ศิลปินผู้สร้างสรรค์ทังก้า มีพลังศรัทธาอย่างแน่วแน่ที่จะรังสรรค์ภาพทางพุทธศาสนาแบบทิเบตจากรุ่นสู่รุ่น ถ่ายทอดจากบรรดาครูอาจารย์ไปยังเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจ นับเป็นการสืบทอดมรดกทางพุทธศิลป์ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
ซุย เจีย ค้นพบว่า มันเป็นเรื่องของความหลงใหลและแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ศิลปินผู้มีศรัทธายังคงสร้างสรรค์งานวาดภาพทังก้า
ขณะที่ ยูตัน ค่อยๆจุ่มพู่กันขนาดจิ๋วลงในชามน้ำสะอาด เขาสูดลมหายใจนิ่งขณะระบายสีภาพทังก้าที่อยู่ตรงหน้าอย่างระมัดระวัง
ศิลปะการวาดภาพสีทางพุทธศาสนาของทิเบตนั้น ต้องอาศัยมือที่แม่นยำและใจที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ซึ่งถูกถ่ายทอดสู่กลุ่มศิลปินที่ได้รับการคัดเลือก มานานกว่า 600 ปีแล้ว การจัดวางองค์ประกอบของภาพแต่ละชิ้น ใช้หลักเรขาคณิต และแต่ละส่วน เช่น แขน ขา ตา จมูก หู ของพระพุทธเจ้า รวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ต้องเป็นไปตามตารางมุมและเส้นที่วางเป็นระบบ
ยูตัน ชายหนุ่มวัย 20 ปี เพิ่งเริ่มฝึกเรียนการวาดภาพ ทังก้าเพียง 3 ปี เขาจึงทำได้แค่การลงสีพื้นหลังภาพ ส่วนที่เป็นรายละเอียดประณีต ต้องให้ผู้ฝึกที่มีอาวุโสกว่า โดย ไนอิมา กินโด ครูของเขาเป็นผู้ลงสี
เนื่องจากศิลปะทังก้าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง ดังนั้น สัญลักษณ์และสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงต้องเป็นไปตามแบบแผนอันเคร่งครัดที่ระบุอยู่ในพระคัมภีร์สูตร ซึ่งต้องอาศัยเวลาเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะจดจำรายละเอียดทั้งหมดได้
ยูตันนั่งทำงานเงียบๆในมุมสงบมุมหนึ่งในร้านศิลปะทังก้าที่มีอยู่ดาษดื่นบนถนนบาร์คอร์ ซึ่งเป็นถนนคนเดินอันเลื่องชื่อในนครลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบต ประเทศจีนชายหนุ่มฝันที่จะมีร้านศิลปะทังก้าเป็นของตัวเองในอนาคต และมีคนเข้ามาฝึกงานที่ร้าน เมื่อเปรียบเทียบกับครูของเขาซึ่งเป็นเจ้าของร้าน ที่วาดภาพทังก้ามานานกว่า 35 ปีแล้ว ยูตันจึงยังต้องฝึกหัดอีกนาน
กยัสโต ชายวัย 31 ปี เข้ามาฝึกงานที่ร้านของกินโด นาน 17 ปีแล้ว เขาจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ลงสีส่วนพระเนตรของพระพุทธเจ้า โดยลงไฮไลท์ด้วยผงทองคำ สีที่ใช้ในการวาดภาพทังก้า ต้องเป็นสีน้ำประกอบด้วยแร่ธาตุและสารอินทรีย์ และเติมส่วนผสมของรากไม้และกาว
การลงสีบริเวณพระเนตร เป็นการเก็บรายละเอียดสุดท้าย
“มันเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ภาพดูมีชีวิตจริง จึงห้ามทำผิดพลาดเด็ดขาด” กยัสโตกล่าว
ขนาดของผืนผ้าใบที่ใช้ ต้องมีมาตรฐาน โดยทั่วไปภาพทังก้าขนาดกลาง ขนาด 90 x 63 ซม. ต้องใช้ช่างวาด 3 คน ทำงาน 3 เดือน จึงจะเสร็จสมบูรณ์
โดยทั่วไป ศิลปินทังก้าผู้เชี่ยวชาญ จะคัดเลือกสิ่งต่างๆลงในองค์ประกอบภาพ ไม่ว่าจะเป็นบาตรพระสงฆ์ สัตว์ต่างๆ ฯลฯ ไปจนถึงรูปทรง ขนาด และเหลี่ยมมุมของ ตา จมูก และริมฝีปากของสิ่งที่จะวาด กยัสโตเล่าว่า
“มันเป็นเรื่องการใส่ใจในทุกๆรายละเอียด และศิลปินทังก้าที่ดี จำต้องนึกถึงพระพุทธองค์ทุกๆครั้งที่ตวัดปลาย พู่กันลงบนผืนผ้า เพราะนี่มิใช่เพียงการระบายสี การเป็นช่างวาดภาพทังก้า ต้องมีคุณสมบัติมากมาย”
และที่สำคัญ ต้องมีความแม่นยำด้วย กฎหนึ่งที่ต้องรู้ คือ ความสูงของพระพุทธเจ้าต้องเท่ากับความกว้างของนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์รวมกัน 125 นิ้ว ส่วนพระพักตร์ ต้องมีความสูงเท่ากับความกว้างของนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์รวมกัน 12.5 นิ้ว ดังนั้น ผู้ฝึกหัดจะมีความแม่นยำได้ ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานหลายปี
ยูตัน มาจากเขตโตลิง เดเชน ในนครลาซา และเริ่มจับพู่กันเมื่ออายุ 17 ปี ด้วยเหตุผลที่ศิลปินทังก้าได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูงในทิเบต ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ
“การเป็นศิลปินทังก้า นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินชีวิต และผมจะทำไปตลอดชีวิต” ยูตันพูดด้วยความมั่นใจ เพื่อนของเขาหลายคนเลือกที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือทำงานในโรงงาน หลังเรียนจบมัธยม ศึกษาตอนปลาย
แต่ยูตันได้เลือกเดินเส้นทางที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนัก ศิลปินทังก้าจำต้องได้รับการฝึกสอนที่ถูกต้อง ไม่เพียงแค่ทักษะวิชาช่าง แต่รวมถึงความรู้ด้านพุทธศาสนาด้วย เมื่อเริ่มวาดภาพทังก้าชิ้นใหม่ ศิลปินต้องสวดมนต์ก่อน โดยมักเลือกวันที่เป็นวันมงคลตามปฏิทินทิเบตเพื่อเริ่มทำงาน
ยูตันเริ่มทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า สิ่งแรกที่ต้องทำเป็นประจำคือ สวดมนต์และอ่านพระสูตร เพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน
“ครูสอนให้ผมฟังเสียงพระพุทธองค์ในขณะที่วาดภาพ” ชายหนุ่มกล่าวด้วยความเคารพ หลังจากอ่านพระสูตรเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก็ได้เวลาเริ่มวาดภาพ ภายใต้คำแนะนำของครูหรือผู้ฝึกหัดรุ่นพี่
“สมัยนี้ ศิลปินทังก้าที่อายุน้อย เช่น ยูตัน มักขาดสมาธิ จิตใจวอกแวกได้ง่าย อันมีสาเหตุจากโทรศัพท์มือถือหรือเกมคอมพิวเตอร์” กยัสโตกล่าว “เห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่ค่อยตั้งใจฝึกเหมือนเช่นตอนที่ผมอายุเท่าพวกเขา”
ผู้ฝึกหัดใหม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงราวเดือนละ 800 หยวน (4,000 บาท) ในขณะที่เพื่อนของยูตันหลายคนที่ทำงานในโรงงาน อาจได้รับเงินเดือนมากถึง 3,000 หยวน (15,000 บาท)
“พวกเพื่อนๆมักขอให้ผมเลิกฝึกวาดภาพทังก้า และไปทำงานร่วมกับพวกเขา เพราะผมได้ค่าตอบแทนนิดเดียว แต่ผมบอกพวกเขาเสมอว่า อย่าตีค่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเงินตรา” ยูตันกล่าว “ผมรู้สึกมีความสุขและพอใจเมื่อได้วาดภาพทังก้า มันเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่ผมไม่สามารถอธิบายได้”
ภาพทังก้าที่วาดลงบนผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมอาจขายได้ราคาตั้งแต่ 1,000 หยวน ถึงหลายหมื่นหยวน ขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ
ช่วงฤดูร้อนที่มีผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในนครลาซา ร้านที่ยูตันฝึกงานอยู่มีรายได้ตก วันละ 15,000 - 20,000 หยวนทีเดียว
กยัสโตบอกว่า “ชาวทิเบตซื้อภาพทังก้าเพื่อนำไปสักการะที่บ้าน แต่นักท่องเที่ยวซื้อเพราะมองว่าเป็นงานศิลปะ”
นอกจากนี้ ศิลปะทังก้ายังได้รับการบรรจุเข้าในหลักสูตรการศึกษา เพราะในปี 2004 มหาวิทยาลัยทิเบตได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปะทังก้าเป็นครั้งแรก จำนวน 8 คน และปัจจุบันก็ยังมีการเรียนการสอนอยู่
“มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตครูสอนทังก้าได้ เพราะพวกเขาได้เรียนแต่ทฤษฎี และเวลาเพียง 4 ปีไม่เพียงพอที่จะสร้างทักษะการวาดภาพที่สมบูรณ์ได้ ครูสอนทังก้าตัวจริงอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย” ดันปา รัพตัน ครูสอนทังก้าในมหาวิทยาลัย วัย 70 ปี กล่าว
รัพตัน ซึ่งเริ่มวาดภาพทังก้าเมื่ออายุ 14 ปี เล่าว่า ยิ่งเริ่มต้นฝึกตอนอายุน้อยเท่าไหร่ ยิ่งเรียนรู้ได้ดี และหลายปีที่ผ่านมา ระบบการสอนได้ถูกพัฒนามาตลอด
“เมื่อครั้งที่ผมเริ่มฝึก ผมจะถูกตีถ้าไม่สนใจเรียน แต่สมัยนี้ คุณทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ผู้เรียนสมัยนี้ไม่ค่อยมีสมาธิ และชอบใช้ชีวิตสบายๆมากกว่าที่จะทำงานหนัก ซึ่งไม่เหมือนในยุคปี 80 ที่ผู้เรียนได้ลิ้มรสความยากลำบากอย่างแท้จริง”
รัพตันยังเป็นผู้ประพันธ์หนังสือ “Tibetan Painting” (การวาดภาพแบบทิเบต) และเป็นเจ้าของร้านวาดภาพทังก้า ซึ่งมีผู้ฝึกหัดอายุตั้งแต่ 12-28 ปี
เขาได้สอนผู้คนมากกว่า 100 คนแล้ว แต่กลับรู้สึกว่า มีไม่ถึง 50 คนที่สมควรเรียกว่า “สำเร็จการศึกษา” ซึ่งในจำนวนนั้น มีไม่ถึง 20 คนที่ “ดีเด่น”
การสอบครั้งสุดท้ายที่ลูกศิษย์แต่ละคนของรัพตันต้องทำคือ วาดภาพทังก้า 1 ผืนให้เสร็จด้วยตัวเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน
เขาเก็บรวบรวมภาพถ่ายทังก้าที่มีความพิถีพิถัน ละเอียดลออ ตรงกับความต้องการของเขาไว้ และคืนตัวจริงให้เจ้าของที่เป็นผู้เรียน โดยถือเป็นของขวัญจากครู
“ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียน เปรียบเหมือนหมอและคนไข้ บรรดานักเรียนก็เปรียบเหมือนภาชนะ ที่ผมอยากเทชาเนยลงไป ตราบเท่าที่มันไม่รั่วหรือเป็นคราบสกปรก” รัพตันพูด
เมื่อเร็วๆนี้ รัพตันยังได้แหวกม่านประเพณีดั้งเดิม ด้วยการรับผู้ฝึกทังก้าที่เป็นผู้หญิงคนแรก อาจเรียกได้ว่า เธอเป็นผู้หญิงคนแรกของทิเบตก็ว่าได้ เพราะประเพณีทิเบตนั้น ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นศิลปินทังก้า แต่รัพตันเชื่อว่า สมัยนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว
“ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงและผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าการวาดภาพทังก้าเป็นศิลปะดั้งเดิม แต่จำเป็นต้องก้าวเดินให้ทันโลกสมัยใหม่เช่นกัน”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย บุญสิตา)