xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พม่า : เตรียมฉลองเจดีย์ชเวดากองครบ 2,600 ปี
เขมรขุดพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่สุดในรอบ 80 ปี

• กัมพูชา : เมื่อเร็วๆนี้ นักโบราณคดีได้ขุดพบพระพุทธรูปสมัยนครวัดในบริเวณนครวัด โดยระบุว่า เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดพบในรอบ 80 ปี

ลี วันนา ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุแห่งสำนักงานอัปสรา ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลนครวัด กล่าวว่า ได้ขุดพบพระพุทธรูปหินไร้เศียร 2 องค์ที่ปราสาทตาพรหม องค์ที่มีขนาดใหญ่นั้นหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์จะสูงราว 3 เมตร เชื่อว่าสร้างขึ้นในศตวรรษ ที่ 12 ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยขุดพบตั้งแต่ช่วงปี 1930 เป็นต้นมา

เซาเรย์ เรย์ เลขานุการเอกสถานทุตอินเดียในกัมพูชา กล่าวว่า คนงานในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์นครวัดของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งใช้เวลา 10 ปี และใช้งบประมาณ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เข้าขุดสำรวจและพบพระพุทธรูปดังกล่าว ทั้งนี้ การฟื้นฟูนครวัด เกิดขึ้นหลังจากไม่ได้รับการดูแลมานานหลายสิบปี อันเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองในกัมพูชา

“พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ขุดพบอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ส่วนพระเศียรซึ่งมีนาคปรกและฐานพระพุทธรูปขาดหายไป”

ฟิลิปเป เดอแลงเฌอ ผู้เชี่ยวชาญโครงการวัฒนธรรมแห่งองค์การยูเนสโก ยืนยันว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามเข้าไปตรวจสอบการขุดพบดังกล่าวแล้ว

(จาก Associated Press)

พม่าเตรียมฉลองเจดีย์ชเวดากองครบ 2,600 ปี

• พม่า : เมื่อเดือนตุลาคม 2011 หนังสือพิมพ์รายวันนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานว่า พม่ากำลังเตรียมจัดศาสนพิธีอันยิ่งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 2,600 ปี แห่งมหาเจดีย์ชเวดากอง

การบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ จะมีขึ้นตามปฏิทินทางจันทรคติของพม่า ซึ่งตกราวเดือนมีนาคม 2012 ภายใต้การดูแลของนครย่างกุ้ง

นอกจากนี้ จะสร้างหอสวดมนต์ และแท่นบูชาขึ้นใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ ติดตั้งลิฟต์ในพิพิธภัณฑ์ ห้องเก็บรวบรวมพระคัมภีร์และเอกสารสำคัญขององค์เจดีย์ สร้างบันไดแยกต่างหาก ผ่านสวนซึ่งอยู่รายล้อม ไปยังพิพิธภัณฑ์พุทธประวัติ ที่ซึ่งจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

ในงานพิธีดังกล่าว จะมีการประดับประดาด้วยโคมไฟหลากสี ดอกไม้บาน 84,000 ดอก และสร้างประตูกำแพงขนาดใหญ่ขึ้น 2 แห่ง เพื่อขึ้นสู่องค์เจดีย์

อนึ่ง มหาเจดีย์ชเวดากอง ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศพม่าที่มีชื่อเสียง ไปทั่วโลก เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าโอกาละปะ เมื่อ 588 ปี ก่อนคริสตกาล โดยตลอด 2,600 ปีที่ผ่านมา มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในหลายยุคหลายราชวงค์ ทำให้ความสูงขององค์เจดีย์เพิ่มขึ้นจาก 20 เมตร เป็น 99 เมตรในปัจจุบัน

(จาก Xinhua)

เนปาลประกาศให้ปี 2012 เป็น "ปีท่องเที่ยวลุมพินีวัน"

• เนปาล : เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลเนปาลตัดสินใจประกาศให้ปี 2012 เป็น “ปีท่องเที่ยวลุมพินีวัน” เพื่อส่งเสริมให้ลุมพินีวันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ต่อเนื่องจากปี 2011 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวเนปาล

ลุมพินีวัน มีความหมายว่า “น่ารักใคร่” เป็นสถานที่ประสูติแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ราว 300 กม. และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

ในการนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักเลขาธิการแห่งชาติขึ้น เพื่อดูแลโครงการ โดยมีนายกรัฐมนตรี บาบูราม ภัตตาไร เป็นประธาน

นายโกปาล กิราติ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการนี้ว่า รัฐบาลได้จัดโครงการรณรงค์ให้ลุมพินีวันเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก และเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยว

“รัฐบาลมีแผนการที่จะนำนักท่องเที่ยวราว 1 ล้านคนให้เข้ามาเที่ยวลุมพินีวันในปี 2012” รัฐมนตรีกล่าว และเสริมว่า ลุมพินีวันเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาทั้งในประเทศและรอบๆประเทศเพื่อนบ้าน และทั้งโลก

นายราเจนดรา ธาปา เมการ์ เจ้าหน้าที่สำนักฯเผยว่า ชุมชนการค้ารอบๆเมืองลุมพินีวันต่างตื่นเต้นกับข่าวนี้ อีกทั้งข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ในปี 2010 มีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศราว 600,000 คนเข้ามาท่องเที่ยวลุมพินีวัน “เราได้ตั้งสโลแกนสำหรับ นักท่องเที่ยวในประเทศว่า “ไปเที่ยวลุมพินีวันกันสักครั้ง”

เขาระบุว่า นักท่องเที่ยวจากจีน ศรีลังกา ไทย และเกาหลีใต้ คือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณลุมพินีวันเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กำลังจะมาเยือน

โดยรัฐบาลเนปาลได้แต่งตั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับสากล อาทิ ซุปเปอร์สตาร์จากฮอลลีวูดและจีน บรรดาผู้นำของศรีลังกา และศิลปินดังจากบอลลีวูด เป็นทูตสันถวไมตรีในปีท่องเที่ยวลุมพินีวัน 2012 ด้วย

(จาก Xinhua)

กษัตริย์และราชินีภูฏาน ทรงแกะสลักพระพุทธรูปที่ญี่ปุ่น

• ญี่ปุ่น : เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2011 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานทรงเข้าเยี่ยมชมแกลอรี ศิลปะและหัตถศิลป์โบราณเกียวโต ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโตของญี่ปุ่น ในระหว่างเสด็จเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่าง วันที่ 15-20 พ.ย. 2011

ในการนี้ ทั้งสองพระองค์ทรงร่วมแกะสลักพระพุทธรูปที่ทำจากไม้สนจาก เมืองริคุเซนทากาตะ ในจังหวัดอิวาเตะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อเดือนมีนาคม 2011

ปัจจุบัน มีคนราว 3,000 คน ได้เข้าร่วมการแกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว

(จาก Kyodo)

ก่อตั้ง "สมาพันธ์พุทธศาสนาสากล" ในอินเดีย

• อินเดีย : การประชุมพุทธศาสนาโลกประจำปี 2011 ซึ่งจัดโดยสมาคมอโศก (Asoka Mission) ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2011 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้มีปฏิญญาร่วมกันให้มีการก่อตั้งสมาพันธ์พุทธศาสนาสากลอีกแห่งหนึ่ง เพื่อสนับสนุนความพยายามของชาวโลกที่จะสืบสานพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์พุทธศาสนโบราณวัตถุในอินเดียและเนปาล ให้คงอยู่ต่อไป

ปฏิญญาดังกล่าวมีเนื้อหาว่า ให้จัดตั้งหน่วยงานพุทธศาสนาสากลแห่งใหม่ขึ้น มีชื่อว่า “International Buddhist Confederation” (IBC) หรือ “สมาพันธ์พุทธศาสนาสากล” เพื่อใช้เป็นเวทีให้พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ได้นำเสนอวิถีพุทธ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

โดยสมาพันธ์ฯดังกล่าวจะดำเนินงานภายใต้แนวคิดหลักของการใช้ปัญญาโดยรวม เสียงเรียกร้องที่เป็นเอกภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคม และจะไม่ทำงานแข่งกับองค์กรพุทธศาสนาอื่นๆที่มีอยู่ในขณะนี้

จัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 40 คน เพื่อเตรียมร่างธรรมนูญของสมาพันธ์ฯ และจัดการประชุมทั่วไปครั้งแรก เพื่อขอมติรับรองร่างธรรมนูญดังกล่าว

สมาพันธ์ฯ จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน อนุรักษ์ และส่งเสริมมรดกทางพุทธศาสนาตามที่ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดียและเนปาล

สมาพันธ์ฯจะจัดหาแหล่งข้อมูลความรู้ทางพุทธศาสนาทั่วไป เพื่อใช้ในการอ้างอิง การทำวิจัย การเรียนการสอน และใช้อธิบายเหตุและผล ทั้งยังให้ความสำคัญในการพัฒนาและฝึกสอนชุมชนพุทธในอินเดียอีกด้วย

สมาพันธ์ฯจะนำเสนอเสียงชาวพุทธที่เป็นเอกภาพ จัดการประชุมส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างวิถีพุทธและโรงเรียนที่แตกต่างกัน รวมถึงสนับสนุนให้มีการสร้างสันติภาพและหาหนทางแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง

โดย พระติช กวง บา ลามะชั้นสูงจากออสเตรเลีย เป็นผู้อ่านปฏิญญาดังกล่าวต่อหน้ามหาชน ซึ่งมีผู้แทนกว่า 900 คน จาก 46 ประเทศ เข้าร่วมในพิธีฉลองปิดการประชุม

(จาก IANS)

เวียดนามขุดพบเสาหิน สมัยศตวรรษที่ 11

• เวียดนาม : เมื่อเดือนพฤจิกายน 2011 ได้มีการขุดพบส่วนฐานของเสาหินในสมัยศตวรรษที่ 11 ที่ตั้งอยู่ภายในวัดเดิ่ม ในจังหวัดบั๊กนิญ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 30 กม. เผยให้เห็นลวดลายสลับซับซ้อน อันเป็นพุทธสถาปัตยกรรมในยุคนั้น

วัดเดิ่ม ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเทือกเขาเลิมเซิน เริ่มสร้างในปี 1086 ในสมัยพระเจ้าลี่นันต่ง แล้วเสร็จในปี 1094 ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างพุทธสถาปัตยกรรมชั้นนำทางตอนเหนือในช่วงสมัยราชวงค์ตรัน (1225-1400) และราชวงค์เล (1428-1788) ในสมัยราชวงค์ ตรัน ภายในวัดมีตึก 12 หลัง ต่อมาในสมัยราชวงค์เล ได้ขยายเพิ่มมากกว่า 100 ห้อง

เล ดิ่ญ ฟุง นักสำรวจผู้ทำการขุดค้นบอกว่า ฐานมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 8.4 X 8.4 เมตร ส่วนเสาหินที่หายไป คาดว่ามีขนาด 1.56 เมตร ตกแต่งด้วยลวด ลายที่เป็นลูกคลื่น และอาจมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านบนสุด

นอกจากนี้ นักโบราณคดียังขุดพบเศษวัสดุก่อสร้างในสมัยราชวงค์ลี่, ตรัน และเล และสรุปว่า วัดเดิ่มสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันซับซ้อน มี 4 ชั้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,500 ตารางเมตรไปตามแนวลาดของเทือกเขาเลิมเซิน

“นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่ยังคงสภาพเดิมจากสมัยราชวงค์ลี่” ถ่อง ตรุง ถิ่น ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีแห่งเวียดนาม กล่าว

ลู ตรัน ติ่ว ประธานสภามรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การขุดค้นครั้ง นี้ เผยให้เห็นคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดเดิ่ม ที่นอกเหนือไปจากเสาหิน เขาได้เสนอให้มีการขุดค้นบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อจะได้เข้าใจสถาปัตยกรรมสมัย ราชวงค์ลี่มากยิ่งขึ้น

(จาก VNS)

พิพิธภัณฑ์ศาสนาโลกจัดนิทรรศการ "ปรัชญาอวตัมสกะ-พุทธศิลป์ จากพิพิธภัณฑ์นครปักกิ่ง"

• ไต้หวัน : เป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ศาสนาโลกและพิพิธภัณฑ์นครปักกิ่ง ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า “Avatamsaka World of Wisdom-Buddhist Art from Beijing Capital Musuem” หรือ “ปรัชญาอวตัมสกะ-พุทธศิลป์จากพิพิธภัณฑ์นครปักกิ่ง” ขึ้นระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2011 ถึง 19 กุมภาพันธ์ 2012 ณ พิพิธภัณฑ์ศาสนาโลก กรุงไทเป ไต้หวัน

โดยมีการจัดแสดงพุทธศิลป์ 102 ชิ้น ที่เป็นตัวแทนของพุทธศาสนาแบบจีนและทิเบต มีทั้งพระพุทธรูป งานเย็บปักถักร้อย ภาพวาด และภาพทังก้า ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธศิลป์ในประเทศจีน

อวตัมสกะ หรือหัวเหยียน เป็นหนึ่งในนิกายสำคัญ ของพุทธศาสนาแบบมหายานที่แพร่หลายในจีน

(จาก Xinhua)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย เภตรา)
เนปาล : ประกาศให้ปี 2012 เป็น ปีท่องเที่ยวลุมพินีวัน
ญี่ปุ่น : กษัตริย์และราชินีภูฏาน ทรงแกะสลักพระพุทธรูปที่ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น : กษัตริย์และราชินีภูฏาน ทรงแกะสลักพระพุทธรูปที่ญี่ปุ่น
อินเดีย : ก่อตั้ง สมาพันธ์ พุทธศาสนาสากล ในอินเดีย
เวียดนาม : ขุดพบเสาหิน สมัยศตวรรษที่ 11
ไต้หวัน : จัดนิทรรศการ ปรัชญาอวตัมสกะ-พุทธศิลป์ จากพิพิธภัณฑ์นครปักกิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น