xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ยา ใช้อย่างไร ให้ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่ายาจะสามารถใช้รักษาให้หายป่วยและทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้เสมอก็คือ ยาทุกชนิดล้วนแล้วแต่มีอันตรายเช่นเดียวกับที่มีคุณประโยชน์ ดังนั้น ก่อนใช้ยาควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนใช้ทุกครั้ง

อันตรายจากการใช้ยานั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากฤทธิ์ของยา ซึ่งอาจเริ่มจากอาการที่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ จนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น การทำลายตับ หรือการหายใจไม่ออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดได้จากปฏิกิริยาระหว่างยา 2 ชนิดขึ้นไป หรือปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริม (เช่น วิตามิน หรือสมุนไพร) ที่ทานระหว่างการใช้ยา โดยอาจส่งผลให้ยาบางชนิดมีประสิทธิภาพลดลง หรือออกฤทธิ์รุนแรงเกินไป หรืออาจเกิด สารเคมีตัวใหม่ที่มีอันตรายสูง

ดังนั้น เราจึงควรรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงและได้รับประโยชน์จากการใช้ยาอย่างสูงสุดมี 5 ประการ ได้แก่

1. คุยกับแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านเองให้มากที่สุด เช่น

• ท่านมีประวัติการแพ้ยาอะไรหรือไม่

• รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆอยู่หรือไม่

• ข้อจำกัดบางประการในการใช้ยา (เช่น มีปัญหาการกลืนยา หรือต้องทำงาน กับเครื่องจักรอันตราย ไม่สามารถทานยา ที่ทำให้ง่วงได้)

• อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร(กรณีของผู้หญิง)

• นอกจากนั้น หากท่านมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรสอบถามให้ละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างผิดๆ

2. ทำความรู้จักยาที่ใช้ให้มากที่สุด เช่น

• ชื่อสามัญทางยา เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน และได้รับยาเกินขนาด

• ชื่อทางการค้าของยา

• ลักษณะทางกายภาพของยา เช่น สี กลิ่น รูปร่าง เป็นต้น เมื่อสภาพของยาเปลี่ยนแปลงไป เช่น สีเปลี่ยนไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

• ข้อกำหนดการใช้ยา เช่น รับประทานเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไร อย่างไร และควรรับประทานนานแค่ไหน

• ภายใต้สถานการณ์ใด ควรหยุดใช้ยาทันที

• ผลข้างเคียงของยาหรือปฏิกิริยาของยา

3. อ่านฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

• ควรทำความเข้าใจการใช้ยาให้ถูกต้อง หากไม่เข้าใจประการใดควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญ

 • อ่านฉลากยาอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่ารับประทานยาถูกต้อง

• เก็บยาในที่ที่เหมาะสมตามที่ระบุบนฉลาก

• ห้ามเก็บยาต่างชนิดกันในภาชนะเดียวกัน และไม่ควรเก็บยาสำหรับใช้ภายในและสำหรับใช้ภายนอกไว้ใกล้เคียงกัน

4. หลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างกันของยา

• ถามแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญว่า ยาที่คุณรับประทานมีปฏิกิริยาระหว่างยา อาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริมหรือไม่

• ทุกครั้งที่จะได้รับยามาใหม่ ควรนำยาเดิมที่รับประทานอยู่ ไปแสดงให้แพทย์หรือเภสัชกร ได้ตรวจสอบและจัดยาใหม่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และได้ยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

5. ตรวจสอบผลของยาที่จะเกิดขึ้นและอาการข้างเคียงจากการใช้ยา

• ควรทราบวิธีการใช้ยา เพื่อลดอาการข้างเคียง เช่น ควรทานยา
หลังรับประทานอาหารทันที เพื่อลดอาการปวดท้อง

• ให้ความสำคัญกับอาการต่างๆของร่างกาย หากมีสิ่งใดผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์

รู้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา

แม้ว่าการใช้ยามีอันตรายควบคู่ไปกับคุณประโยชน์ แต่การปฏิบัติตนเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาสามารถทำได้ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะปฏิบัติได้ แต่ประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง และควรระลึกไว้เสมอว่า การที่ท่านมีส่วนร่วมกับแพทย์ เภสัชกรและผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับการใช้ยาของท่านเองอย่างใกล้ชิด จะทำให้ท่านมีความปลอดภัยในการใช้ยามากยิ่งขึ้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

กำลังโหลดความคิดเห็น