xs
xsm
sm
md
lg

ข้อคิดพินิจธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องการละ ต้องหมั่นเจริญ

ต้องการละความพยาบาท หรือความคิดปองร้าย ต้องหมั่นเจริญเมตตา หรือไมตรีจิต คิดให้ผู้อื่นมีความสุข

ต้องการละความคิดเบียดเบียนผู้อื่น ต้องหมั่นเจริญกรุณา หรือเอ็นดู คือช่วยเหลือผู้อื่นพ้นทุกข์

ต้องการละความอิจฉาริษยา ต้องหมั่นเจริญมุทิตา หรือพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

ต้องการละความขัดใจ ต้องหมั่นเจริญอุเบกขา หรือการวางใจเป็นกลาง

ต้องการละความกำหนัดยินดี ต้องหมั่นเจริญอสุภะ หรือเห็นความไม่งามเบื้องหลังความงาม

ต้องการละความถือตัวถือตน ต้องหมั่นเจริญกฎการเปลี่ยนแปลงให้เข้าใจ


หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่

จิตเกษมเป็นจิตชั้นสูงสุดยอด คือ จิตเป็นมงคลสูงสุด แต่เราควรมาดูจิตคนเราธรรมดาเสียก่อน ซึ่งเป็นจิตที่ตกอยู่ในวงล้อมของภัยอันตราย พอเราเกิดมาก็มีภัยคอยดักอยู่แล้ว ข้างหลังคือชาติภัย ขนาบข้างคือชราภัย พยาธิภัย และอยู่ข้างหน้าคือมรณภัย แน่นอน

จิตของคนเราธรรมดานั้น ย่อมมีภัยคุกคามอยู่โดยรอบด้าน มีทั้งภัยภายนอก และภัยภายใน ดูเถอะ ภัยภายนอกเช่น ราชภัย ภัยเกิดแต่การทำผิดพระราชกำหนดกฎหมาย โจรภัย ภัยเกิดแต่การถูกโจรลักจี้ปล้น อัคคีภัย ภัยเกิดแต่ถูกไฟไหม้เผาผลาญ อุทกภัย ภัยเกิดแต่น้ำท่วม วาตภัย ภัยเกิดแต่ลมร้าย

ส่วนภัยภายใน ได้แก่ กิเลสภัย ภัยคือกิเลส จิตถูกกิเลสภัยเข้าครอบครอง ล่อให้จิตเผลอไผลไปทำบาปกรรม เกิดเป็นเคราะห์ร้ายซ้ำเติมเข้าไปอีก เป็นอันว่าจิตของคนเราธรรมดานี้ ตกอยู่ในวงล้อมของภัย ทั้งภัยภายนอกและภายในอย่างหนาแน่น


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)
วัดพระศรีมหาธาตุฯ กทม.

จิตกินอาหารอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน คือนึกคิดก็ให้นึกคิดไปในทางที่ดี ก็เรียกว่ากินอาหารดี

ถ้านึกคิดไปในทางเบียดเบียนตนและผู้อื่น ออกจากธรรมของพระบรมศาสดาแล้ว ก็เรียกว่าจิตกินอาหารไม่ดี พบอะไรก็คว้า ใส่ปากเจอก้าง จิตเป็นของนึกคิดแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่เอามาดื่มมากิน มาฉันมาทาน


หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี จ.มุกดาหาร

ธรรมะในใจอยู่ใกล้แค่เอื้อม ถ้าเราไปอ่านเรื่องธรรมะในคัมภีร์ ก็ดูเหมือนกับว่าธรรมะนี้อยู่ไกลสุดเอื้อม แต่เมื่อเราจะมาศึกษาและเรียนรู้ธรรมะในตัวของเรา

เราจะรู้สึกว่าธรรมะที่จะต้องเรียนรู้และจำเป็นต้องรู้ ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือเรื่องของกายกับใจของเรานั่นเอง

กายกับใจเป็นที่เกิดของความสุขและทุกข์ ความดีและความชั่วเกิดที่กายกับใจ บุญและบาปเกิดที่กายกับใจ

มรรค ผล นิพพาน ความดีเกิดที่กายกับใจ


หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

การที่จะพูดจาอะไรจะต้องนึกคิดพิจารณาเสียก่อน ใช้สติสัมปชัญญะไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ว่าสมควรหรือไม่ อย่างนี้เป็นการดี

จะทำอะไร อย่าให้ขาดสติสัมปชัญญะ อย่าทำอะไรเหมือนคนตาบอด อย่าให้เข้าทำนองที่กล่าวว่า

“คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก” คือ คิดอะไรก็ไหลออกปากทันที จะไม่ดี

ส่วน “คนฉลาดเขาเอาปากไว้ที่ใจ” คือ เวลาเขาจะพูด เขาจะคิดไตร่ตรอง ย้อนแล้วย้อนอีกว่าจะมีผลดี ผลเสีย และมีผลกระทบทั้งส่วนตนเองและคนรอบข้างอย่างไรหรือไม่? ซึ่งเขาจะกลั่นกรองเสียก่อนจึงพูดออกมา

อันนี้ให้จำใส่ใจเอาไว้ นี้คือ “อัตตัญญุตา” คือการรู้จักวางตนหรือทำตนอย่างไร


พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)
วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น