที่สมควรได้รับความรักความชอบโดยแท้จริงครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว เนื้อหา หรือแม้แต่บรรยากาศฉากหลังของเรื่องที่เป็นเขตชนบท ในหลายๆ ฉาก ดูแล้วให้ความรื่นรมย์สบายตาและรู้สึก “เป็นชีวิตจริงๆ”

ผมชอบเพลงประกอบอย่าง All My Days ที่เปิดตอนต้นเรื่อง เพราะรู้สึกว่า นอกจากเพลงจะเพราะ เนื้อหาของเพลงยังเจาะลึกเข้าไปสู่แกนกลางใจความสำคัญของตัวละครอย่างชาร์ลี เคนตัน ได้เป็นอย่างดี

ชาร์ลี เคนตัน นั้นเหมือนกับคนที่เดินทางมาเกินครึ่งชีวิต แต่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่ภาพความรุ่งโรจน์ในวันเก่าๆ ติดไว้ข้างฝา กระนั้นก็ดี เขาก็ยังคงแสวงหาไม่หยุดหย่อน จุดอ่อนที่รอการกำจัดประการหนึ่งในตัวตนของชาร์ลี นอกจากการเป็นพวกขี้แพ้ ก็คือความเห็นแก่ตัว และมีความกลัวเป็นเจ้าเรือน ความพ่ายแพ้ล้มเหลวในชีวิตทำให้เขากลายเป็นคนขลาดกลัวไปเสียทุกเรื่อง กลัวที่จะต้องสู้ กลัวที่จะต้องแบกรับภาระที่ควรแบก เหมือนกับตอนที่เขารู้ตัวว่าต้องรับลูกมาเลี้ยง เขาก็รีบบ่ายเบี่ยงทันที

และเขากลัวแม้กระทั่งความรัก...ฉากหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังสื่อได้ดีมากๆ คือ ตอนที่ชาร์ลีต้องช่วยเหลือแม็กซ์จากสถานการณ์บางอย่างแล้วร่างของลูกชายล้มมาอยู่ในอก ชาร์ลีรู้สึกเหมือนจะช็อกไปครู่หนึ่งก่อนจะผลักลูกออกจากอก แน่นอน อาการเอ๋อชั่วขณะของเขาก็คือความไม่มั่นใจในความรู้สึกของตัวเอง และพอผลักลูกออกไปแล้ว เขาก็สามารถพูดกับตัวเองได้อีกครั้งว่า สิ่งที่เขาทำลงไป มันไม่ใช่เพราะความรักความห่วงใยในตัวลูกชายหรอก พูดง่ายๆ เขากลัวตัวเองจะมีความรู้สึก “รัก” ลูกที่ตัวเองไม่อยากรับเลี้ยงตั้งแต่แรก

ความกลัวทำให้ชีวิตของชาร์ลีไปไม่พ้นความเสื่อม เขากลัวที่จะต้องเสี่ยงและลงทุนกับบางสิ่งบางอย่าง แม้ลูกชายจะพยายามปลุกปล้ำกำลังแรงใจให้ฮึดสู้อย่างมีศักดิ์ศรีครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คนขี้แพ้และขี้กลัวอย่างเขาก็ดูเหมือนจะตรัสรู้ไม่ได้ซะที

คุณค่าของความกลัว ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ เพราะบางทีมันก็ทำให้เราระแวดระวังมากขึ้นและช่วยลดอัตราเสี่ยงได้ แต่ถ้ากลัวโน่นกลัวนี่มากไป ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องดี

พอจะสู้ก็กลัวแพ้ จะเดินทางแบบแบ็กแพ็คเกอร์ก็กลัวลำบาก จะลาออกจากงานไปเริ่มอะไรใหม่ๆ ก็กลัวไม่รอด จะจีบหญิงก็กลัวหญิงไม่รัก จะทำอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมายก็กลัวพี่ชายจะด่า ฯลฯ สุดท้าย ก็อยู่กับความกลัว

ชีวิตที่อยู่กับความกลัว อาจพูดไม่ได้เต็มปากว่าเป็นชีวิตที่เสื่อมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ มันน่าจะเป็นชีวิตที่ไม่ได้ทำอะไรเลย...






กำลังโหลดความคิดเห็น